โพธิ์-ไม้ประดับที่ศักดิ์สิทธิ์
ต้นโพธิ์
สำหรับคนไทยอาจมองต้นโพธิ์เป็นไม้ธรรมดาที่นิยมปลูกในวัด มีผู้นำผ้าแดงผ้าเหลืองไปหุ้มไว้รอบต้นทำให้ดูขลัง และ
กลายเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ไป ต้นโพธิ์เหล่านี้ส่วนมากไม่มีคนปลูก แต่นกมาถ่ายมูลไว้ ต่อมาเมล็ดโพธิ์จึงงอกขึ้นมาภายหลัง
โพธิ์เป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์เดียวกับยางอินเดีย มะเดื่อ ไทรย้อย หม่อน ขนุน และสาเกนั่นเอง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในป่าเชิงเขาหิมาลัยในรัฐปัญจาบ ด้านตะวันตก แผ่ลงมาจากอินเดียทางตะวันตกจนถึงอินโดจีนตะวันออก ซึ่งบริเวณดังกล่าวเราอาจพบต้นโพธิ์เก่าแก่มีเส้นรอบวง 7.6 เมตร ได้ไม่ยากนัก ต่อมามีผู้นำกิ่งและเมล็ดขยายปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนและอบอุ่นทั่วโลก โดยนิยมปลูกกันตามวัดวาอาราม ตามสวนสาธารณะ และบางแห่งปลูกกันตามริมถนน เช่น ในกรุงเตหะราน นครหลวงของอิหร่าน ในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ผู้เขียนเห็นต้นโพธิ์ได้รับการทำนุบำรุงเอาใจใส่เป็นอย่างดี นอกจากนั้น โปรเฟสเซอร์ กาลิล แห่งภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ยังเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงผลงานวิจัยมากมายที่ท่านทำในเรื่องโพธิ์และมะเดื่อต่างๆ ตลอดจนเอื้อเฟื้อเอกสารมากมายหลายฉบับ ในเนปาลตอนเหนือและตะวันออกผู้เขียนเห็นชาวบ้านทั้งชายและหญิงแบกเอาฟ่อนใบและยอดต้นโพธิ์ลงมาเป็นจำนวนมหาศาลจากยอดเขาสูงหนาวเย็น เพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงช้าง วัว ควาย และแพะที่มีกันดกดื่น ชาวมุสลิมในอินเดีย และบางตอนในปากีสถานตัดกิ่งโพธิ์มาเป็นอาหารแก่อูฐเช่นกัน ในอินเดียตอนใต้ใช้กิ่งโพธิ์ปักชำกันห่างๆ เพื่อเป็นไม้บังร่มแก่กาแฟในระยะแรก และเขานิยมใช้ระยะปลูกห่างกันถึง 12 เมตรทีเดียว นอกจากในประเทศที่ได้กล่าวนามไปแล้ว ยังมีรายงานว่า ในฮาวาย ไมอามี และฟลอริดาก็มีการปลูกโพธิ์เป็นไม้ประดับกันนานมาแล้ว ในลอสแองเจลิส ซานตาบาบารา และริเวอร์ไซด์ แคลิฟอร์เนีย ก็มีการปลูกโพธิ์กันไม่น้อย
ต้นโพธิ์
พระศรีมหาโพธิ์ นับเป็นต้นไม้ซึ่งมีผู้ปลูกและจดบันทึกเอาไว้ ที่ยังคงเหลือรอดมีชีวิตอยู่นานที่สุดในโลก โดยถูกนำมายังศรีลังกาเมื่อ 288 ปีก่อนวันประสูติของพระเยซูในรูปของกิ่ง ซึ่งขยายมาจากต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เมืองอนุรัตชปุระนี้เป็นเมืองของชาวสิงหล ซึ่งนับเป็นเมืองหลวงที่กว้างขวางใหญ่โตแต่ถูกทิ้งมานานนับหลายร้อยปีหลังสงคราม ซึ่งล้างผลาญทำลายวัดวาอารามเสียหายยับเยิน ผู้บุกรุกคือพวกโซลาจากทางใต้ของอินเดีย และผู้ปกป้องชาวสิงหลต่างก็ผลัดกันเข้ายึดสถานที่โบราณ ประกอบไปด้วย สถูป และอ่างเก็บน้ำเก่าแก่อายุ 2,000 ปีแห่งนี้ ถึงจะผ่านมรสุมสงครามมาโชกโชนอย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ยังคงเหลือรอดคงอยู่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุณค่าอย่างยิ่งในศรีลังกาปัจจุบัน
ในประเทศไทยเรามักถือกันว่าโพธิ์เป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญยิ่งในทางศาสนาพุทธตามความเชื่อดั้งเดิมจากอินเดีย ซึ่งถือกันว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ภายใต้ร่มเงาของพระศรีมหาโพธิ์ ด้วยเหตุนี้ ลินเนียส จึงให้คำอธิบายลักษณะของต้นโพธิ์เอาไว้ว่า เป็นต้นไม้ในทางศาสนา (religious tree : Ficus religiosqa) นอกจากนี้ Balfour ในปี ค.ศ.1870 ยังได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง The timber tress of India and of Asia พิมพ์ที่มัทราชด้วยว่า “เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงา แผ่ปกป้องพระพุทธองค์ แม้ในยามเข้าสู่ปรินิพพาน” ซึ่งความเข้าใจในข้อหลังของฝรั่งคนนี้อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเข้าใจของคนไทยเราก็ได้ เพราะคนไทยเราถือว่าต้นรัง คือ ต้นไม้ที่พระพุทธองค์เสด็จเข้าประทับภายใต้ทรงพุ่มและสู่ปรินิพพาน
ต้นโพธิ์
ทีมงานจากสวนพฤกษศาสตร์แห่งเมืองเพราดินียา ร่วมกับผู้ดูแลเฉพาะ ซึ่งสืบทอดหน้าที่กันมานานแล้วเป็นผู้รักษาต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ต้นนี้ ผู้ดูแลจากหมู่บ้านใกล้ๆ กันจะมีหน้าที่ส่งลูกชายซึ่งจะต้องรับหน้าที่ดูแลต้นโพธิ์นี้แทนเมื่อผู้พ่อแก่ชราภาพหรือเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อรักษาประเพณีโบราณมิให้เสื่อมสูญไป แม้แต่เมืองนี้ตกอยู่ภายใต้ความรกร้าง เต็มไปด้วยวัชพืช และไม้ใหญ่น้อยปกคลุม ผู้ดูแลจะก่อกองไฟขึ้นภายในยามค่ำ รายรอบต้นโพธิ์เพื่อขับไล่สัตว์ป่าซึ่งอาจจะมาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้ลงได้ (ศรีลังกา หรือเกาะลังกา แต่เดิมเต็มไปด้วยช้างป่า และช้างป่าที่ศรีลังกานี้ก็แปลก คือ มีผิวหนังสีดำ ผิดกับช้างไทยอย่างเห็นได้ชัด ผู้เขียนเคยเห็นช้างตกน้ำมันวิ่งตะบึงลุยนาข้าว จนเจ้าของช้างแทบลมใส่)
พระสงฆ์หลายรูปจะสวดมนต์รอบต้นโพธิ์และในโบสถ์วิหารที่เรียงรายอยู่โดยรอบ ชาวบ้านนับพันๆ คนจะเดินทางมาในแต่ละสัปดาห์เพื่อสวดมนต์วิงวอนขอให้ได้ลูกผู้สืบตระกูล บางคนก็ขอให้สุขภาพแข็งแรงหายง่อยเปลี้ยเสียขาหรือหายจากโรคพยาธิต่างๆ บางคนก็ขอเพียงให้ตัวเองพบกับความสุขกับเขาบ้าง แม้นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี พวกจาริกแสวงบุญนับล้านๆ คนจะเดินทางมาถึงในคืนพระจันทร์เต็มดวงเดือนมิถุนายนเพื่ออดอาหารเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และนั่งสมาธิอยู่ทั่วบริเวณที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังของวิหารในบริเวณใกล้ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์
พุทธศาสนาในศรีลังกาเริ่มขึ้นเมื่อ 307 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งขณะนั้นปกครองประเทศอินเดียได้โปรดให้พระราชโอรส คือ มหินดา ให้นำพระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเผยแพร่ยังลังกา ซึ่งขณะนั้นกษัตริย์แห่งเกาะลังกา คือ เทวนาม พิยติสสะ เมื่อได้ทรงพบปะกับมหินดาแล้ว ก็ทรงยอมรับในพระพุทธธรรม และเริ่มการเผยแผ่หลักธรรมไปในหมู่ประชาชนชาวสิงหลให้มานับถือศาสนาพุทธและยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ ต่อมาเมื่อ 288 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้พระราชธิดาของพระองค์คือ สิงหมิตตา นำกิ่งต้นโพธิ์มาจากพระพุทธคยา ประเทศอินเดียมายังเกาะลังกา และแม้ว่าต้นศรีมหาโพธิ์ดั้งเดิมในอินเดียจะสูญไปแล้วเป็นเวลาเนิ่นนาน แต่กิ่งต้นโพธิ์ต้นแรกที่นางสิงหมิตตานำมานั้นก็ยังคงอยู่จวบจนทุกวันนี้ โดยขึ้นงอกงามที่เมืองอนุรัตชปุระ ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโคลอมโบราว 5 ชั่วโมง โดยการขับรถไปตามเส้นทางค่อนข้างจะขรุขระ
สาธุ สาธุ พวกผู้หญิงศรีลังกาจะเปล่งเสียงร้องกระหึ่มขึ้น ขณะที่พวกหล่อนจับกลุ่มยืนเรียงรายกันเป็นแถวรอบมูลทรายหยาบสะอาด ซึ่งพูนขึ้นเป็นเนินสูงถึง 20 ฟุต ซึ่งต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นงอกงามอยู่บริเวณนั้นถูกกั้นด้วยรั้วลูกกรงทองเหลือง ภายในเราอาจมองเห็นกิ่งโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ถนัด ด้วยเปลือกลำต้นดูสว่างโพลงดูเด่นชัด ลำต้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ฟุต แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปราว 25 ฟุต นี่เป็นเพียงกิ่งเดียวในโลกของต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธ์ ซึ่งขยายมาจากต้นศรีมหาโพธิ์ดั้งเดิม ยังมีพุ่มของต้นโพธิ์ขนาดย่อมกว่าอีก 36 ต้น และมีต้นโพธิ์ใหญ่กว่าอีกหลายต้นขึ้นรายรอบต้นโพธิ์สำคัญเอาไว้ เพื่อป้องกันลมและปกป้องต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ภายใน และต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ถูกค้ำด้วยเสาเหล็กขนาดใหญ่ทาสีขาวจำนวน 7 เสา ปลายเสาทำเป็นง่ามรองรับกิ่งหรือลำต้นเอาไว้มิให้หักโค่นลงมาได้ นอกจากนี้ ยังมีการทำศัลยกรรมตกแต่งภายในลำต้น โดยดามซีเมนต์ตามส่วนที่อ่อนแอ
ซูเปอร์รินเทนเดนท์ของสวนพฤกษศาสตร์เพราดินียะ เมืองแกรดี คือ คุณบาธิยา สุมิตราราชิ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานศัลยกรรมต้นโพธ์สักดิ์สิทธิ์นี้ให้ข้อสังเกตว่า
“เราอยากปล่อยให้ต้นโพธิ์ต้นนี้อยู่อย่างธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้”
“ต้นไม้ต้นนี้ต้องนับเป็นพันธุ์พืชที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่มีการบันทึกกันมา เนื่องจากมีอายุได้เกือบ 2,500 ปี ทั้งนี้ เพราะศรีลังกาเป็นประเทศในเขตมรสุม แทบจะไม่มีฤดูพักตัว เช่น ฤดูร้อน ฤดูหนาว อย่างเด่นชัด ดังนั้นจึงแทบไม่เห็นวงปี ซึ่งช่วยคะเนอายุของต้นไม้ได้”
|