พระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปนมัสการ "พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร" หรือ "หลวงพ่อทองคำ" หรือ "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกตุเมาฬี 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 5 ตันครึ่ง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยในพระอิริยาบถนั่งสมาธิราบ
พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณีนับเป็นพระพุทธรูปที่มีความสุกใสงดงามยิ่ง และยังเป็นพระพุทธรูปที่หนังสือกินเนสบุ๊ค ฉบับปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ได้บันทึกไว้ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสูงถึง 21.1 ล้านปอนด์เลยทีเดียว
แม้นจะรู้จักในกิตติศัพท์ของพระพุทธรูปทองคำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกองค์นี้มานาน แต่ต้องขอสารภาพว่าผมเพิ่งจะมีโอกาสได้ไปนมัสการเป็นครั้งแรก ต้องบอกตามตรงว่าแม้นจะเคยเห็นภาพถ่ายของพระพุทธรูปทองคำองค์นี้มานานแล้ว แต่ภาพที่ถ่ายออกมาส่วนใหญ่ไม่สามารถถ่ายทอดความงดงามเปล่งปลั่ง และความยิ่งใหญ่ของพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ออกมาได้อย่างที่เป็นจริง ยิ่งวิหารที่ตั้งและฐานที่ตั้งประดิษฐานก็มิได้โอ่งโถงเสริมยิ่งใหญ่ให้องค์พระมีความงดงามสมกับความเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลย ผนังวิหารด้านหลังแทนที่จะเป็นผนังที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรงดงามเช่นเดียวกับโบสถ์วิหารที่สวยงามของวัดดังอื่นๆ ก็มีเพียงผ้าม่านธรรมดาๆ ปิดไว้ที่ด้านหลังองค์พระ เห็นภาพถ่ายครั้งใดก็ไม่ชวนให้อยากจะมากราบนมัสการ
แต่เมื่อครั้งได้มีโอกาสเดินทางมาเห็นด้วยตาตัวเอง ผมถึงกับตื่นตะลึงในความงดงามสดใสเปล่งปลั่ง และความยิ่งใหญ่ขององค์พระพุทธรูปทองคำที่มีน้ำหนักทองคำถึงประมาณ 5 ตันครึ่ง และมีพระพุทธลักษณะที่งดงามอ่อนช้อยกว่าในภาพถ่ายเป็นอย่างยิ่ง จนผมถึงกับรู้สึกเสียดายที่ในชีวิตเพิ่งจะมีโอกาสมาเห็นมานมัสการ และยังรู้สึกเสียดายแทนคนไทยอีกหลายๆคนที่ยังไม่เคยมีโอกาสมานมัสการพระพุทธรูปทองคำที่ยิ่งใหญ่งดงามล้ำค่าสุดยอดของโลกองค์นี้
ยิ่งได้ศึกษาประวัติอย่างละเอียดก็ยิ่งพบความมหัศจรรย์ที่เป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ด้วยแต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะภายนอกไม่งดงามหรือโดดเด่น จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโชตินาราม หรือ วัดพระยาไกร มาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ต่อมาวัดพระยาไกรขาดคนบูรณปฏิสังขรณ์ จึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง ราว พ.ศ. 2474 บริษัทอีสต์เอเซียติก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฝรั่งที่ทำสัมปทานป่าไม้ ได้ขอเช่าที่จากรัฐบาลจัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ในบริเวณวัดร้างแห่งนี้ มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมของวัดพระยาไกรออกจนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่
ในขณะนั้น "วัดสามจีน" ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ทั่วทั้งพระอาราม โดยสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเพิ่มเติมสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่าง เห็นว่า จะปล่อยองค์พระพุทธรูปปูนปั้นให้อยู่ที่เดิมต่อไปจะเป็นการไม่สมควร ประกอบกับวัดสามจีน มีสถานที่กว้างขวางเหมาะสมกับการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จึงมอบให้คณะกรรมการวัดสามจีนอัญเชิญมาประดิษฐานในบริเวณวัด โดยในขณะนั้นยังบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการวัดได้ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปไว้ข้างเจดีย์เป็นการชั่วคราว
ในระหว่างนี้ มีผู้มาขออัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดต่าง ๆ มากมาย ทางวัดก็ตกลงให้โดยมิได้หวง แต่ราวกับปาฏิหาริย์ วัดต่างๆ ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ไปได้ การก่อสร้างพระอาราม พระวิหารต่าง ๆ ในวัดสามจีน ใช้เวลาเนิ่นนานถึง 20 ปี การบูรณะจึงแล้วเสร็จสิ้นในปีพุทธศักราช 2498
เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีรมาหาเถระ ป.ธ.7) เจ้าอาวาสซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระวีรธรรมมุนี ผู้ดำเนินการสร้างวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจนแล้วเสร็จ ได้เป็นแม่กองเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปเข้าไปยังพระวิหารซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม 2498 การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่ และหนักมาก ต้องใช้ปั้นจั่นยกองค์พระพุทธรูป ในขณะทำการยกนั้น ปรากฏว่า ลวดสลิงที่ยึดองค์พระเกิดขาดเพราะทานน้ำหนักองค์พระไม่ไหว องค์พระพุทธรูปจึงตกลงกระแทกบนพื้นอย่างแรง พอดีกับเวลานั้น เป็นเวลาใกล้ค่ำ และฝนก็บังเอิญตกอย่างหนัก การอัญเชิญพระพุทธรูปในวันนั้น จึงเป็นอันต้องหยุดชะงักลง
ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาส ได้มาตรวจดูองค์พระ เพื่อหาทางอัญเชิญขึ้นประดิษฐานใหม่ ก็ได้พบเป็นรอยแตกที่พระอุระ และเห็นรักที่ฉาบผิวองค์พระด้านใน เมื่อแกะรักออกก็ได้พบเนื้อทองคำบริสุทธิ์งามจับตาอยู่ชั้นในสุด ท่านเจ้าอาวาส จึงสั่งการระดมผู้คนช่วยกันกะเทาะปูน และลอกรักออกหมดทั้งองค์ ความงดงามแห่งเนื้อทองบริสุทธิ์ขององค์พระปฏิมาจึงปรากฏให้เห็นพร้อม พุทธลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สกุลช่างสุโขทัย ที่งดงามจับตาจับใจผู้พบเห็นยิ่งนัก จากการสันนิษฐานน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยมีอายุกว่า 700 ปี
ปัจจุบันในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางไปเที่ยวชมวันละไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ซึ่งปัญหาความคับแคบของพระวิหารที่ประดิษฐานหลังเดิม ซึ่งสร้างมานานและไม่ยิ่งใหญ่อลังการสมกับความเป็นวิหารพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลายฝ่ายจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะจัดสร้างเป็นมหามณฑปหลังใหม่ที่ยิ่งใหญ่งดงามเพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานให้สมพระเกียรติ โดยทางวัดไตรมิตรวิทยาราม ได้ร่วมกับกรมศิลปากร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประชาคมชาวเยาวราช สัมพันธวงศ์ และผู้มีจิตรศรัทธาร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อก่อสร้างมหามณฑปหลังใหม่ขึ้น ซึ่งมหามณฑปหลังใหม่นี้ได้รับการออกแบบโดยกรมศิลปากรจึงมีความงดงามอลังการยิ่ง
|