จตุคาม-รามเทพ : โดดร่มอย่าลืมร่ม!
เหรียญจตุคามรามเทพ
ตรงประตูทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ รอบองค์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช มีรูปปั้นเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาหลายองค์ แต่ที่โด่งดังคือองค์ที่อยู่ข้างประตูทิศตะวันออก มีจารึกระบุว่าเป็น "ท้าวขัตตุคาม" และทิศตะวันตกเป็น "ท้าวรามเทพ"
แต่สันนิษฐานว่าชื่อ "ขัตตุคาม" นั้น นอกจากหาคำแปลไม่ได้แล้ว ยังไปพ้องเสียงกับคำว่า "ขัด" ที่ฟังดูไม่ดี เมื่อมีการทำวัตถุมงคลตามความเชื่อว่าเทพเจ้าคู่นี้ จะอำนวยโชคลาภและความแคล้วคลาดกับผู้บูชา จึงกลายมาเป็น "จตุคาม-รามเทพ" ซึ่งฟังดูดีกว่าในทำนองว่าเป็นเทพผู้คุ้มครองทั้งจตุทิศ หรือ 4 ทิศ อีกทั้ง "รามเทพ" ก็คืออวตาร (การแบ่งภาคมาเกิด) ลำดับที่ 7 ของพระนารายณ์ เทพฮินดูผู้ปกป้องโลกและทรงมีสี่กร
ปรากฏการณ์ "จตุคาม-รามเทพ" ถือเรื่องแปลกก็ได้ ไม่แปลกก็ได้ในสังคมไทย ที่ว่าแปลกเพราะเป็นวัตถุบูชาเทพฮินดู แต่ปลุกเสกโดยพระในพุทธศาสนา ทั้งยังมีจำหน่ายในวัดของชาวพุทธเป็นดิบดี แต่ที่ว่าไม่แปลก เพราะแม้ในทางนิตินัย คนไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก แต่ในทางพฤตินัย มีคติฮินดูผสมกลมกลืนอยู่ในสังคมไทยมานานมาก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตราบจนวันนี้ เรายังเทิดทูนพระเจ้าแผ่นดินของเราในฐานะ "จุติเทพ" โดยเทพองค์นั้นคือพระราม หรือพระนารายณ์ เราจึงมีชื่อถนนและสะพาน "พระราม" ที่ 1 จนถึง 9 และเราจึงสร้างเรือพระที่นั่ง "นารายณ์ทรงสุบรรณ" ถวายในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
ย้อนลึกลงไปกว่านั้น ศาสนาพุทธกับฮินดูก็มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกันมาอย่างแยกไม่ออก องค์ศาสดาของชาวพุทธ คือเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทรงเป็นฮินดูมาก่อน ต่อมาชาวพุทธยังอ้างว่ามีเทพฮินดู คือพระพรหมกับพระอินทร์ รับรู้การตรัสรู้ หรือการรู้แจ้งในสัจธรรมของพระพุทธเจ้า ฝ่ายฮินดูจึงอ้างกลับว่าพระพุทธเจ้าคือองค์อวตารลำดับที่ 8 ของพระนารายณ์ นาม "พุทธาวตาร" ครั้นฝ่ายพุทธแตกตัวเป็นนิกายเถรวาทกับมหายาน ฝ่ายมหายานก็อ้างบ้าง ว่าพระนารายณ์รวมทั้งเทพเจ้าฮินดูทั้งหลาย ล้วนเป็น "พระโพธิสัตว์" คือผู้ที่พร้อมจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
ในสังคมที่พุทธมหายานกับฮินดูอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์เช่นเนปาล ชาวฮินดูก็สักการบูชาพระพุทธเจ้าในฐานะ "พุทธาวตาร" ชาวพุทธก็กราบไหว้เทพฮินดูในฐานะ "พระโพธิสัตว์" เกลียวกลมกันถึงขั้นมีการสร้างรูปเคารพที่ชาวพุทธเถรวาทเห็นแล้วต้องตะลึง นั่นคือศิวลึงค์ที่มีพระพุทธรูปประดับไว้ทั้งสี่ด้าน เรียกว่า "จตุรพุทธลึงค์" ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมเนปาล
เหรียญจตุคามรามเทพ
การมี "ท้าวขัตตุคาม-ท้าวรามเทพ" และทวยเทพของฮินดูประดับในมหาบูชาสถานของชาวพุทธอย่างพระบรมธาตุเมืองนคร อาจสะท้อนอิทธิพลของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่เคยแผ่มาถึงแผ่นดินนี้เมื่อหลายศตวรรษก่อน แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่า ปรากฏการณ์ "จตุคาม-รามเทพ" จะทรงพลังขนาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ ให้คึกคักโครมครืนด้วยตัวเลขเงินหมุนเวียนถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท!
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้จุดประกายความศักดิ์สิทธิ์ของ "จตุคาม-รามเทพ" นั่นคือ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจน้ำดี ผู้ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ทำประโยชน์ให้แผ่นดิน ไม่ยอมก้มหัวให้คนเลว ปราบโจรดังมานับไม่ถ้วน ทั้งยังเชื่อกันว่าท่านมีวิชาอาคม จึงได้สมญานาม "มือปราบขมังเวทย์" แล้วในที่สุด ตัวท่านก็ถูกยกให้เป็น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" เสียเองด้วย จนแทบไม่น่าเชื่อว่าต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงราว 4,000 นาย ในการควบคุมฝูงชนกว่าครึ่งแสน ที่แห่แหนกันไปร่วมงานพระราชทานเพลิงของท่าน ซึ่งล้วนแต่มุ่งหวังจะได้รับ "เหรียญขุนพันธ์" ไปสักการบูชาทั้งสิ้น
ความจริงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดโยงกับความดี ปรากฏให้เห็นมาแล้ว จากกรณีกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงปลุกกระแสความรักชาติ หวงแหนแผ่นดินถิ่นเกิด และยังทรงเป็นหมอยาพื้นบ้านที่มีเมตตาต่อคนจน พระองค์จึงมีสถานะเป็น "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ที่คนไทยกราบไหว้บูชา เช่นเดียวกับ "เจ้าเพชรราช" ราชนิกุลฝ่ายวังหน้าของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ทรงลุกขึ้นมาต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ร่วมสมัย "เสรีไทย" ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งยังร่ำลือกันว่าท่านมีวิชาอาคมขลังขนาดจัดการกับเสือกับจระเข้ได้ ทุกวันนี้ ชาวลาวจำนวนมากยังนับถือท่าน ถึงขั้นติดรูปท่านไว้ที่ประตู เหมือนยันต์กันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้มากรายกล้ำ
เห็นได้ชัดว่าทั้งบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ เป็นผลโดยตรงจากคุณความดีที่ทำไว้ ดังนั้น ถ้าห้อยเหรียญจตุคาม-รามเทพ แล้วนั่งงอมืองอเท้า รอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลโชคลาภ หรือห้อยเหรียญขุนพันธ์ แล้วตีหัวหมาด่าแม่เพื่อนไปทั่ว อุปมาก็ไม่ต่างจากคนในนิทานรอบกองไฟเรื่องที่ว่า มีเครื่องบินลำหนึ่งเกิดขัดข้องกลางอากาศ ผู้โดยสารต่างวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เช่น พระเยซู เจ้าแม่กวนอิม ฯลฯ แล้วกระโดดร่มลงไป แต่มีอยู่หนุ่มหนึ่ง สวดวิงวอนขอพรทั้งพระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหม แถมพระอินทร์และพระยม แล้วก็โดดลงไปโดยมิได้สวมร่มชูชีพ
แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น พระศิวะคิดว่าเดี๋ยวพระนารายณ์คงไปช่วยหนุ่มเคราะห์ร้ายนายนั้น พระนารายณ์ก็คิดว่าพระพรหม หรือไม่ก็พระอินทร์ต้องลงไปช่วยแน่ๆ ในที่สุด เรื่องราวเป็นอย่างไร คงคาดเดาได้ไม่ยาก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...กมฺมุนา วตฺตตี โลโก...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม พระพุทธองค์ทรงค้นพบสัจธรรมข้อนี้มานานกว่า 2,500 ปีแล้วนะ!
|