วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์ "มั่น" วิถี แห่ง ดอยจอมแตง
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
จากถ้ำเชียงดาว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มุ่งไปยังดอยจอมแตง
จำพรรษาปี 2473 ท่านอยู่ที่ดอยแม่แตง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ท่านยังดำรงจุดมุ่งหมายเมื่อแรกที่ออกจากวัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไม่แปรเปลี่ยน
นั่นคือสละละเจ้าอาวาส สละละพระครูฐานาที่ได้รับแต่งตั้ง
ทุกอย่างปล่อยวางเอาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง หมดสิ้น มิได้เอาติดตัวมาด้วย คงเป็นเพียง พระมั่น ภูริทัตโต
ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร
ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าได้รับการยอมรับนับถือมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นทางภูพานหรือในมหานครกรุงเทพฯ
เพียงต้องการแสวงหาความสงบ ความวิเวก
น่ายินดีที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เล่ารายละเอียดเอาไว้ และ พระญาณวิริยาจารย์ ได้จดจารบันทึก
เป็นบันทึกที่มีความเห็นสอดแทรกอยู่ด้วยในเชิงธรรม
กระนั้น เมื่อจำแนกแยกสังเคราะห์ระหว่างคำบอกเล่ากับความเห็นออกมา ก็จะได้อรรถะอันทรงความหมายยิ่ง
โปรดพิจารณา
พรรษานี้เราจำพรรษาอยู่บนภูเขา อากาศชุ่มชื้น ฝนตกมาก หนาวจัด
ชาวบ้านได้หาฟืนมาไว้สำหรับก่อไฟผิง ยกเป็นกุฏิด้วยใบตองตึง ทำรั้วด้วยไม้รวกยางๆ พอเป็นที่ป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆ
แม้จะบอกว่ารั้วไม่ต้องทำก็ได้ แต่พวกเขาไม่ยอม นอกจากนั้น ยังมีคนมาคอยดูแล ก่อไฟและรับใช้ แม้เราจะบอกว่าไม่ต้องมาดอก แต่พวกเขาก็ไม่ฟัง
พรรษานี้เป็นพรรษาที่มีความรู้สึกปลอดโปร่งและได้ความละเอียดทางใจมาก
ที่สำคัญก็คือ การได้อยู่คนเดียว ไม่ต้องสอนใร พูดกับชาวเขาก็ไม่รู้เรื่องกัน เหมือนกับอยู่วิเวกอย่างดีที่สุด
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ทำให้หวนรำลึกถึงคำของ พระสารีบุตร ที่ว่า กายวิเวกเป็นเหตุให้บังเกิดจิตวิเวก จิตวิเวกเป็นเหตุให้บังเกิดอุปธิวิเวก เป็นความจริงแท้
สิ่งเหล่านี้จะเข้าใจได้ในตัวของตัวเองในเมื่อได้ลงมือกระทำ การพูดเป็นสิ่งง่าย การกระทำเป็นคนละเรื่องกัน
เมื่อประสบกับวิเวกอย่างจริงจังจึงย่อมจะต้องมีอะไรภายในที่วิเศษบังเกิดขึ้น สถานที่แห่งนี้เป็นที่อยู่วิเวกจริง ต้นไม้ในป่าก็ทึบมาก
อาหารก็เป็นไปตามอย่างชาวป่าชาวเขา ตามมีตามได้ ทำกันอย่างง่ายๆ ซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาอย่างหนึ่งสำหรับการไปธุดงค์ ไม่ถือเอารสชาติความอร่อยชอบใจเป็นเกณฑ์
ถือเอาเพียงอยู่ได้ เพื่อมีชีวิตไปวันหนึ่งๆ เท่านั้นเป็นพอ เป็นเหตุให้ได้ประโยชน์หลายทาง คือ ทางหนึ่งได้รับการวิเวก ทางหนึ่งได้อาหารธรรมชาติไม่บำรุงมากนัก
ทำให้เกิดผลมากในการบำเพ็ญสมณธรรม
อันวิเวกนั้นก่อให้เกิดความชินชาได้ เพราะเหตุแห่งการอยู่นาน แม้ว่าสถานที่จะวิเวกเพียงใด แต่เมื่ออยู่หลายเพลาเข้าก็เกิดความเข้าใจว่าเป็นที่ของเรา
เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับใจ ได้แก่ ความเคยชิน จึงควรจะต้องเข้าใจตัวเองและอย่าไปเข้ากับตัวเองจนเสียคน โดยความเข้าใจว่าเราก็อยู่บนภูเขา ป่าดง ถ้ำ แต่ว่าอยู่เสียจนเคยชินหรือชินชาเสียแล้วมันก็ไม่ผิดอะไรกับอยู่ในบ้านในเมือง
จงพากันเข้าใจว่า ถ้ำ ป่า ภูเขา ก็เป็นเพียงสถานที่อยู่และเป็นที่วิเวกได้จริง แต่อย่าไปอยู่จนนานเกินควร
เป็นเวลาที่พูดน้อยมาก เมื่อมีความจำเป็นต้องพูดน้อย เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการครุ่นคิด พิจารณา ทำความเข้าใจ
ทำความเข้าใจทั้งอดีตและทำความเข้าใจทั้งปัจจุบัน
|