‘มาแรง’ แซงธรรมะ! ‘ธุรกิจของขลัง’ พุ่งลิ่ว ‘2.2หมื่นล้าน’
จตุคามรามเทพ
“ของมงคลต่าง ๆ เป็นของที่ขายดีตามกระแสในยุคนี้ มีกลุ่มลูกค้าทั่วไป ทั้งรายย่อย และลูกค้าที่มีฐานะดีหน่อยก็จะซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ที่สวยงามและราคาแพง”...เป็นเสียงบอกกล่าวของคนค้าขาย ของมงคล “เครื่องราง-ของขลัง” รายหนึ่ง ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” นำเสนอไปเมื่อวันก่อน...
ยุคนี้คนไทยแห่ใช้ “ที่พึ่งทางใจ” กันจนเป็น “แฟชั่น”
“ธุรกิจเครื่องราง-ของขลัง” จึงฟูเฟื่องเห็นได้ชัด !?!?!
จากผลสำรวจของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เมื่อปี 2546 คาดว่ามีเม็ดเงินในธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งก็รวมถึงเครื่องราง-ของขลัง-ของมงคลต่าง ๆ เกือบ 10,000 ล้านบาท และยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10-20 ต่อปี พอถึงปี 2548 การขยายตัวของธุรกิจด้านนี้ดูเหมือนจะพุ่งพรวดขึ้นเกินคาด จากผลสำรวจคาดว่ามีมูลค่าสูงขึ้นถึงเกือบ 20,000 ล้านบาท และแนวโน้มตอนนั้นก็ยังมีแววเติบโตอีก
แล้วมาถึงปี 2550 ในยุครัฐบาลเฉพาะกาลหลังการรัฐประหาร ที่ล่าสุดสถานการณ์บ้านเมือง สถานการณ์ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ล้วนตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “อาการน่าเป็นห่วง !!” ธุรกิจด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเครื่อง ของมงคล เครื่องราง ของขลัง “ยิ่งฉลุย !!”
“คาดการณ์ว่าเม็ดเงินในธุรกิจนี้และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ในปี 2550 นี้จะสูงกว่า 22,000 ล้านบาท และธุรกิจเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากเดิมที่อัตราการขยายตัวของธุรกิจนี้จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาวะเศรษฐกิจ”...ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
จตุคามรามเทพ
และตอบโจทย์ในเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีก ด้วยเสียงของ รศ.ดร.พรชัย ตระกูลวรานนท์ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า...“กระแสความนิยมวัตถุมงคลนั้นเกิดขึ้นจากความไม่มั่นคงในชีวิต คนทั่วไปไม่มีความมั่นใจในชีวิต !!”
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระเบิดในกรุงเทพฯ สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ข่าวร้ายรายวันที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ
ตรงนี้เป็นสาเหตุที่เห็นได้ชัดเจน และนอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับข่าวคราวเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ การช่วยให้แคล้วคลาดจากอันตรายต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประโคมให้กระแสความนิยมเรื่องนี้มีมากขึ้นไปอีก
“ผมเห็นในภาพของมิติความรุนแรง มากกว่าเศรษฐกิจ แต่ในภาพรวมแล้วก็เกิดจากความไม่เชื่อมั่นในความมั่นคงของชีวิตมากกว่า”... รศ.ดร.พรชัยกล่าว และบอกต่อไปว่า...สังคมไทยยังไม่มีระบบในเรื่องของความมั่นคง เช่น “เดินออกจากบ้านไปแล้วจะปลอดภัยหรือไม่ ?” “ทำธุรกิจแล้วจะเสียหายหรือเปล่า ?” หรือทำงานในบริษัทหรือรับราชการจะมีความมั่นคงในการงานหรือไม่ ? ซึ่งตรงนี้สังคมไทยยังไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน
เมื่อกฎกติกาไม่ชัด สิ่งเหล่านี้จึงพร้อมที่จะเข้ามาแทรกซึมได้ตลอดเวลา ยิ่งมีกระแสแขวนสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วรอดตาย หรือทำธุรกิจร่ำรวยเพราะแขวนสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่จะมีผู้คนเสาะแสวงหามาแขวนบ้าง
นักวิชาการรายเดิมระบุอีกว่า...สังคมยุโรปก่อนปฏิวัติการเรียนรู้ ก็มีระบบแม่มด จนเมื่อปฏิวัติความรู้สิ่งเหล่านี้จึงเลือนไป ซึ่งกับเมืองไทยแม้จะมีคอมพิวเตอร์ ไอที เทคโนโลยี แต่ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกหล่อหลอมให้มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ภาพคนยืนซื้อเครื่องราง-ของขลัง ก็น่าจะอธิบาย อะไร ๆ ได้เป็นอย่างดี
“จากเหตุการณ์บ้านเมือง หรือประสบการณ์รายบุคคล เมื่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ไม่สามารถอธิบายหรือมองเหตุการณ์เป็นระบบได้ ความเชื่อเหล่านี้ซึ่งมีถึง 40-50% ในสังคมไทย ก็พร้อมแทรกซึมเข้าในชีวิตประจำวันของคนไทยตลอดเวลา”...รศ.ดร.พรชัยระบุ
ทั้งนี้ การเชื่อถือศรัทธา “เครื่องราง-ของขลัง-วัตถุมงคล” ก็คง มิใช่เรื่องผิด และเป็นสิทธิส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม “พึ่งรัฐไม่ได้ แต่ท่าน จตุคาม-รามเทพพึ่งได้ ช่วยได้ ขออะไรก็ได้ ป้องกันอันตรายได้มากกว่าพึ่งพาตำรวจ ทหาร นี่เป็นค่านิยมที่ผิด หลักพุทธศาสนาคือหลักกรรม การกระทำ กรรมเป็นที่กำเนิด กรรมเป็นที่พึ่ง กรรมเป็นที่อาศัย นี่คือหลักธรรมที่ถูกต้องของพุทธศาสนา”...คำกล่าวของ พระมหาโชว์ ทัศนีโย ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ดังกล่าวนี้... ก็น่าจะได้พิจารณากัน
“สังคมไทยในปัจจุบันปัญญาทางพุทธศาสนาไม่เพิ่มพูน การปลุกเสกวัตถุมงคลต่าง ๆ ก็มีพระผู้ใหญ่ร่วมพิธี ซึ่งเป็นการชวนกันให้เข้ารกเข้าพง ขณะที่ฆราวาสผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองเมื่อถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนาแทนที่จะเป็นประธานเวียนเทียน ทำบุญ กลับไปตีกอล์ฟ หรือถ้าเข้าวัดก็เข้าไปหาเหรียญ สะเดาะเคราะห์ ดูดวง ต่อชะตาราศี ซึ่งสังคมไทยซึมซับกันแบบนี้มานาน”... พระมหาโชว์ระบุ พร้อมทั้งทิ้งท้ายด้วยว่า.....
“วันมาฆบูชาแล้ว วันสำคัญที่ประกาศธรรมนูญของพุทธศาสนา วันที่แสดงธรรมเทศนาครั้งแรก น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี พระสงฆ์ควรจะเป็นตัวอย่างในการเป็นทายาททางพุทธศาสนาที่ดี และผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เป็นชาวพุทธควรจะทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่จะเขียนใหม่ ควรจะให้ความสำคัญกับศีลธรรม จริยธรรม หลักศาสนา ไม่ควรให้ไปงมงายกับสิ่งต่าง ๆ”
...เป็นทิ้งท้ายน่าคิด...ในยุคธุรกิจของขลังโตกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท
...ใครกันที่ได้แน่ ๆ โดยไม่ต้องบนบาน...คงไม่ต้องบอก ?!?!?.
จาก "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์"
|