พระโรหณะกับพระนาคเสน
พระเจ้ามิลินท์ได้เที่ยวท้าทายถามปัญหานักบวชและนักปราชญ์สำนักต่าง ๆ จนกรุงสาคละของพระองค์ว่างเปล่าจากผู้ทรงปัญญาเนื่องจากสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ไม่สามารถโต้เถียงกับพระองค์ได้ต่างพากันอพยพออกจากสาคลนครโดยทั่วกัน
เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏแก่ทิพยโสตของพระอัสสคุตตเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้อาศัยอยู่เชิงเขา ณ รักขิตคูหา พระเถระเกรงว่าหากยังปล่อยให้พระเจ้ามิลินท์มีพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป พุทธศาสนาอาจไร้ซึ่งผู้เลื่อมใสศรัทธาและอาจเสื่อมโทรมลงในที่สุด จึงได้เรียกประชุมพระอรหันต์ทั้งหลายในบริเวณภูเขาเพื่อหาทางแก้ไข ที่ประชุมเห็นชอบให้เชิญมหาเสนเทพบุตรจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จุติลงมาเป็นผู้แก้ปัญหาพระเจ้ามิลินท์
พระเจ้ามิลินท์
เมื่อพระอรหันต์ทั้งหลายพากันขึ้นไปพบมหาเสนเทพบุตรพร้อมชี้แจงจุดประสงค์ของคำเชิญให้จุติ มหาเสนเทพบุตรตอบตกลงและได้ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาของโสณุตรพราหมณ์ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน กชังคลคาม ในขณะเดียวกัน พระอรหันต์ทั้งหลายได้มอบหมายให้พระโรหณเถระซึ่งมิได้เข้าร่วมประชุมเนื่องจากไปเข้าปฐมญาณอยู่ ณ เขาหิมวันต์ มีหน้าที่รับผิดชอบอบรมมหาเสนเทพบุตรเมื่อมาเกิดในตระกูลพราหมณ์
นับแต่บัดนั้น พระโรหณเถระจึงได้เพียรผ่านหมู่บ้านพราหมณ์ทุกวันเพื่อบิณฑบาต แต่ไม่เคยได้รับอาหารจากบ้านใดเลยนอกจากคำด่าว่าเสียดสี จนกระทั่ง ๗ ปี ๑๐ เดือนล่วงมา คนในบ้านโสณุตรพราหมณ์จึงกล่าวแก่พระโรหณะว่า “ขอไปโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด พระคุณท่าน”
เมื่อพระโรหณะเดินผ่านเลยไป ได้เผอิญพบโสณุตรพราหมณ์สวนทางมา โสณุตรพราหมณ์ถามเย้ยว่า “วันนี้ท่านได้อะไรจากบ้านเราหรือไม่” ซึ่งพระเถระตอบว่า “ได้” พราหมณ์จึงกลับไปถามคนที่บ้านว่าได้ให้อะไรกับพระ ซึ่งคนในบ้านตอบปฏิเสธ วันต่อไป พราหมณ์จึงรอพบพระโรหณะเพื่อกล่าวหาว่าพระเถรเจ้ามุสา
พระโรหณะตอบกลับด้วยเมตตาว่า “ดูก่อนพราหมณ์ เราไม่เคยได้ยินคำปราศัย ‘ขอไปโปรดสัตว์ข้างหน้า’ จากบ้านท่านเป็นเวลา ๗ ปี ๑๐ เดือน เพิ่งได้ยินเมื่อวาน จึงกล่าวแก่ท่านว่า เราได้”
พราหมณ์ได้ยินดังนั้นก็รู้สึกสะเทือนใจว่า แม้คำปราศัยเล็ก ๆ น้อย พระเถรเจ้ายังสรรเสริญ จึงสั่งให้คนในบ้านจัดอาหารถวายและนิมนต์ให้พระโรหณะมารับบาตรที่บ้านทุกวัน เมื่อได้พิจารณาเห็นอาการอันสงบและเปี่ยมด้วยเมตตาของพระเถรเจ้า ก็ยิ่งบังเกิดความเลื่อมใส พราหมณ์จึงได้นิมนต์ให้พระโรหณะฉันอาหารในเรือนของตนอยู่เป็นประจำ
ในเวลาต่อมา ภรรยาของพราหมณ์คลอดบุตรซึ่งได้แก่มหาเสนเทพบุตรจุติลงมา พราหมณ์ให้ชื่อบุตรว่า “นาคเสน” ซึ่งเมื่อมีอายุ ๗ ขวบ นาคเสนกุมารได้เล่าเรียนศิลปวิทยาของศาสนาพราหมณ์จนแตกฉานจบสิ้น จึงปรารภถึงความไม่มีแก่นสารของสิ่งที่ตนได้เล่าเรียน
ขณะนั้น พระโรหณะทราบถึงความคิดคำนึงของนาคเสนกุมารจึงมาปรากฏกายที่หน้าบ้านพราหมณ์
นาคเสนกุมารแลเห็นพระเถรเจ้านุ่งห่มแปลกตา จึงคิดว่าบรรพชิตรูปนี้อาจรู้วิชาที่เป็นแก่นสาร จึงเดินเข้าหาแล้วถามว่า “ท่านเป็นอะไร เหตุใดจึงโกนศีรษะและนุ่งผ้าย้อมฝาดเช่นนี้”
พระโรหณะตอบว่า “เราเป็นบรรพชิต”
น. บรรพชิตเป็นอย่างไร เป็นบรรพชิตเพราะประสงค์อะไร
ร. บรรพชิตคือผู้ปลีกตนออกจากกิจการที่เป็นโลกียะเพื่อขัดเกลาจิตใจให้ปราศจากมลทิน
น. เหตุใดท่านจึงต้องโกนผม
ร. เพราะเราเห็นเป็นเครื่องที่ทำให้ต้องหมกมุ่นกังวล เช่น ต้องกังวลหาเครื่องประดับ ตกแต่งให้เข้ารูป ทาด้วยของหอม สระล้าง หวี สาง รัด เกล้า และเมื่อผมร่วงบาง เจ้าของย่อมเสียดาย ดูก่อนเด็กน้อย บุคคลใดยังหมกมุ่นกังวลอยู่ในกิจเหล่านี้ย่อมมิสามารถทำสิ่งซึ่งสุขุมให้แจ้งได้
น. เหตุใดท่านจึงนุ่งห่มไม่เหมือนผู้อื่น
ร. เพราะเหตุที่ผ้าโดยทั่วไปเป็นที่อิงอาศัยของกิเลสกามเป็นเครื่องก่อความรบกวนจิตใจ และเป็นเครื่องหมายของคฤหัสถ์ ผ้านุ่งห่มของเราจึงไม่เหมือนคนอื่น
นาคเสนกุมารได้ยินดังนั้นก็เกิดความเลื่อมใสว่าบรรพชิตรูปนี้อาจรู้แจ้งในวิชาที่มีแก่นสาร จึงขออนุญาตบิดามารดาออกบวช เมื่อได้รับอนุญาต
พระโรหณะจึงพานาคเสนกุมารไปยังรักขิตคูหาและบวชนาคเสนกุมารท่ามกลางพระอรหันต์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่บริเวณเขาแห่งนั้น
|