อย่าลืมนัดกับ "จันทรุปราคาเต็มดวง" คืนวันเพ็ญมาฆะ
ภาพจำลองเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ระหว่างเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ในเช้ามืดวันที่ 4 มี.ค. (ภาพโดยสมาคมดาราศาสตร์-ดัดแปลงจาก Fred Espenak/NASA)
สมาคมดาราศาสตร์ไทย - หัวค่ำทำบุญวันมาฆะ แล้วเตรียมตื่นตอนเช้ามืดชม "จันทรุปราคาเต็มดวง" คราสแรกแห่งปี ปรากฎการณ์เริ่มตั้งแต่ตี 3 แต่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ในช่วงเวลาตี 4 เป็นต้นไป และจะจบลงในเวลาหลัง 6 โมงเช้าตามแต่ละพื้นที่ที่จะเห็นดวงจันทร์ตก ทว่าราหูอมจันทร์จะไม่ทำให้จันทร์ดับสนิท เพราะแสงอาทิตย์จะหักเหไปตกที่ผิวจันทร์เห็นเป็นสีแดงอิฐ
หลังเที่ยงคืนของคืนวันมาฆบูชาช่วงต่อระหว่างเสาร์ที่ 3 มี.ค.- อาทิตย์ที่ 4 มี.ค.50 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคา" หรือเรียกอีกอย่างว่า "จันทรคราส" หรือ "ราหูอมจันทร์"
ภาพจำลองคาดการณ์ลักษณะของดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคาในเช้ามืดวันที่ 4 มี.ค (ภาพโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย)
จันทรุปราคาเกิดได้เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงาโลก เงาที่เกิดขึ้นนี้มีอยู่สองชนิด ได้แก่ เงามืดและเงามัว จันทรุปราคาจึงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ จันทรุปราคาเต็มดวง จันทรุปราคาบางส่วน และจันทรุปราคาเงามัว
ทั้งนี้ จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดเมื่อดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดหมดทั้งดวง ดวงจันทร์จึงมืดคล้ำลงมาก แต่ไม่มืดสนิท ส่วนใหญ่มีสีส้มแดงหรือน้ำตาล
ขณะที่ จันทรุปราคาบางส่วนเกิดเมื่อดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดเพียงบางส่วนจึงเห็นดวงจันทร์แหว่ง ส่วนจันทรุปราคาเงามัวเกิดเมื่อดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวเท่านั้น ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดผ่านเข้าไปในเงามืด จึงเห็นดวงจันทร์สว่างเต็มดวงอยู่อย่างนั้น ที่ต่างไปจากเดิมคือดวงจันทร์จะลดความสว่างลงเล็กน้อย
ภาพจำลองการเกิดเงามืดและเงามัวระหว่างจันทรุปราคา (ไม่ได้วาดตามมาตราส่วนจริง) ภาพโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย
จันทรุปราคาครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในคืนวันเพ็ญมาฆะนี้ ดวงจันทร์เริ่มเข้าไปในเงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 03.18 น. ของวันที่ 4 มี.ค.ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์ปรากฏอยู่เหนือท้องฟ้าทิศตะวันตกในกลุ่มดาวสิงโต แต่จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นกับดวงจันทร์
จนกระทั่งเวลาประมาณ 04.10 น. ขอบดวงจันทร์ด้านซ้ายมือค่อนไปทางด้านบนจะเริ่มคล้ำลงจนสังเกตเห็นได้ ดวงจันทร์มืดสลัวลงทีละน้อยจนเริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 04.30 น. ซึ่งจะเห็นขอบดวงจันทร์ด้านนี้เริ่มแหว่ง
ก่อนตี 5 ครึ่งเล็กน้อย เงามืดของโลกเข้าบังดวงจันทร์ลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเวลา 05.44 น. เป็นเวลาที่ดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนเข้าไปในเงามืดของโลกและเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง แต่แสงอาทิตย์ที่หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปตกที่พื้นผิวดวงจันทร์ทำให้ดวงจันทร์ไม่มืดสนิทอย่างที่ควรจะเป็น แต่มีสีน้ำตาล สีแดงอิฐ หรือสีส้ม ไม่กี่นาทีต่อมาหลังจากนั้นแสงเงินแสงทองจะเริ่มจับขอบฟ้า ท้องฟ้าจึงค่อย ๆ สว่างขึ้นในขณะที่ดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามืดของโลก
เวลา 06.21 น. ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดลึกที่สุดและใกล้จะตกลับขอบฟ้าแล้ว ขณะนี้ท้องฟ้าจะสว่างเป็นสีฟ้า ที่กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลา 06.33 น. ส่วนดวงจันทร์จะตกทางทิศตะวันตกในเวลา 06.37 น.
เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงจันทร์ตกในจังหวัดอื่น ๆ จะต่างไปจากนี้ เช่น เชียงใหม่ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.42 น. ดวงจันทร์ตกเวลา 06.46 น. ภูเก็ตดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.39 น. ดวงจันทร์ตกเวลา 06.43 น. ส่วนที่อุบลราชธานีดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.16 น. ดวงจันทร์ตกเวลา 06.20 น.
จันทรุปราคาครั้งนี้นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่สังเกตเห็นได้จากประเทศไทย และเป็นอุปราคาครั้งใน 4 ครั้งที่เกิดในปีนี้ ซึ่งครั้งถัดไปคือเช้าจันทร์ที่ 19 มี.ค.จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนเห็นได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และครั้งถัดไปคือจันทรุปราคาในช่วงเวลาหัวค่ำของวันอังคารที่ 28 ส.ค. ส่วนครั้งสุดท้ายวันที่ 11 ก.ย. จะเกิดสุริยุปราคาท้องฟ้าเหนือประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้
|