พระไตรปิฎกอักษรโรมัน สะพานเชื่อมศรัทธาแห่งพุทธศาสนา
"ศาสนาพุทธ" เป็นอีกศาสนาหนึ่งซึ่งคนจำนวนมากในทั่วทุกมุมโลก เลือกที่ยึดถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นับถือเป็นศาสนาประจำตน และมีอีกไม่น้อยที่มีความสนใจใคร่รู้ในแก่นแห่งพระพุทธศาสนา หากแต่ด้วยเพราะมีข้อจำกัดประการใหญ่ นั่นคือเรื่องของภาษา เนื่องจากภาษาที่ใช้เผยแผ่พุทธศาสนานี้ ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นอุปสรรคในการอ่านของผู้หลากหลายเชื้อชาติ
แต่นับแต่นี้ต่อไปช่องว่างดังกล่าวจะหมดไปเมื่อมีการจัดทำ “พระไตรปิฎกบาลี อักษรโรมัน” เพื่อเป็นสะพานเชื่อมแห่งศรัทธาของพระพุทธศาสนาในการเข้าใจพระไตรปิฎกได้อย่างถ่องแท้และลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นริศโรจน์ เฟื่องระบิล ผู้อำนวยการกองวัฒนธรรมสัมพันธ์ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เล่าถึงประวัติศาสตร์การจัดทำพระไตรปิฎกครั้งสำคัญๆ ให้ฟังว่าว่า ย้อนกลับไปในยุค ร.ศ.112 หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำสยามประเทศฝ่าวิกฤติการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจได้อย่างสำเร็จงดงาม พระองค์ทรงนำเทคโนโลยีตะวันตกมาสร้างเป็นเทคโนโลยีธรรมเพื่อพิมพ์พระไตรปิฎกชุดแรก (พระไตรปิฎกอักษรสยาม)
พระไตรปิฎกชุดดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือแห่งธรรมนาวาและเป็นกำลังหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากกรุงสยามไปสู่นานาประเทศทั่วโลก โดยพระราชทานไปยังสถานที่ต่างๆ 260 แห่ง หรือราว 30 ประเทศ
จากนั้นต่อมาในพ.ศ.2542 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้พระราชดำริให้จัดทำพระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมันขึ้น โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานทั้งภายในประเทศและคณะทำงานจากต่างประเทศเพื่อตรวจทานความถูกต้อง ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปีของการทำงานได้ค้นพบสิ่งต่างๆ มากมาย รวมทั้งค้นพบว่าพระไตรปิฎกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ฉบับที่สังคายนาพ.ศ.2500
ที่สำคัญคือ พบว่าพระไตรปิฎกที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกนั้น มิใช่เป็นฉบับเดียวกัน หากแต่เป็นฉบับที่แตกต่างเวอร์ชั่นกันไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อพ.ศ.2500 ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งสำคัญของโลกที่มีพระสงฆ์ 2,500 รูป จากทั่วโลกมาร่วมกันสังคายนาที่ประเทศพม่า โดยพระไตรปิฎกฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นฉบับที่หาข้อยุติในความต่างของพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ และถือว่าเป็นพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด แต่การณ์ภายหลังปรากฏว่าในการพิมพ์ครั้งต่อๆ มาไม่ได้มีการนำเอาฉบับที่สังคายนามาพิมพ์ นอกจากนี้ยังพบความผิดพลาดในการพิมพ์เนื้อหาต่างๆ มากมาย
ดังนั้น บรรดาทีมผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลี สันสกฤตของประเทศไทยและต่างชาติที่ร่วมกันจัดทำ “พระไตรปิฎกบาลี อักษรโรมัน” จึงได้ทำการตรวจทานแก้ไขใหม่ทั้งหมด เมื่อทำเสร็จก็ได้นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยแก้ไขโดยใช้คอมพิวเตอร์ พร้อมจัดรูปแบบใหม่ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
“ต้องบอกว่าขณะนี้ประเทศไทยได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลี อักษรโรมันขึ้นเป็นครั้งแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระไตรปิฎกฉบับนี้ถือว่าเป็นฉบับสากลใครที่อ่านภาษาอังกฤษได้ก็จะเปล่งเสียงและสวดมนต์ได้พร้อมกันทั้งโลก เพราะด้วยเชื่อว่าคนที่เปล่งเสียงได้ย่อมเข้าใจถึงเนื้อหาคำสั่งสอนด้วยพร้อมกันนี้ยังมีโครงการนำพระไตรปิฎกอักษรโรมันลงไว้ในเว็บไซต์ด้วย”
“นอกจากนี้ยังได้มีการจัดหมวดหมู่พระไตรปิฏกจำนวน 40 เล่ม ระบุถึงความแตกต่างระหว่างพระไตรปิฎกทุกฉบับในโลกว่ามีความแตกต่างอย่างไร ซึ่งสมัยก่อนความแตกต่างจะมีการถูกบันทึกไว้เป็นเชิงอรรถ (Footnote)”
นริศโรจน์เล่าให้ฟังด้วยว่า หลังจัดทำเสร็จในเดือนมีนาคม 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯไปประเทศศรีลังกา เพื่อพระราชทานพระไตรปิฎก อักษรโรมัน แก่ประธานาธิบดีศรีลังกา จากนั้นในเดือนมีนาคม 2549 ประธานรัฐสภา ศรีลังกา ขอพระราชทานอีก 1 ชุด โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้รับมอบ ซึ่งครั้งนั้นประธานาธิบดีได้ประกาศให้วันที่ 6 มีนาคม เป็นวันพระไตรปิฎกโลก
สำหรับในปี 2550 นี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จแทนพระองค์ พระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมัน แก่รัฐมนตรีต่างประเทศ ญี่ปุ่น สวีเดน และอินเดีย ที่กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกันนี้จะทรงทยอยประทานไปยังสถานที่ต่างๆ 260 แห่งทั่วโลก หรือ 30 ประเทศ
|