ยลศิลปะสามผสาน ที่ "วัดโพธิ์แมน"
อุโบสถอันงดงามของวัดโพธิ์แมน
เป็นวัดจีนที่มีการผสมผสานของศิลปะแบบจีน-ไทย-ธิเบต ที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในวัดอื่นๆ ซึ่งวัดแห่งนั้นก็คือ "วัดโพธิ์แมนคุณาราม" หรือวัดโพธิ์แมน ในซอยสาธุประดิษฐ์ 19 นี่เอง
วัดโพธิ์แมน หรือที่เรียกเป็นภาษาจีนว่า "โพวมึ้งป่ออึงยี่" เป็นวัดจีนในพุทธศาสนานิกายมหายาน สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 โดยผู้สร้างวัดนี้ก็คือ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 6 เจ้าอาวาสรูปแรกเป็นผู้นำสร้าง พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่ศรัทธาก็ร่วมมือกันสร้างด้วย มาจนถึงวันนี้ก็นับอายุของวัดได้เกือบ 50 ปี แล้ว และเจ้าอาวาสปัจจุบันก็คือพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 7
แม้จะเป็นวัดจีนแต่ก็มีเสมาแบบไทย
ความโดดเด่นของวัดโพธิ์แมนคุณารามนี้ก็เป็นอย่างที่ฉันกล่าวไปแล้วว่า อยู่ที่สถาปัตยกรรมภายในวัดที่เป็นศิลปกรรมแบบจีน-ไทย-ธิเบต ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวงดงาม โดยพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) เจ้าอาวาสรูปแรกนั้นเป็นผู้ออกแบบสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดด้วยตนเอง จะงดงามแค่ไหนต้องลองไปชมกัน
จากซุ้มประตูใหญ่เดินเข้าไปสิ่งแรกที่จะเจอก็คือวิหารหน้า ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ด้านหน้าวิหารมีจารึกอักขระภาษาธิเบต ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรย์โพธิสัตว์ และพระเวทโพธิสัตว์ที่อยู่ด้านหลัง อีกทั้งยังมีท้าวจตุโลกบาลอยู่ประจำ 4 มุมของวิหารด้วย ท้าวจตุโลกบาลนี้ก็เรียกว่าเป็นมหาเทพผู้รักษาโลกและพระพุทธศาสนา ซึ่งวัดพุทธในประเทศจีนนิยมสร้างไว้ในวิหาร
พระพุทธวัชรโพธิคุณ พระประธานในพระอุโบสถ
ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 นั้นก็ได้แก่ ท้าวธตรฐมหาราช หรือธฤตราษฎระ (ถี่กกเทียงอ้วง) ทรงเครื่องทรงแบบขุนพลจีนโบราณ รูปกายสีแดง มือถือพิณ ส่วนท้าววิรุฬหกมหาราช หรือวิรูธกะ (เจงเชียงเทียงอ้วง) มีรูปกายสีขาว ถือร่ม องค์ถัดมาคือ ท้าววิรุฬปักข์มหาราช หรือวิรูปากษะ (ก่วงมักเทียงอ้วง) มีรูปกายสีดำ ถือกระบี่และงู และองค์สุดท้ายคือท้าวเวสสุวัณ (กุเวร) มหาราช หรือไวศรวณะ (ตอบุ๋งเทียงอ้วง) มีรูปกายสีเขียว ถือเจดีย์ไว้ในมือข้างหนึ่ง
สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิหารหน้าจนครบแล้ว ฉันเดินผ่านเข้าไปยังอุโบสถของวัดโพธิ์แมน ตอนนี้ละที่ฉันรู้สึกเหมือนผ่านเข้าไปในฉากหนังจีนอย่างไรอย่างนั้น เพราะนอกจากสถาปัตยกรรมและลวดลายแบบจีนของอุโบสถที่ตั้งอยู่ด้านหน้าแล้ว ก็ยังมีพระจีนในชุดจีวรสีส้มสดเดินผ่านไปเดินมาอีกต่างหาก แม้จะไม่มีการฝึกกำลังภายในกันที่ลานหน้าวัด แต่ก็พอจะได้บรรยากาศของสำนักเส้าหลินอยู่บ้าง
แต่ก่อนจะเข้าไปด้านในอุโบสถ ฉันขอชี้ชวนให้ชมความสวยงามด้านนอกเสียก่อน ลองเงยหน้าดูบนหลังคาโบสถ์ซึ่งเป็นหลังคาสามชั้นลดหลั่นกัน และบนหลังคาชั้นบนสุดมีเจดีย์ยอดฉัตรที่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ด้านล่างลงมายังมีตราธรรมจักร อีกทั้งยังมีกวางตัวเล็กตัวน้อยยืนอยู่ตามจุดต่างๆ บนหลังคาโบสถ์ การมีตราธรรมจักรและกวางนี้เองที่น่าจะเป็นส่วนผสมแบบไทย เพราะไม่ค่อยจะพบตราธรรมจักรและกวางในสถาปัตยกรรมแบบจีนเท่าไรนัก
และอย่าลืมสังเกตตราพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" ที่ประดิษฐานอยู่ที่หน้าบันของอุโบสถด้วย เพราะเป็นตราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธียกฉัตรเจดีย์พระอุโบสถนั่นเอง
สรีระของพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (เจ้าคุณโพธิ์แจ้ง)
ด้านนอกอุโบสถว่างามแล้ว แต่ฉันว่าด้านในก็งามไม่แพ้กัน เมื่อเดินขึ้นบันไดเข้าสู่พระอุโบสถก็จะได้พบพระประธานองค์ใหญ่ที่มีชื่อว่า "พระพุทธวัชรโพธิคุณ" ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระประธานองค์นี้สีทองอร่าม ด้านข้างเป็นเสาสีแดงสดมีมังกรสีทองพันตัวรอบเสาดูน่าเกรงขาม และเมื่อมองไปด้านบนหลังคา หากเพ่งมองดีๆ จะเห็นหมู่พระพุทธรูป 1,000 องค์ ประดิษฐานอยู่ด้านบนด้วย
ส่วนผนังด้านข้างของอุโบสถทั้งสองด้านยังประดับตกแต่งด้วยรูปพระอรหันต์ 500 รูปที่หากมองไกลๆ อาจจะดูเหมือนรูปวาดธรรมดา แต่เมื่อเดินมามองดูใกล้ๆ ก็จะรู้ว่าแท้จริงแล้วภาพนี้เป็นภาพโมเสกขนาดใหญ่สีสันสดใสสวยงามมากทีเดียว
ซุ้มประตูด้านหน้าวัดโพธิ์แมน
และที่ประทับใจฉันยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ขณะที่ฉันเข้าไปกราบพระประธานและชมสิ่งต่างๆ ในโบสถ์นั้น ก็เป็นเวลาเดียวกับที่พระสงฆ์เข้ามาสวดมนต์พอดี ฉันจึงได้โอกาสนั่งฟังบทสวดภาษาจีนที่ฟังดูแปลกหูไปจากบทสวดภาษาบาลีที่เคยได้ยินบ่อยๆ บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิกายจีนสวดนี้ฟังๆ ไปก็คล้ายกับการร้องเพลง เพราะมีเสียงสูงเสียงต่ำ แถมยังมีการตีกลองให้จังหวะเสียอีก ฟังแปลกหู แต่ก็สร้างสมาธิได้เหมือนกัน
เมื่อพระสวดเสร็จฉันจึงเดินออกมาด้านนอกอุโบสถอีกครั้ง แล้วก็สังเกตเห็นว่าที่วัดวัดโพธิ์แมนฯ แห่งนี้แม้จะเป็นวัดจีน แต่รอบอุโบสถของวัดก็ยังมีใบเสมาซึ่งแสดงถึงอาณาเขตของการทำสังฆกรรมแบบเดียวกับวัดไทย โดยมุมอุโบสถทั้ง 4 มุมจะมีใบเสมาหินอ่อนเหล่านี้อยู่ 2 ใบ ด้วยกัน ใบหนึ่งเป็นแกะสลักเป็นเครื่องหมายรูปวัชระธิเบต และอีกใบหนึ่งแกะสลักเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 เป็นการผสมผสานระหว่างจีน-ไทย-ธิเบตที่เห็นได้ชัดเจน
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดจีนแล้วก็ต้องมีเทพเจ้าต่างๆ ที่ชาวจีนเคารพนับถือ ซึ่งก็อยู่ด้านหลังโบสถ์นั่นเอง ที่นี่ฉันได้สักการะพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์ นอกจากนั้นที่ศาลาด้านหลังนี้ก็ยังมีสรีระของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโพธิ์แมนคุณาราม และผู้ออกแบบวัดที่ฉันกล่าวไปแล้วตอนต้น ให้สักการะกันด้วย
ภายในศาลาที่ประดิษฐานสรีระของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งนั้นก็ยังมีประวัติของท่านอย่างละเอียด ทำให้ฉันได้ทราบว่าท่านเป็นชาวจีน เกิดเมื่อ พ.ศ.2444 ที่เมืองเก๊กเอี๊ย มณฑลกวางตุ้ง เมื่อบวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์แล้วก็ได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม รวมทั้งเรียนรู้อรรถธรรมจากพระอาจารย์หลายท่าน จนนับได้ว่าเป็นปราชญ์และเป็นพระมหาเถระผู้มีเมตตาธรรมต่อประชาชนทั่วไป
หนึ่งในสี่ท้าวจตุโลกบาลภายในวิหารหน้า
ตลอดเวลาที่ท่านเป็นพระสงฆ์อยู่ในประเทศไทย ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ถึง 7 วาระด้วยกัน ซึ่งในอดีตยังไม่เคยมีปรากฏว่ามีพระสงฆ์จีนนิกายรูปใดที่ได้รับเกียรติสูงเช่นนี้มาก่อน โดยสมณศักดิ์สูงสุดของท่านก็คือพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ นั่นเอง
ที่นี่จึงนับเป็นวัดจีนในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกหนึ่งแห่ง แม้จะเลยเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว แต่ฉันเชื่อว่าหากได้มีโอกาสมากราบพระพร้อมกับชมศิลปะ จีน-ไทย-ธิเบต ที่วัดโพธิ์แมนคุณารามไปพร้อมกันแล้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
* * * * * * *
วัดโพธิ์แมนคุณาราม ตั้งอยู่ที่ 323 ถ.สาธุประดิษฐ์ ซอย 19 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 หรือสามารถเข้ามาทางซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 24 ได้ วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. สอบถามโทร.0-2211-7885, 0-2211-2363
|