ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า
ไอน์สไตน์ ผู้ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ
เขาเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เพราะสอบตก
และเมื่อสอบเข้าได้ในปีต่อมา ผลการเรียนก็ค่อนข้างย่ำแย่ ได้คะแนนต่ำมากในหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาการทดลองวิทยาศาสตร์ อาจารย์ถึงกับส่ายหัว และพูดกับเขาว่า “คนอย่างเธอไม่มีอนาตในวงการฟิสิกส์หรอก ทางที่ดีเธอควรเปลี่ยนไปเรียนหมอ วรรณคดี หรือไม่ก็กฎหมายจะดีกว่า”
หากเขายอมเชื่อฟังคำของอาจารย์ผู้นี้ โลกก็คงไม่มีวันรู้จัก “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ” และ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็คงเป็นเพียงบุคคลนิรนามที่สูญหายไปกับกาลเวลา
เป็นโชคดีของโลกที่ไอน์สไตน์ไม่ยี่หระกับคำตราหน้าของอาจารย์ เขายังคงทำในสิ่งที่เขารัก นั่นคือการคิดค้นทฤษฎีฟิสิกส์ ในชั่วเวลาเพียง ๕ ปีหลังจากจบมหาวิทยาลัย เขาได้เขียนผลงานทางฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ถึง ๕ ชิ้นในขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในสำนักงานสิทธิบัตร นั่นไม่ใช่เป็นแค่จุดเปลี่ยนสำคัญของวงการฟิสิกส์เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับโลกและจักรวาลของมนุษย์ยุคใหม่อย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตามกว่าจะเป็นที่ยอมรับของทั้งโลก ทฤษฎีของไอน์สไตน์ถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักวิทยาศาสตร์และปัญญาชนที่มีชื่อเสียง บางคนถึงกับประณามทฤษฎีนี้ว่า “เป็นความบ้าคลั่งอย่างสุดขีด เป็นงานปัญญาอ่อนของสติปัญญาแบบเด็กที่อุดตันทางความคิด ฯลฯ”
ผลงานที่ยิ่งใหญ่นั้น
บ่อยครั้งสำเร็จได้
ก็เพราะการยืนหยัดมั่นคง
ในความเชื่อของตน
โดยไม่หวั่นไหวไปกับความเห็น
หรือคำวิจารณ์ของผู้คน
ความเห็นของผู้คนแม้จะมีชื่อเสียงหรือเก่งกล้าเพียงใด บางครั้งก็ผิดได้ สถานการณ์ที่ดูแนวโน้มแล้วไม่น่าเป็นไปได้ บางครั้งก็กลับเป็นไปได้ ในสนามกีฬา ทีมที่เพลี่ยงพล้ำมาตลอดแต่สามารถแก้คืนและเอาชนะได้ในชั่วเวลาไม่กี่นาทีสุดท้าย คือสิ่งที่ผู้ชมพบเห็นได้อยู่เสมอ
ไม่ว่าในสนามกีฬาหรือในชีวิตจริง ตราบใดที่ยังมีเวลาหรือยังไม่ลงเอยถึงที่สุด ทุกอย่างสามารถแปรผันหรือพลิกความคาดหมายของผู้คนได้เสมอ ชนิดที่เรียกว่า “หักปากกาเซียน”
ใคร ๆ ก็คิดว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องถูกแปรรูปและเข้าตลาดหุ้นอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจ ๘ แห่งก่อนหน้านั้น เพราะกระบวนการทุกอย่างเดินหน้าไปเกือบครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น รอแต่การเปิดขายหุ้นเท่านั้น
แม้แต่ฝ่ายที่คัดค้านการแปรรูปก็เห็นเช่นนั้น หลายคนถึงกับถอดใจเพราะได้พยายามมาหลายขั้นตอนแล้ว รวมทั้งการเคลื่อนไหวผ่านทางรัฐสภา และการประท้วงอย่างยืดเยื้อของพนักงานกฟผ. แต่รสนา โตสิตระกูลและเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เห็นเช่นนั้น
รสนา โตสิตระกูล
เธอเห็นว่ามีอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถทำได้ นั่นคือฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการแปรรูปกฟผ.
นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายคนแม้เห็นว่าทำได้ แต่ไม่คิดว่าจะชนะ เพราะ “ผีหามมาถึงป่าช้าแล้ว ยังไงก็ต้องเผา” ทนายบางคนก็ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะกลัวจะเสียประวัติว่าทำคดีแล้วแพ้ เนื่องจากชนะคดีมาตลอด
แต่รสนายังยืนยันที่จะสู้ต่อไป สำหรับเธอแล้ว แพ้หรือชนะไม่สำคัญ ขอเพียงแต่ได้สู้ในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น
จะว่าไปแล้ว
แพ้-ชนะไม่ใช่เป็นเรื่องที่เรากำหนดได้
สิ่งที่เรากำหนดได้ก็คือ
การทำในส่วนของตนให้ดีที่สุด
ภาษิตจีนที่เป็นคาถาประจำใจของเธอก็คือ
“ความพยายามเป็นของมนุษย์
ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า”
แล้วสิ่งที่ทุกคนไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ก็เกิดขึ้น ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่เป็นปัญหา ทำให้กฟผ.ต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม นโยบายสำคัญของรัฐบาลทรงอำนาจซึ่งมีเงินหลายแสนล้านบาทเป็นเดิมพัน ถูกยับยั้งโดยมีจุดเริ่มต้นจากคนเล็ก ๆเพียงไม่กี่คน
อนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ยากแก่การทำนายได้ แม้แต่ผู้รู้ก็ทำนายผิดได้ ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้ใช้สติปัญญาอย่างดีที่สุด
เมื่อมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง ชอบธรรม
ก็พึงทำด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่
อย่ากังวลกับอนาคต
หรือหวั่นไหวไปกับการคาดคะเนในอนาคต
ปล่อยให้ผลสำเร็จเป็นเรื่องของอนาคต
หน้าที่ของเราคือทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
จากนิตยสาร "Teen, Kids & Family" งานเขียนโดย....รินใจ
|