หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

เซียมซี ศรัทธา และความเชื่ออันยาวนาน


แกร๊กๆ แกร๊กๆ...
เสียงเขย่ากระบอกไม้ไผ่ที่ภายในบรรจุติ้วบอกตัวเลขดังแข่งกันไปทั่วศาลเจ้า ท่ามกลางกลิ่นธูปควันเทียนราวกับมหกรรมแข่งขันประชันเสียง บางคนนั่งตั้งจิตอธิษฐานอย่างแน่วแน่ โดยไม่สนใจเสียงที่ดังรบกวนจากรอบข้าง ขณะที่อีกหลายคนนั่งต่อคิวเพื่อที่จะรอเขย่าไม้ติ้วในกระบอกไม้ไผ่บ้าง... ...ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญๆ ประจำปีอย่างวันขึ้นปีใหม่ หรือว่าตรุษจีน จะมีผู้คนไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทั้งเขย่ากระบอกไม้ไผ่กันอย่างหนาตาเป็นพิเศษ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้มีให้เห็นกันแต่ในวัดศักดิ์สิทธิ์ของไทยเท่านั้น แม้แต่ในศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนก็มีผู้คนเข้าไปเสี่ยงทายกันอย่างเนืองแน่น เรียกการเสี่ยงทายทำนายชะตาชีวิตลักษณะนี้ว่า “การเสี่ยงเซียมซี”

คำว่า “เซียมซี” ผู้รู้ต่างสันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “เซียนซือ” ซึ่งหมายถึงผู้มีอิทธิพลทรงอิทธิฤทธิ์ และมีความสามารถเหนือมนุษย์ธรรมดา ที่จะให้คุณหรือโทษแก่ผู้ใดก็ได้ บ้างก็ว่าน่าจะเป็นคำประสมระหว่างคำว่า “เซียน” แปลว่าไม้ติ้วเสี่ยงทาย กับคำว่า “ซี” แปลว่า โคลง กลอน ความหมายโดยรวมจึงได้ใจความว่า สลากบอกผลเสี่ยงทายจากไม้ติ้วที่พิมพ์เป็นคำกลอน ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของเซียมซีว่า คือ ใบทำนายโชคชะตาตามศาลเจ้าหรือวัดมีเลขหมายเทียบกับเลขหมายบนติ้วที่เสี่ยงได้นั่นเอง

มีความเชื่อกันว่า ต้นกำเนิดการเสี่ยงทายทำนายชะตาชีวิตลักษณะนี้มีมาช้านานแล้ว และน่าจะเกิดขึ้นในประเทศจีนก่อน โดยนักปราชญ์ชาวจีนในราชวงศ์ซ้งตอนปลาย และต้นราชวงศ์โจว ได้รวบรวมเอาความคิดเห็นของนักปราชญ์ในอดีตมาสร้างเป็นคำภีร์เล่มหนึ่งนามว่า “อี้จิง” คำว่า “อี้” หมายถึง “เปลี่ยน” ส่วนคำว่า “จิง” หมายถึง “คัมภีร์” ซึ่งในคัมภีร์เล่มนี้ได้บรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงของชีวิตตามกฎธรรมชาติ โดยนักปราชญ์ให้ความสำคัญว่า การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติย่อมต้องอาศัยฟ้าและดินเป็นหลัก ที่มีผลทั้งทางด้านดีและร้าย จึงเกิดมีการเสี่ยงทายเกิดขึ้นในสมัยนั้น โดยอาศัยข้อความในคัมภีร์อี้จิงซึ่งมีอยู่ 64 บท เป็นหลักในการทำนาย

เมื่อรวมกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสาง เทวดา หรือว่าเทพเจ้า ที่สามารถชี้ชะตาชีวิตหรือดลบันดาลให้เป็นอย่างไรก็ได้ จึงมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อให้เทพเจ้ามาสถิตอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงมีศาลเจ้าเกิดขึ้นมากมายในประเทศจีน ก็เพื่อความสะดวกสบายในการกราบไหว้บูชา ซึ่งในระยะแรกสันนิษฐานว่าจะต้องมีผู้รู้อยู่ประจำทุกศาล เพื่อทำหน้าที่แนะนำในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมแก่ผู้ที่เข้าไปกราบไหว้ หรืออาจจะทำหน้าที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการติดต่อกับเทพเจ้า สามารถให้คำอธิบายหรือคำพยากรณ์ต่างๆ ให้แก่ผู้ศรัทธาได้รับรู้

ต่อมาได้หมดบทบาทความสำคัญไป อาจจะเป็นเพราะหาผู้รู้จริงและต้องเป็นผู้มีจิตใจสูงส่งได้ยากขึ้น ผู้รู้เหล่านั้นจึงเพียงทำหน้าที่ดูแลความสะอาดของศาลเจ้าเท่านั้น จึงทำให้เกิดการคิดวิธีการเสี่ยงทายใหม่ๆ ขึ้นมาแทน โดยหาวัสดุที่มีอยู่มากในท้องถิ่นมาทำเครื่องเสี่ยงทาย ซึ่งประเทศจีนมีไม้ไผ่อยู่มาก จึงถูกนำมาเป็นอุปกรณ์ในการเสี่ยงทายโดยใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซีกบางๆ ใช้สีเขียนตัวเลขหรือตัวอักษรไว้ที่ปลายไม้บรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ก้นตัน เวลาเสี่ยงทายก็จะตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเขย่ากระบอกไม้ไผ่จนกว่าจะมีไม้ไผ่หล่นมา 1 อัน แล้วนำเลขหมายไปบอกกับซินแสประจำศาลเจ้าเพื่อแลกใบทำนาย ก็จะได้คำตอบซึ่งมีทั้งดีและร้าย โดยถือเป็นคำพยากรณ์ของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำนายชะตาชีวิตของผู้เสี่ยงทาย


สำหรับบ้านเรานั้น เชื่อกันว่า วิธีการเสี่ยงเซียมซีน่าจะเข้ามาพร้อมกับชาวจีนอพยพมาทำมาหากินในบ้านเรา เมื่อชาวจีนไปอยู่ที่ใด ก็มักจะมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นที่นั่นตามความเชื่อของพวกเขาด้วยเสมอ ซึ่งจุดกำเนิดอาจมีตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรืออยุธยา และหากยึดจากศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว (หลินกู๊เหนียง) ใน จ.ปัตตานี ซึ่งนับเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย สร้างขึ้นในปี 2116 การเสี่ยงเซียมซีในบ้านเราต้องมีมาไม่ต่ำกว่า 400 ปีแล้ว

เดิมทีคำทำนาย หรือใบเซียมซี คาดว่าเขียนเป็นภาษาจีนไว้บนแผ่นไม้เนื้อแข็ง หรือผนังศาลเจ้า คนไทยต้องอาศัยผู้รู้ภาษาจีนอ่านและแปลให้ฟัง ต่อมาพอถึงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดให้มีการเสี่ยงเซียมซีที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี และนั่นคือจุดเริ่มของใบเซียมซีที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาจีนในใบเดียวกัน โดยมี เปลี่ยน แซ่ซ้อง เป็นผู้ริเริ่มแปลเซียมซีภาษาจีนเป็นภาษาไทยแล้วพิมพ์ถวายวัด โดยทางวัดได้นำคำทำนายไปเขียนไว้บนกระจกใสเรียงตามลำดับตั้งแต่เลขที่ 1 ไปจนถึงเลขที่ 28 ถ้าเสี่ยงได้เลขใดก็อ่านตามหมายเลขนั้น

ใบเซียมซีของจีนโบราณบ่งบอกถึงความหมายเอาไว้คร่าวๆ ถึงเรื่องผลของการทำนายว่า ดีเลิศ ดี ปานกลาง และไม่ดี ส่วนใบเซียมซีที่อยู่ตามวัดวาอารามที่ผู้คนนับถือนั้นจะเป็นแบบร้อยกรองที่งดงาม ซึ่งซ่อนเร้นสำนวนทางวรรณศิลป์อันมีคุณค่าทางภาษาเอาไว้อย่างไพเราะและงดงาม ทั้งในเนื้อหาคำทำนายยังแสดงถึงวัฒนธรรม ความปรารถนา และความต้องการของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโชคลาภ ความรัก และสุขภาพ ฯลฯ รวมทั้งได้ผสมผสานพุทธปรัชญาเอาไว้อีกด้วย

และเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความของการเสี่ยงเซียมซีแบบดั้งเดิม ซึ่งถือว่าเป็นการเสี่ยงทายอีกชนิดหนึ่งที่อยู่คู่กับเซียมซีมาอย่างช้านานเช่นกันนั่นคือ “ไม้ปวย” หรือ “ไม้คู่” ลักษณะเป็นไม้ชิ้นเล็กๆ ละม้ายกับพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ด้านหนึ่งแบน อีกด้านหนึ่งจะนูน ซึ่งจะประกบเข้าคู่กันได้พอดี หลังจากที่เขย่าได้ติ้วออกมา 1 อันแล้ว ก็จะต้องโยนไม้ปวยเพื่อยืนยันว่าติ้วอันนั้นเป็นหมายเลขของคำทำนายของเราจริงๆ หรือไม่ ถ้าหากติ้วอันที่ได้เป็นหมายเลขคำทำนายของเราจริง เวลาเราโยนไม้ปวยก็จะได้อันหนึ่งคว่ำ อันหนึ่งหงาย แต่ถ้าติ้วอันนั้นไม่ใช่ของเรา เวลาโยนไม้ปวยก็จะได้คว่ำหรือหงายเหมือนกันทั้ง 2 อัน หมายความว่าเราจะต้องไปเขย่าติ้วใหม่อีกครั้ง แต่หากได้ใบทำนายที่ไม่ดีก็จะมีการอธิษฐานและเสี่ยงใหม่จนกว่าจะได้ใบทำนายที่ดี ส่วนใบที่ไม่ดีก็จะนำไปฝากไว้กับต้นไม้ที่วัด เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และฝากสิ่งที่ไม่ดีไว้กับวัด บ้างก็ไปตีระฆังเพื่อความสบายใจของผู้เสี่ยงเอง

แม้ศาสตร์แห่งการทำนายจะเกิดขึ้นมากมาย ทว่า การเสี่ยงเซียมซีทำนายชะตาชีวิตยังคงอยู่กับสังคมไทยจนทุกวันนี้...หลายคนอาจจะมองว่าการเสี่ยงเซียมซีเป็นเรื่องที่แสนจะเหลวไหล

ในขณะที่จำนวนอีกไม่น้อยกลับมีความคิดที่ว่า “ไม่เห็นจะเสียหายถ้าคิดจะเสี่ยงทาย...ตราบใดที่เราไม่งมงายจนเกินไป”


ไปข้างบน