มองมุมใหม่
ครูพานักเรียนมัธยมฯ ไปค้างคืนที่วัดป่าแห่งหนึ่ง
วัยรุ่นอยู่ในเมืองมาตลอด ไม่คุ้นกับสภาพป่าจึงรู้สึกกลัว โดยเฉพาะเมื่อเห็นเมรุเผาศพ วันรุ่งขึ้นครูพานักเรียนไปกราบลาหลวงพ่อ หลวงพ่อจึงถามนักเรียนว่ารู้สึกอย่างไร
“กลัวผีครับ” นักเรียนคนหนึ่งตอบตามตรง
หลวงพ่อจึงปรารภขึ้นมาลอยๆ ว่า “แปลกนะ มาวัด นึกถึงแต่ผี ทำไมไม่เห็นพระบ้าง?
ในความรู้สึกของคนทั่วไป วัดมีทั้งพระและผี แต่ใช่หรือไม่ว่าหลายคนพอไปวัด โดยเฉพาะวัดที่มีเมรุเผาศพ กลับนึกถึงผีมากกว่านึกถึงพระ แม้จะยอมรับว่าถ้าเห็นพระ(ไม่ว่าพระภิกษุหรือพระพุทธรูป) จะรู้สึกใจชื้น แต่ใจกลับไปจดจ่ออยู่กับผีมากกว่า
ออกจากวัดมาเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น ลองนึกถึงคนที่เคยตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวคุณ คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่จำได้แม่นยำและจำได้หลายคน แต่พอให้นึกถึงคนที่เคยชื่นชมคุณ กลับนึกได้ช้าและนึกได้ไม่กี่คน
ในทำนองเดียวกัน ถ้าให้นึกถึงคนที่เคยขโมยเงินหรือเอาเปรียบคุณ คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่จำได้แม่น แม้เวลาจะผ่านไปแล้วหลายปี แต่พอให้นึกถึงคนที่เคยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อคุณ กลับจำไม่ค่อยได้ หรือนึกหน้าได้ไม่กี่คน เทียบไม่ได้กับจำนวนคนที่เอาเปรียบคุณ
คุณเคยสังเกตบ้างไหม เวลาเงินหาย จะเป็นทุกข์มาก เก็บมาครุ่นคิดอยู่นาน แต่เวลาได้เงินมาฟรีๆ กลับเป็นสุขไม่มาก หรือในระดับที่น้อยกว่าตอนเงินหาย ทั้งๆ ที่เป็นจำนวนเงินที่เท่ากัน แม้คุณจะดีใจ แต่ความดีใจนั้นก็มีอายุสั้นกว่าความเสียใจเวลาเงินหาย
ในการอบรมหลายครั้ง ข้าพเจ้าเคยขอให้ผู้ร่วมอบรมทบทวนความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตในรอบ ๑๐-๑๕ ปีที่ผ่านมา มีหลายคนนึกได้ถึงเหตุการณ์มากมายที่สร้างความทุกข์ให้แก่ตนเอง แต่กลับนึกไม่ค่อยได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นความสุขสมหวังในชีวิต
อย่างไรก็ตามเมื่อช่วยเขาทบทวนความจำ เช่นให้ตัวอย่างหรือให้เวลาเพิ่มขึ้น เขาก็ค่อย ๆ นึกได้ทีละเรื่อง ๆ จนในที่สุดหลายคนพบว่า
ชีวิตของตนนั้นไม่ได้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างเดียว แต่ก็ประสบกับความสุขไม่น้อย ชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องร้ายๆ ไปเสียหมด เรื่องดีๆ ก็มีมากมาย
คนเรานั้นมีแนวโน้มที่จะจำเหตุการณ์ในด้านลบได้ดีกว่าเหตุการณ์ในด้านบวก ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในด้านบวกนั้นอาจจะมีมากพอๆ กับด้านลบ
การที่เราจำคนที่ตำหนิเราได้มากกว่าคนที่สรรเสริญเรา หรือจำคนที่เอาเปรียบเราได้มากกว่าคนที่ช่วยเหลือเรา ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราเต็มไปด้วยคนที่จ้องตำหนิหรือเอาเปรียบเรา คนที่ชื่นชมหรือช่วยเหลือเราก็มีไม่น้อย และอาจจะมากกว่าคนกลุ่มแรกก็ได้ เป็นแต่ว่าเรามักจะจำคนกลุ่มแรกได้แม่นกว่า
กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เป็นลบนั้นดูจะสะดุดใจหรือประทับแน่นในใจมากกว่าสิ่งที่เป็นบวก
ครูคนหนึ่งยกกระดาษสีขาวแผ่นใหญ่ให้นักเรียนทั้งชั้นดู ตรงมุมล่างขวาของกระดาษแผ่นนั้นมีจุดสีดำเล็กๆ อยู่จุดหนึ่ง ครูถามว่า “นักเรียนเห็นอะไรบ้าง?”
“เห็นจุดสีดำครับ” คือคำตอบของนักเรียนทั้งชั้น
เมื่อได้ยินคำตอบ ครูจึงถามนักเรียนกลับไปว่า “ทำไมไม่มีใครเห็นสีขาวของกระดาษเลย?”
สีขาวของกระดาษแผ่นนั้นปรากฏชัดเจน แต่สิ่งที่สะดุดตานักเรียนกลับเป็นจุดเล็กๆ สีดำ ใช่หรือไม่ว่า ผู้ใหญ่ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เรามักเห็นจุดดำในชีวิตได้ชัดเจนกว่าส่วนที่เป็นสีขาว ทั้งๆ ที่สีขาวมีพื้นที่มากกว่า
เป็นเพราะมุมมองเช่นนี้ใช่ไหม เราจึงมักรู้สึกอยู่บ่อยๆ ว่า เวลาต่อแถวเข้าคิวทีไร มักได้แถวที่เคลื่อนช้ากว่าแถวอื่นๆ เสมอ เวลารอรถเมล์ คันที่เราต้องการขึ้นกลับมาช้ามาก แต่เวลาไม่ต้องการขึ้น มันกลับมาเร็วและถี่มาก เวลาไปกินอาหารในร้าน อาหารที่เราสั่งก็มักจะมาช้ากว่าของคนอื่น
แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ มีหลายครั้งที่แถวของเราเคลื่อนเร็วกว่าของคนอื่น ได้ขึ้นรถเมล์เร็วโดยไม่ต้องรอนาน และอาหารมาถึงก่อนคนอื่น
เป็นแต่ว่าใจของเรามักจะลืมเหตุการณ์เหล่านั้นไปอย่างง่ายๆ แต่กลับจดจำเรื่องที่ไม่สมหวังได้แม่นยำกว่า หรือจดจ่อใส่ใจกับมันมากกว่าเช่นเดียวกับที่เด็กเห็นจุดดำๆ ได้เด่นกว่าสีขาวของกระดาษ
การมองเห็นสิ่งที่เป็นลบได้ชัดกว่าสิ่งที่เป็นบวก เป็นลักษณะนิสัยที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะร่วมของคนส่วนใหญ่ก็ได้ น่าคิดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร คำอธิบายอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่สะสมมานับแสนนับล้านปี
สมัยที่ยังอยู่ป่าท่ามกลางอันตรายร้อยแปด ในเวลานั้นมนุษย์ยังไม่มีอาวุธหรือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายซึ่งมีอยู่อย่างชุกชุม การออกไปหากินจึงต้องระแวดระวังเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดสัญชาตญาณระวังภัย ประสาทสัมผัสจึงไวต่อสิ่งผิดปรกติ และจดจ้องใส่ใจเป็นพิเศษกับสิ่งที่จะเป็นอันตราย
อันตรายดังกล่าวไม่ได้หมายถึงสัตว์ร้าย พิษภัยในอาหาร และภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร้าวฉานหรือพฤติกรรมของบางคนที่อาจสร้างปัญหาให้แก่เผ่าหรือหมู่คณะด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้มีการทดลองเกี่ยวกับความสามารถในการจำ “สาร” ต่างๆ ที่มนุษย์ได้รับในเวลาอันจำกัดโดยใช้วิธีการที่คล้าย ๆ กับ “พรายกระซิบ” แต่แทนที่จะใช้วิธีกระซิบข้างหู ก็ให้อ่านข้อความจากกระดาษแล้วเขียนส่งต่อให้คนที่อยู่ถัดไป ข้อความเหล่านั้นได้แก่ ข้อความเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ข้อความทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับตัวบุคคล และข้อความเกี่ยวกับพฤติกรรมในแง่ลบของตัวบุคคล (เช่น การหลอกลวง การนอกใจคู่รัก)
ผู้ทดลองจะให้อาสาสมัครคนแรกในแถวอ่านข้อความดังกล่าวทีละข้อความ จากนั้นก็เขียนข้อความเท่าที่จำได้ให้คนที่อยู่ถัดไป เป็นที่น่าสังเกตว่าอาสาสมัครที่มีทั้งหมด ๒๐ คนนั้นจำข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมแง่ลบของบุคคลได้แม่นและถ่ายทอดได้ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ข้อมูลอย่างอื่นคลาดเคลื่อนจากเดิมมาก
จึงสรุปได้ว่ามนุษย์มีความสามารถในการจดจำ
และใส่ใจกับข้อมูลด้านลบของบุคคลมากกว่าเรื่องอื่น ๆ
ผู้วิจัยอธิบายว่านิสัยดังกล่าวน่าจะเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ได้วิวัฒน์พัฒนามาจากความจำเป็นที่ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน ในสภาพดังกล่าวพฤติกรรมของคนในกลุ่มเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อความอยู่รอดของกลุ่ม ดังนั้นพฤติกรรมอะไรที่ผิดปรกติซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มจึงได้รับความใส่ใจจากทุกคนเป็นพิเศษ
ความสนใจใฝ่รู้พฤติกรรมที่ไม่ธรรมดาของคนอื่นเป็นที่มาของการนินทา การทดลองดังกล่าวไม่เพียงอธิบายว่าทำไมมนุษย์จึงมีนิสัยชอบนินทาเท่านั้น แต่ยังยืนยันว่ามนุษย์นั้นไวต่อพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ในทางลบเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อาจส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อตนเอง นี้อาจเป็นคำตอบส่วนหนึ่งว่าทำไมคนทั่วไปจึงเห็นข้อเสียหรือข้อบกพร่องของผู้อื่นได้ชัดเจนกว่าข้อดี
สำนวนที่ว่า “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” เมื่อสาวไปให้ลึกแล้วอาจมีพื้นฐานมาจากสัญชาตญาณระวังภัยของมนุษย์ที่สะสมมาช้านานแล้วก็ได้
อย่างไรก็ตามการที่มนุษย์มีนิสัยไวต่อสิ่งที่เป็นลบ คงไม่ได้เกิดจากสัญชาตญาณล้วน ๆ แต่ยังเกิดจากการฝึกฝนอบรมหรือสั่งสอนกันมา รวมทั้งการย้ำคิดย้ำนึกในทางนั้นอยู่บ่อย ๆ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเราฝึกตนเองให้มองเห็นแต่สิ่งที่เป็นลบอยู่บ่อย ๆ เราจะเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่ายมาก
จริงอยู่นิสัยดังกล่าวอาจจำเป็นในการช่วยให้มนุษย์ในยุคแรก ๆ อยู่รอดท่ามกลางอันตรายรอบตัวนานาชนิด แต่เมื่อมนุษย์พัฒนามาถึงขั้นที่เจริญในทางเทคโนโลยี อันตรายจากสิ่งนอกตัวได้ลดลงไปมาก สัตว์ร้ายต่างๆ มิใช่เป็นภัยคุกคามสำคัญของมนุษย์อีกต่อไป พิษภัยจากอาหารหรือภัยธรรมชาติก็บรรเทาเบาบางไปมาก
แต่ภัยอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือ ภัยจากความรู้สึกนึกคิดของเราเอง ใช่หรือไม่ว่าการมองเห็นแต่สิ่งที่เป็นลบ จ่อมจมอยู่กับความทุกข์ในอดีต วนเวียนอยู่กับความผิดหวังที่ผ่านไปแล้ว โดยมองไม่เห็นแง่มุมที่ดีงาม ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเป็นโรคเครียด โรคจิต โรคประสาท จนถึงกับฆ่าตัวตายกันเป็นจำนวนมาก
ปัญหาของผู้คนทุกวันนี้ คือไวต่อความทุกข์และสิ่งที่เป็นลบมากเกินไป ในขณะที่มืดบอดต่อความสุขและสิ่งที่เป็นบวก
เราไวต่อเหตุการณ์ที่ไม่สมหวัง แต่กลับมองข้ามเหตุการณ์ที่สมหวัง ยามประสบเคราะห์เราจดจำได้แม่นยำ แต่ยามมีโชคกลับจำไม่ค่อยได้ เราจึงรู้สึกว่าตนเป็นคนโชคร้ายอยู่เสมอ
ลองนึกดูว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร หากเราจำเรื่องราวดี ๆ ในชีวิตได้แม่นยำ แต่จำเรื่องร้าย ๆ ไม่ค่อยได้ ทุกคนที่ทำดีกับเรา ยังปรากฏชัดในความทรงจำ แต่ใครที่เอาเปรียบเรา กลับยากแก่การระลึกถึง ทุกครั้งที่นึกถึงโมงยามแห่งความสุข สิ่งดี ๆ พรั่งพรูมาสู่จิตใจ แต่วันเวลาแห่งความทุกข์ กลับระลึกได้อย่างเชื่องช้า
อย่าปล่อยให้สัญชาตญาณดั้งเดิมชักพาเราจนถลำไปสู่การมองโลกแต่ในแง่ลบ เราสามารถฝึกใจให้มองเห็นแง่บวกของชีวิตได้
แทนที่จะมองว่าวันนี้มีอะไรที่แย่ ๆ เกิดขึ้นกับเราบ้าง ลองทบทวนดูว่าวันนี้มีอะไรดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิตของเราบ้าง แทนที่จะมองว่าคนอื่นหรือผลงานของเขามีข้อเสียอย่างไรบ้าง ลองเปลี่ยนมุมมองด้วยการถามว่าเขาหรือผลงานของเขามีข้อดีอย่างไรบ้าง มีอะไรที่น่าชื่นชมหรือเรียนรู้บ้าง
ในทำนองเดียวกันแทนที่จะจ้องจับผิดว่าทรัพย์สมบัติของเรา ไม่ว่าโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และรถยนต์ มีข้อเสียอย่างไรบ้าง ลองมองว่ามันมีข้อดีอย่างไรบ้าง
และที่ลืมไม่ได้ก็คือ ถามตัวเองว่าแฟนและเพื่อนของเราเขามีความน่ารักอย่างไรบ้าง อย่าจดจ้องอยู่กับข้อเสียหรือความไม่น่ารักของเขาอย่างเดียว บางทีเราอาจพบว่าสิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ล้วนดีอยู่แล้ว ที่เคยคิดว่าแฟนของคนอื่นดีกว่าแฟนของเรา จะไม่มาเป็นอารมณ์รบกวนจิตใจของเราอีกต่อไป เราจะมีความพึงพอใจในชีวิตและในสิ่งที่ตนมีมากขึ้น
เปิดใจให้กว้าง แล้วเราอาจพบว่า ชีวิตแต่ละวันมีแง่งามให้เราได้ประสบสัมผัสมากมาย
ในเมืองไม่ได้มีแต่มลพิษและความวุ่นวายเท่านั้น แต่ยังมีธรรมชาติอันงดงามให้เราได้ชื่นชม ไม่ว่าแสงเงินแสงทองยามอรุณรุ่ง ดอกไม้ริมทาง เฟินเขียวสดข้างตึก รวมทั้งรอยยิ้มของเด็กน้อย และไมตรีจิตของผู้คนรอบข้าง
แม้ว่าเราไม่มีหลายอย่างที่คนอื่นเขามีกัน แต่ในเวลาเดียวกันเราก็มีหลายอย่างที่คนอื่นไม่มี และหลายอย่างที่เรามีนั้นก็มีค่ากว่าหลายสิ่งที่เรายังไม่มี
เราไม่มีรถหรือบ้านของตัวเองก็จริง แต่เรายังมีพ่อแม่พี่น้องและคนรักอยู่กับเรา เรายังมีสุขภาพดี ไม่ต้องทนทุกข์กับโรคภัยไข้เจ็บ เรายังกินอิ่มนอนอุ่นและหลับสบายถ่ายคล่อง และที่สำคัญคือเรายังมีโอกาสที่จะพัฒนาตนให้เข้าถึงความสุขอันสูงสุดอย่างคุ้มค่ากับความเป็นมนุษย์
เปิดใจให้ไวต่อความสุขและสิ่งดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ขยายมุมมองให้กว้างจนแลเห็นสิ่งล้ำค่าที่เรามีอยู่อย่างมากมาย อย่าจดจ่อแต่สิ่งที่เรายังไม่มีเท่านั้น แต่ควรใส่ใจกับสิ่งที่เรามีด้วย
อย่าปล่อยใจให้สะดุดกับสิ่งน่าตำหนิเท่านั้น
แต่ยังฉับไวต่อสิ่งที่น่าชื่นชมด้วย
ถ้าทำได้อย่างนี้ ชีวิตจะมีเรื่องบ่นน้อยลง
และโลกนี้จะน่าอยู่มากขึ้น
จากนิตยสาร "สารคดี" งานเขียนโดย....พระไพศาล วิสาโล
|