วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์ "มั่น" วิถี แห่ง ถ้ำเชียงดาว

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
หากพิจารณาจากหนังสือ "บูรพาจารย์" อันผ่านการรับรองโดย มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็รับทราบว่า พ.ศ.2472 พระอาจารย์พำนักอยู่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมในท่าน เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง พระอาจารย์ยอมรับตามคำขออยู่ระยะหนึ่งก็กล่าวคำอำลา ดังที่ พระญาณวิริยาจารย์ ถ่ายถอดออกมาว่า
"พัดยศ ประกาศนียบัตร พวกเจ้าจงพากันอยู่วัดเจดีย์หลวงนี้เถิด ส่วนพระมั่นจะไปแล้ว"
"เท่านั้นเอง ท่านก็ลาจากความเป็นเจ้าอาวาสและพระครูโดยไม่มีหนังสือลา เป็นการลาโดยธรรมชาติ"
หากพิจารณาจากคำบอกเล่าของพระอาจารย์ผ่าน พระญาณวิริยาจารย์ ก็อาจจะมองเห็นเบาะแสบางประการอันต่างไปจากที่ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ถ่ายทอดเอาไว้โดยพิสดาร เพียงแต่ไม่บอกว่าเป็น ณ สถานที่แห่งใด
โปรดได้อ่านและพิจารณา
ถนนรถยนต์ไม่มี เป็นป่าดงที่มืดครึ้ม โดยความประสงค์เราต้องการที่จะไปให้ไกลที่สุดจึงได้มุ่งตรงไปทางอำเภอพร้าว เราก็เดินไปค้างแรมไปตามทาง เมื่อเห็นว่าเป็นที่สงบสงัดดีก็พักอยู่นานเพื่อปรารภความเพียร
เมื่อเห็นว่าจะเป็นการคุ้นเคยกับญาติโยมมากเข้าก็ออกเดินทางต่อไป
เดินต่อไป ในที่สุดก็ธุดงค์ถึงถ้ำเชียงดาว เป็นปี พ.ศ.2473 ในขณะนั้นถ้ำเชียงดาวยังไม่มีการปรุงแต่งอะไรเลย ชาวบ้านแถวนั้นก็ไม่มี จะมีก็เฉพาะพวกเจาะน้ำมันยางเอาน้ำมันนั้นมาทำขี้ไต้ มีเพียงไม่กี่ครอบครัว

นับเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมถธรรมเป็นอย่างยิ่ง ครั้งแรกๆ เราก็พักอยู่ตอนตีนเขา ต่อไปก็ขยับอยู่ที่ปากถ้ำ ตรงปากถ้ำนั้นมีก้อนหินใหญ่ เราใช้ก้อนหินนั้นเป็นที่นั่งสมาธิ มีความรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง ไม่ใช่โลกนี้
เพราะว่าขณะที่เราเร่งความเพียร ความยึดถือต่างๆ มันจะหดตัวเข้าทุกทีเพราะความยึดถือตัวนี้เองจึงเหมือนหนึ่งไม่ใช่โลกนี้ เพราะโลกนี้นั้นเป็นอยู่ด้วยความเข้าใจกันต่างๆ นานา นั้นมาจากความยึดถือทั้งสิ้น
โลกนี้จึงอยู่ด้วยอุปทาน คือ ความยึดถือ
เรายิ่งอยู่ในป่าลึกไม่ใคร่จะมองเห็นคนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ นานา ทั้งได้บำเพ็ญกัมมัฏฐานเพ่งจิตจดจ่ออยู่เฉพาะจิต
ความเป็นเหมือนหนึ่งไม่ใช่โลกนี้ก็จะมากยิ่งขึ้น เราค่อยๆ เขยิบเข้าไปในถ้ำลึก และลึกเข้าไป จนมืดมิดและเย็นมาก หายใจก็รู้สึกว่าอึดอัดเราได้พยายามที่จะกำหนดจิต
ปรากฏว่า มันก็ทำให้มืดไปกับถ้ำด้วย ทำให้จิตรวมได้ง่าย สงบดีมาก สงบง่ายมาก แต่เมื่อสงบแล้วจะพิจารณาอะไรก็ไม่ค่อยออก เราได้พยายามอยู่หลายเวลา
ไม่ยอมให้มันมิดไปเฉยๆ กำหนดความรู้และใช้กำลังพิจารณาควบคู่กันไป เมื่อปล่อยให้มันมิดแต่ตามกำหนดรู้แล้วก็ขยายการมิดให้ออกมาพิจารณา กำหนดเป็นอนุโลม ปฏิโลม
อนุโลมคือปล่อยให้มิดไป ปฏิโลมคือไม่ยอมให้ผิด
กำหนดพิจารณาถึงสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น ดับไป อาศัยการพิจารณาอยู่อย่างนี้ด้วยความมีสติกำหนดไม่ปล่อย กำลังของปัญญาก็รวมจุดเกิดเป็นพลังใหญ่

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เวลาประมาณ 02.00 น. ถ้ำเชียงดาวได้แยกออกเป็น 2 ซีก สว่างไปหมด ที่แยกออกนั้นแยกออกจริงๆ การหายใจที่เคยอึดอัดหายหมด ความเป็นเช่นนี้ได้ปรากฏอยู่ตลอดคืน
ทุกอย่างเหมือนไม่ได้อยู่ในถ้ำ ทำให้รู้สึกถึงอดีตอะไรมากทีเดียว
จินตภาพที่บังเกิดก็คือ จินตภาพของสมณะเพียงเอกานั่งสมาธิอยู่ในถ้ำบนภูสูงทะลุฟ้า ท่ามกลางความมืดมิด
พลันความมืดก็กลายเป็นความสว่าง
เป็นความสว่างอันกระจ่าง ณ กลางใจ เป็นความสว่างอันทำให้ความอึดอัดทั้งมวลคลายลงไป
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ถ้ำเชียงดาว เมื่อปี พ.ศ.2472
|