น.พ.บัญชา พงษ์พานิช ความเชื่อ-แฟชั่น "จตุคามฯ"

น.พ.บัญชา พงษ์พานิช
เรื่องของ "จตุคามรามเทพ" ยังเป็นกระแสมาแรง ถึงขณะนี้ สร้างกันออกมาแล้ว กว่า 100 รุ่น
น.พ.บัญชา พงษ์พานิช นักประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ให้ความเห็นว่า นักสร้างวัตถุมงคล-พระเครื่อง ผนวกเชื่อมโยงความเป็นมาของจตุคามรามเทพ เข้าด้วยกันกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความขลังศักดิ์สิทธิ์ให้กับวัตถุมงคล
จากการได้ศึกษาข้อมูล โดยเฉพาะที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครศรีฯ พบว่าปรากฏชื่อของจตุคามรามเทพ ใน "วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์" ซึ่งเป็นวิหารหลักทางขึ้นห่มผ้าบูชาพระบรมธาตุ ที่มีงานประติมากรรมปูนปั้นฝีมือชั้นเยี่ยมของชาติ
งานประติมากรรม เป็นเรื่องราวการละโลกออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ และบรรดาท้าวผู้พิทักษ์รักษาพระบรมธาตุ กระทั่งพระนารายณ์และพรหมที่บานประตูจำหลักไม้ชิ้นเยี่ยมที่ปลายบันได
มีตำนานเล่าว่า พลิติและพลิมุ่ย สองเศรษฐีชาวลังกาได้รับคำสั่งพระเจ้ากรุงลังกาให้มาช่วยสร้างพระบรมธาตุที่เมืองนคร แต่เดินทางถึงช้าจึงสร้างวิหารนี้ขึ้น
ขณะกำลังสร้างนั้น บุตรชายสองคนชื่อ นายมดกับนายหมู เกิดทะเลาะกันเรื่องการชนไก่แล้วฆ่ากันตาย เศรษฐีจึงนำอัฐิบุตรมาตำเคล้าปูนแล้วปั้นเป็นรูปเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์และพระพุทธรูปไว้ในวิหารนี้ นิยมเรียกว่า วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ หรือวิหารพระม้า หรือวิหารพระทรงม้า
ภาพปูนปั้นเชิงบันไดทางตะวันออกเป็นของเก่าดั้งเดิมและวิจิตรกว่าทางทิศตะวันตกที่น่าจะทำขึ้นภายหลัง โดยช่างท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้าวจตุคามรามเทพและเหล่าพยนต์ผู้ปกปักรักษาพระบรมธาตุ เป็นงานปูนปั้นลอยตัวรายรอบเชิงบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ ซึ่งภาษาในตำนานระบุว่า "เจ้ากากภาษาผูกพยนต์ ด้วยเวทมนตร์คาถาเป็นยักษ์ ครุฑ นาค สิงห์ โค ม้า และช้าง"
ประกอบด้วย ยักษ์คู่ คือ ท้าวเวฬุราช และ ท้าวเวสสุวรรณ ครุฑคู่คือ ท้าววิรูปักษ์ และ ท้าววิรุฬหก นาคคู่คือ ท้าวธตรฐมหาราช และท้าวธตรฐราช
โดยยอดบันไดเป็นคู่ของ "ท้าวขัตตุคาม" และ "ท้าวรามเทพ" นั่งพิทักษ์อยู่
ตรงนี้ ถือว่ามีปรากฏชื่ออยู่จริงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และถูกนำมาผูกโยงใช้นำมาตั้งเป็นชื่อวัตถุมงคล

ขุนพันธรักษ์ราชเดช
น.พ.บัญชา กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างขุนพันธรักษ์ราชเดชกับจตุคามรามเทพ ว่า "เท่าที่ปรากฏตามหลักฐานข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีความเกี่ยวข้องในการสร้างจตุคามรามเทพเพียง 2 รุ่นเท่านั้น คือ จตุคามฯ รุ่นแรกและรุ่นเจดีย์ราย"
"แต่การถูกเชื่อมโยงเข้ากับจตุคามฯ ดังกล่าว อาจจะมาจากการที่ท่านขุนพันธฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า เคยปราบปรามโจรผู้ร้ายชื่อดังในอดีตมาแล้วมากมาย แม้ว่าโดยความเป็นจริงท่านขุนพันธฯ มิได้ชอบโอ้อวดสรรพวิชาคุณวิเศษใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยอุปนิสัยส่วนตัวของท่านชมชอบศึกษาด้านยาสมุนไพรมากกว่า"
ส่วนกระแสจตุคามรามเทพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน น.พ.บัญชา มองว่า จตุคามฯ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวัตถุมงคล ที่มีขนาดเหมาะแก่การห้อยคล้องแขวนคอไว้นอกเสื้อ และมีพุทธคุณแก่ผู้คล้องแขวนไว้แทบทุกด้าน แตกต่างจากพระเครื่องสมัยก่อน ที่จะมีพุทธคุณเฉพาะ อาทิ อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม เป็นต้น

จตุคามรามเทพ
ยกตัวอย่างเช่น พระขุนแผน เมตตามหาเสน่ห์, พระกริ่ง เสริมอำนาจบารมี เป็นต้น แต่สำหรับจตุคามรามเทพ ถูกระบุให้มีคุณครอบคลุมในทุกด้าน เรียกได้ว่า แขวนจตุคามฯ เพียงองค์เดียวพอแล้ว
กระแสจตุคามรามเทพฯ ทำให้เราได้มองเห็นถึงวิวัฒนาการของวัตถุมงคล ด้วยองค์จตุคามฯ นั้น หาได้เป็นพระหรือเป็นพุทธะ เป็นเทวดาหรือเทพเท่านั้น แต่ล่าสุดในระยะหลังองค์จตุคามฯ ได้รับการยกฐานะจากนักเล่นพระให้เป็นถึงองค์พระโพธิสัตว์ รวมไปถึงพิธีพุทธาภิเษก ล้วนได้รับการแปรเปลี่ยนให้เป็นพิธีเทวาภิเษก อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มิได้ทำให้คุณค่าแห่งจตุคามรามเทพฯ ลดน้อยลงแต่ประการใด กลับมีแต่เพิ่มขึ้นอย่างถึงที่สุด
นอกจากนี้ การเสาะแสวงหาองค์จตุคามฯ เพื่อมีไว้ในครอบครอง ยังสามารถจำแนกประเภทออกเป็น
1.ผู้ที่มีความเชื่อและศรัทธาในองค์จตุคามฯ อย่างแท้จริง และ
2.กระแสแฟชั่น สวมใส่ห้อยคอเพื่อความเท่หรือความสวยงาม มองดูด้านความงามของศิลปะมากกว่า

น.พ.บัญชา พงษ์พานิช - นักประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช
"ผมมองเรื่องของการนำจตุคามฯ มาห้อยคอ เป็นเรื่องของกระแสแฟชั่น ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเท่าที่เห็น คนส่วนใหญ่ห้อยจตุคามฯ ออกมานอกเสื้อ กลายเป็นแฟชั่นการคล้องจตุคามฯ แถมยังลุกลามไปถึงเด็กวัยรุ่น เด็กชั้นมัธยม เด็กอาชีวะ ที่นิยมคล้องใส่เป็นจำนวนมาก แทบจะกลายเป็นเครื่องประดับไปแล้ว
เด็กวัยรุ่นมองว่าใส่ห้อยคอ ทำให้เท่ ดูดี รวมทั้งมองข้ามเรื่ององค์จตุคามฯ แท้หรือไม่แท้ ผ่านพิธีกรรมหรือไม่ มิใช่เรื่องสำคัญ พวกกลุ่มวัยรุ่นมองเรื่องของความสวยงามเป็นด้านหลัก อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องไม่ง่ายที่เราจะพิสูจน์ว่าจตุคามฯ ที่เราคล้องคออยู่ เป็นของจริงหรือปลอม เพราะจตุคามฯ ไม่มีการตอกโค้ดหรือระบุหลักฐานดังเช่นวัตถุมงคลพระเครื่องชนิดอื่น" นักประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชกล่าว
น.พ.บัญชา แสดงทรรศนะต่อกระแสความนิยมจตุคามฯ ในเมืองนครศรีธรรมราช ว่า ด้วยเมืองนครฯ ถือเป็นต้นกำเนิดของจตุคามฯ ทำให้กระแสความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เรียกได้ว่าเมืองนครฯ มีความคึกคัก เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
จนมีคำกล่าวว่า จตุคามรามเทพกลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ประจำท้องถิ่นเมืองนครฯ ไปแล้ว
ปัจจุบัน มีการจำหน่ายรูปภาพองค์จตุคามฯ รูปขุนพันธรักษ์ราชเดช ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก ร้านค้าทองส่วนใหญ่ผนวกการจำหน่ายจตุคามรามเทพเข้ามาอีกด้วย รวมไปถึงการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไหว้ศาลหลักเมือง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยเฉพาะช่วงที่มีการจัดพิธีเทวาภิเษกองค์จตุคามฯ
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งไม่จีรัง องค์จตุคามรามเทพเมื่อพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด ย่อมหลีกไม่พ้นสัจธรรมความจริงที่จะต้องถึงจุดเสื่อม คาดว่ากระแสจตุคามฯ คงอยู่เพียงไม่นาน
5-10 ปี ทุกประการ คงเข้าสู่สภาวะปกติ
|