|
ราว พ.ศ. 500 หรือ 2,000(+) ปีมาแล้ว เริ่มมีรัฐขนาดเล็ก ศาสนาพุทธ-พราหมณ์ พบ"ศาสนาผี"ที่สุวรรณภูมิ
ราว พ.ศ.400-500 พวกจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ขยายการค้าแผ่เข้ามาสุวรรณภูมิทั้งทางบกและทางทะเล ทำให้สุวรรณภูมิกลายเป็นดินแดนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างตะวันตก คือชมพูทวีป กับตะวันออก คือจีนฮั่น เป็นเหตุให้ปริมาณการค้าขายแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น มีผู้คนชนเผ่าชาติพันธุ์อื่นๆ จากที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
นอกจากนั้น ยังมีบางพวกเข้ามาตั้งหลักแหล่งถาวรกลายเป็นคนพื้นเมืองต่อไปจำนวนไม่น้อย ส่งผลให้มีการประสมประสานเผ่าพันธุ์หลากหลาย
ความเคลื่อนไหวทางการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายครั้งสำคัญนี้ ทำให้มีเมืองท่าหรือสถานีการค้าทางทะเลที่สำคัญมากเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 แห่ง คือ
คลองท่อม หรือตะโกลา (Takola ที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่) ทางอ่าวพังงาฝั่งทะเลตะวันตก
ออกแก้ว (Oc-eo) หรือฟูนัน (Funan) (ที่ปากแม่น้ำโขง) ทางเวียดนามฝั่งทะเลตะวันออก
ในช่วงเวลานี้เอง บริเวณสุวรรณภูมิลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็เกิดบ้านเมืองสำคัญขึ้นทางฟากตะวันตกของอ่าวไทย (หรือสมัยหลังต่อมาคือฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา) ตรงที่เป็นดินแดนระหว่างลำน้ำแม่กลองกับลำน้ำท่าจีน (ปัจจุบันมีลำน้ำสาขาเรียกลำน้ำจรเข้สามพัน) รู้จักกันต่อมาภายหลังในชื่อเมืองอู่ทอง (อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี)
เมืองอู่ทองหรือจินหลิน (กิมหลิน) นี่เองที่ชนชั้นสูงอันมีหัวหน้าเผ่าหรือเจ้าเมืองเป็นผู้นำเลือกรับพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์พร้อมๆ กัน แล้วก็น่าจะเริ่มสร้างสถูปเจดีย์เป็นครั้งแรกและแห่งแรกขึ้นที่นี่ หลังจากนั้นอีกนานจึงสร้างสถูปเจดีย์อย่างเดียวกันแผ่กระจายกว้างขวางออกไปยังที่อื่นๆ อย่างสืบเนื่อง เช่น ที่เมืองนครชัยศรี (หรือนครปฐมโบราณ) ฯลฯ แต่บางแห่งก็รับทั้งพุทธ-พราหมณ์ผสมกัน เช่น ที่เมืองละโว้ (ลพบุรีโบราณ) ฯลฯ
หนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีป ระบุว่าพระเจ้าอโศกทรงส่งสมณทูตออกเผยแผ่พุทธศาสนาหลายทิศทาง แต่ทิศทางหนึ่งมีพระสงฆ์ 2 รูป คือ โสณะและอุตตระ เดินทางโดยอาศัยเรือพ่อค้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ
พระเจ้าอโศก ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.214 หรือ 218 ถึงราว พ.ศ.255 ฉะนั้น การเดินทางของพระสงฆ์ต้องมีขึ้นก่อน พ.ศ.255 เลียบชายฝั่งอ่าวเบงกอล ผ่านบังกลาเทศและพม่า แล้วตัดมาถึงฝั่งทะเลอันดามันบริเวณที่เป็นเมืองทวายหรือเมืองอื่นๆ ใกล้เคียง แล้วเดินบกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ลงลำน้ำแควน้อย-แควใหญ่ ต้นน้ำแม่กลอง เข้ามาถึงบริเวณอ่าวไทย ชายทะเลโคลนตม ที่ต่อมาคือลำน้ำท่าจีน และจะมีเมืองอู่ทองหรือเมืองจรเข้สามพันต่อไปข้างหน้าราวหลัง พ.ศ.500
บริเวณลำน้ำท่าจีน-แม่กลอง มีชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณดอนตาเพชร (อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี) และอู่ทอง (อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) ที่ดอนตาเพชร-อู่ทอง นี่เอง ศาสนาพุทธจะแพร่หลายออกไปถึงที่อื่นๆ เช่น บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก, ลุ่มน้ำบางปะกง-พานทอง, ลุ่มน้ำชี-มูน, ลุ่มน้ำโขง ฯลฯ
คนพื้นเมืองดั้งเดิมนับถือ "ศาสนาผี" มาก่อนนานแล้ว มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าทำพิธีกรรม เท่ากับผู้หญิงเป็นผู้สืบทอดพิธีกรรมในศาสนาผี เมื่อศาสนาพุทธ-พราหมณ์ที่มีผู้ชายสืบทอดพิธีกรรมแผ่มาถึงสุวรรณภูมิก็เกิดปะทะขัดแย้งก่อน แล้วประนีประนอมประสมประสานเข้าด้วยกันในภายหลัง โดยมีศาสนาพุทธ-พราหมณ์เป็นแกนนำหลัก และเป็นเครื่องมือทันสมัยในการปกครองรวบรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ให้มีศูนย์รวมร่วมกันอยู่ที่พุทธ-พราหมณ์
นับแต่นี้ไป คือราวหลัง พ.ศ.500 ชุมชนบ้านเมืองในศาสนาผีที่รับพุทธ-พราหมณ์ จะเติบโตขึ้นเป็นบ้านเมือง แล้วมีพัฒนาการขึ้นเป็นรัฐขนาดเล็กบริเวณทะเลโคลนตมอย่างน้อย 2 แห่ง คือบริเวณอู่ทอง ปากน้ำเจ้าพระยาในประเทศไทย และบริเวณออกแก้ว ปากน้ำโขงในประเทศเวียดนาม ที่ต่างรับอารยธรรมจากอินเดียและจีนเหมือนๆ กัน
ผู้คนพลเมืองของ 2 บริเวณนี้ มีหลายเผ่าพันธุ์ผสมผสานอยู่ด้วยกันมาก่อน และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีภาษาพูดคล้ายคลึงกัน ถือเป็นภาษาร่วมสุวรรณภูมิใช้สื่อสารกันได้ทั่วไป แต่จะเริ่มรับภาษาอื่นเข้ามาใช้งาน เช่น ภาษาจากอินเดีย ภาษาจากจีน ฯลฯ จากนั้นก็รับตัวอักษรที่มากับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ยกย่องเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม ใช้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ แล้วยกย่องพิธีกรรมพุทธ-พราหมณ์มาผสมผสานกับพิธีกรรมพื้นเมืองดั้งเดิมเป็นแบบแผนเฉพาะสุวรรณภูมิ เช่น พิธีบวชนาค ที่จะมีต่อไปข้างหน้า
บ้านเมืองและรัฐขนาดเล็กยุคนี้ยังไม่พบหลักฐานมีชื่อเรียกแท้จริงว่าอะไร? ที่เรียกอู่ทองกับออกแก้วเป็นชื่อสมมุติเรียกในปัจจุบันซึ่งไม่ใช่ชื่อจริงในอดีต ผู้คนพลเมืองดั้งเดิมเป็นใคร? ชนชาติเผ่าพันธุ์อะไร? ก็ไม่มีหลักฐานบอกได้ตรงๆ
แต่มีร่องรอยต่อเนื่องบอกได้ว่าล้วนเป็นบรรพบุรุษทางสังคมและวัฒนธรรมของคนอุษาคเนย์ทุกวันนี้ รวมทั้ง "คนไทย" ในประเทศไทย
| |