วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์ "มั่น" วิถี แห่ง ปี พ.ศ. 2482
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
จากปี พ.ศ. 2476 จนถึงปี พ.ศ. 2482 พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี จึงได้อาราธนาให้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินทางกลับอีสาน
เวลา 6 ปีที่อยู่เชียงใหม่และอยู่กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถือว่าคุ้มค่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำอบรมของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ต่อ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ที่ว่า
"จะพิจารณาให้เห็นอสุภหรือเห็นเป็นธาตุก็ได้ หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์หรือให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งนั้น แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะในเรื่องนั้นจริงๆ ตลอดอิริยาบถทั้งสี่ แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วก็จะหยุดเสียเมื่อไร จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว
สิ่งอื่นนอกนี้จะมาปรากฏชัดในที่เดียวกันดอก ท่านบอกว่าอย่าให้จิตมันรวมเข้าเป็นภวังค์ได้"
จากนั้น พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ก็เหมือนกับเริ่มต้นกัมมัฏฐานใหม่
จากปี พ.ศ. 2476 ที่ป่าเมี่ยง ดอยแม่ปั๋ง จนถึง ปี พ.ศ. 2482 ท่านเข้านมัสการ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดเจดีย์หลวงเพื่อลากลับภาคอีสาน
หนังสือ "อัตตโนประวัติ" ของ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี กล่าวถึงรายละเอียดการเข้าไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นอย่างเป็นภาคได้แจ่มชัด
ดังนี้
ก่อนจะกลับ เราได้ไปกราบนมัสการลาท่านอาจารย์มั่นซึ่งได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำขอร้องของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เช่นเดียวกัน แล้วเราได้อาราธนาให้ท่านกลับภาคอีสานอีกวาระหนึ่ง
คือ ก่อนเข้าพรรษาเราได้อาราธนาท่านครั้งหนึ่งแล้ว ท่านก็ปรารภว่า เจ้าคุณ พระธรรมเจดีย์ ก็มีหนังสือมานิมนต์เหมือนกัน
แท้จริงเราได้เคยทาบทามท่าน เห็นมีทีท่าว่าท่านจะกลับ เราจึงได้มีหนังสือแนะให้เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ มีหนังสือมานิมนต์ท่าน
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เมื่อเราย้ำว่า "แล้วท่านอาจารย์จะกลับไหม"
ท่านบอกว่า "ดูกาลก่อน"
แล้วกราบเรียนท่านว่า "ผมขอลากลับละ เพราะมาหาวิเวกทางนี้ก็เป็นเวลานานพอสมควร จะดีชั่วขนาดไหนก็พอจะพิสูจน์ตัวเองได้แล้ว"
แล้วเราก็ได้มีจดหมายเรียนเจ้าคุณ พระธรรมเจดีย์ อีกฉบับหนึ่ง
การเดินทางกลับครั้งนี้เขาให้เด็กคนหนึ่งมาเป็นเพื่อน ส่วนท่านอ่อนสียังอยู่ติดตามอาจารย์มั่นต่อไป
หากย้อนกลับไปอ่านหนังสือ "ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์" สำนวน พระญาณวิริยาจารย์ ก็ให้รายละเอียดที่มากยิ่งขึ้นไปอีก
นั่นก็คือ รายละเอียดที่ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี อยู่ใกล้ชิด พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
"ได้พยายามที่จะอาราธนาให้ท่านกลับทางภาคอีสาน เพื่อจะได้แนะนำธรรมปฏิบัติแก่คณะสงฆ์ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านจำนวนมากที่ไม่สามารถจะตามมาหาท่านที่เชียงใหม่นี้ได้ ท่านอาจารย์เทสก์ได้ชี้แจงเหตุผลต่างๆ
เป็นต้นว่า นับแต่ท่านอาจารย์ได้มาอยู่ที่ภาคเหนือถึงเป็นสิบๆ ปียังไม่ปรากฏว่ามีนักบวชชาวเหนือสนใจและตั้งใจปฏิบัติธรรมกับท่านอย่างจริงจังแม้แต่องค์เดียว มีแต่ท่านอาจารย์ปฏิบัติได้รับความวิเวกเฉพาะองค์เท่านั้น
และบัดนี้ก็เป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่ท่านอาจารย์ได้รับผลทางใจซึ่งจะกรุณาแก่นักปฏิบัติที่กำลังเอาจริงเอาจังอยู่ทางภาคอีสาน กระผมเองก็ยังคิดถึงหมู่คณะที่ควรจะได้รับอุบายการปฏิบัติของท่านอาจารย์และคิดว่าจะเป็นประโยชน์จริงๆ"
แม้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะไม่รับปากในทันที แต่เมื่อ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ประจักษ์ในท่าทีก็มีหนังสือถึง พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี อีกครั้งหนึ่ง
ออกพรรษาของปี พ.ศ. 2482 พระธรรมเจดีย์ ก็ขึ้นไปเชียงใหม่ด้วยตนเอง แล้วกราบอาราธนาให้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินทางกลับภาคอีสาน
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็รับปาก
จากวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้พักอยู่วัดบรมนิวาสระยะหนึ่ง
แม้ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) จะ "ล่วง" ไปแล้ว แต่ก็ได้พบกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) แทน
เป็นการพบและสนทนาธรรมอันเป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วยปัญญา
|