ยลโลหะปราสาทหนึ่งเดียวในโลก ที่ "วัดราชนัดดาฯ"
โลหะปราสาทหนึ่งเดียวในโลก ที่วัดราชนัดดา
ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นั้น นอกจากจะเป็นยุคที่เศรษฐกิจของประเทศสยามจะรุ่งเรืองสุดๆ แล้ว ก็ยังถือว่าเป็นยุคทองของการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกต่างหาก เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นจึงได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าอีกหลายวัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัดราชโอรสาราม วัดเทพธิดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และอีกมากมายหลายวัดซึ่งก็ล้วนแล้วแต่สวยงามต่างกันไป
สำหรับ "วัดราชนัดดาราม ราชวรวิหาร" ที่ฉันจะพามาชมในวันนี้ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2389 ในปลายรัชกาลของพระองค์
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณลานมหาเจษฎาบดินทร์
ส่วนเหตุที่วัดแห่งนี้มีชื่อว่าวัดราชนัดดา หรือแปลว่า หลานของพระมหากษัตริย์นั้นก็เนื่องจากว่าพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (ภายหลังทรงเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4)
บางคนคงจะทราบถึงพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 ว่า โปรดการสร้างวัดด้วยศิลปะแบบจีน คือมีจุดเด่นตรงที่หลังคาของโบสถ์หรือวิหารในส่วนที่เป็นหน้าบันนั้นจะเป็นแบบเรียบๆ ตัดส่วนที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ออกทั้งหมด แต่สำหรับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวัดราชนัดดารามนี้ก็ยังเป็นแบบไทย พระอุโบสถเป็นมีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกงดงาม ภายในประดิษฐานพระประธานพระนามว่า "พระเสฏฐตมมุนี" ส่วนพระวิหารก็เป็นศิลปะแบบไทยเช่นกัน ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระนามว่า "พระพุทธชุติธรรมนราสพ"
แต่สิ่งที่โดดเด่นของวัดราชนัดดารามที่ฉันตั้งใจจะพามาชมอย่างที่จั่วหัวเรื่องไว้ก็คือ "โลหะปราสาท" หนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวของโลกด้วย
อุโบสถวัดราชนัดดา
แม้จะเป็นโลหะปราสาทหนึ่งเดียวของโลก แต่โลหะปราสาทนี้ก็ไม่ได้เป็นหลังแรก เพราะก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ก็เคยมีการสร้างโลหะปราสาทมาแล้ว 2 หลังด้วยกัน หลังแรกก็คือปราสาทของนางวิสาขา บุตรีของธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย โดยได้สร้างโลหะปราสาทที่มีชื่อว่า "มิคารมาตุปราสาท" เพื่อถวายเป็นที่อยู่ให้แก่พระสงฆ์ มีลักษณะเป็นปราสาท 2 ชั้น มี 1,000 ห้อง ปัจจุบันโลหะปราสาทหลังนี้หักพังจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว
ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 2 ผู้สร้างคือพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราชปุระ ประเทศลังกา ทรงสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.382 โลหะปราสาทหลังนี้มี 9 ชั้น 1,000 ห้อง หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง สร้างให้พระภิกษุสงฆ์อยู่อาศัยเช่นกัน ภายหลังโลหะปราสาทนี้ได้ถูกไฟไหม้และถูกทำลาย จนตอนนี้เหลือเพียงซากปราสาท แต่ก็ยังเห็นความยิ่งใหญ่ของเสาหินถึงประมาณ 1,600 ต้นด้วยกัน
จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาทหลังที่ 3 นี้ขึ้นโดยมีพระราชประสงค์ ให้สร้างโลหะปราสาทขึ้นแทนการสร้างธรรมเจดีย์ อีกทั้งพระองค์ยังโปรดฯ ให้ช่างเดินทางไปดูแบบถึงยังประเทศลังกา และนำเค้าเดิมนั้นมาเป็นแบบสร้าง แล้วปรับปรุงให้เป็นศิลปกรรมแบบไทยเรา
ว่าเรื่องประวัติมาเสียยาว ฉันว่าเดินขึ้นไปดูด้านบนโลหะปราสาทพร้อมๆ กันเลยดีกว่า ก่อนหน้านี้โลหะปราสาทปิดซ่อมมานาน ก่อนจะเสร็จลงเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยดีนักเพราะฉันก็ยังเห็นช่างกำลังเคาะก๊อกๆ แก๊กๆ อยู่ด้านล่างกันอยู่เลย แต่ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วการสร้างโลหะปราสาทนี้ก็เพิ่งมาสำเร็จสมบูรณ์ในรัชกาลปัจจุบันนี่เอง โดยการก่อสร้างนั้นเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน โลหะปราสาทในตอนนั้นจึงมีเพียงโครงสร้างเท่านั้น
พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่บนโลหะปราสาท
และต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงได้มีการก่อสร้างต่อ จนมาเสร็จสิ้นจริงๆ จังๆ ในรัชกาลที่ 9 เป็นโลหะปราสาท 7 ชั้น (มองจากด้านนอกจะเห็นเป็น 3 ชั้น) มียอดปราสาท 37 ยอดด้วยกัน โดยที่ยอดปราสาทชั้นบนสุดนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ประชาชนขึ้นไปกราบไหว้
ยอดปราสาททั้ง 37 ยอดนั้นแทนความหมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ อันเป็นปัจจัยให้ดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นเข้าสู่นิพพาน ฉันขอขยายความหน่อยว่า โพธิปักขิยธรรม 37 ประการนั้นก็แยกได้เป็น สติปัฏฐาน 4 สัมมัปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และ มรรค 8
ตามความคิดของฉันในตอนแรกนั้น คิดว่าโลหะปราสาทคงจะต้องสร้างด้วยโลหะทั้งหลัง แต่เมื่อมาเห็นใกล้ๆ ก็ได้รู้ว่าส่วนที่เป็นโลหะนั้นก็คือส่วนของหลังคายอดปราสาททั้ง 37 ยอดนั่นเอง ซึ่งการที่มีส่วนประกอบหลักเป็นโลหะเช่นนี้ก็ทำให้ดูมีความขึงขัง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ขาดความอ่อนช้อยของศิลปะไทยไป
พระพุทธรูปปางต่างๆ ภายในโลหะปราสาท
พูดไปพูดมาก็ยังไม่ได้ขึ้นไปด้านบนกันเสียที ว่าแล้วก็เดินขึ้นบันไดเวียนไปข้างบนเลยดีกว่า โดยด้านบนปราสาทจะมีจุดให้แวะพักแวะชมตามชั้นต่างๆ เช่นมีระเบียงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ไว้รอบทั้ง 4 ด้าน ฉันแวะกราบพระที่นี่ก่อนจะขึ้นบันไดต่อไปด้านบน เพื่อไปชมวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครในมุมสูง แม้จะไม่สูงมากนักแต่ก็สามารถมองไปเห็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ริมถนนราชดำเนิน มองไปเห็นภูเขาทองสีเหลืองอร่าม และมองไปเห็นวัดสุทัศนเทพวราราม และเสาชิงช้าสีแดงเด่น
และเมื่อไต่บันไดขึ้นไปจนถึงชั้นบนสุด ก็จะได้พบกับพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในบุษบก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาประกอบพระราชพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ โลหะปราสาท เมื่อปี พ.ศ.2538 นี่เอง
ฉันกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและยืนชมวิวรับลมอยู่สักพักจึงไต่บันไดเวียนลงมาด้านล่าง เพื่อจะมายังอีกจุดหนึ่งใกล้ๆ วัดราชนัดดา นั่นก็คือ "ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์" ที่มองเห็นจากด้านบนเมื่อครู่
ทิวทัศน์มุมสูงเมื่อมองจากบนโลหะปราสาท
บริเวณลานพลับพลาฯ นี้มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ มีพลับพลาที่ประทับงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงออกรับแขกบ้านแขกเมือง และบริเวณลานยังตกแต่งด้วยดอกไม้ใบไม้ดูสดชื่น อีกทั้งด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ก็เป็นวัดราชนัดดา มีโลหะปราสาทตั้งเด่นอยู่ทางด้านขวา ทำให้ทัศนียภาพบริเวณลานพลับพลาฯ ที่มองจากด้านริมถนนราชดำเนินนั้นดูสวยงามเป็นอย่างมาก
แต่หลายคนที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณนี้มาเป็นเวลานานคงจะยังจำกันได้ว่า เมื่อก่อนไม่มีภาพแบบนี้ให้เห็นเหมือนในปัจจุบัน เนื่องจากถูกบดบังด้วยตึกรามบ้านช่อง รวมทั้ง "โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย" โรงภาพยนตร์ที่เป็นที่นิยมมากในสมัยก่อน แต่เพื่อเป็นการเปิดมุมมองอันสวยงามของโลหะปราสาทและวัดราชนัดดา จึงได้มีการรื้อตึกรวมทั้งโรงหนังแห่งนี้ออกไป เรียกว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง
แต่สิ่งที่ได้มานี้ฉันถือว่าคุ้มค่า เพราะช่วยให้วัดราชนัดดาและโลหะปราสาทได้เป็นจุดสนใจของผู้ที่ผ่านไปมา รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติด้วย ซึ่งจะทำให้โลหะปราสาทซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของไทย และหนึ่งเดียวในโลกนี้ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น
* * * * * * *
วัดราชนัดดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถนนมหาไชย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตรงข้ามป้อมมหากาฬ ด้านหลังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สามารถเดินขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุบนโลหะปราสาทได้ในเวลา 09.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2224-8807, 0-2225-5769
การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 2, 5, 12, 15, 35, 39, 42, 44, 47, 56, 59, 70, 503, 511, 512 ฯลฯ ผ่าน อีกทั้งยังสามารถนั่งเรือโดยสาร (คลองแสนแสบ) มาลงที่ท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศได้
|