วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์ "มั่น" วิถี แห่ง กำหนด "จิต"
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
การเดินทางจากวัดเจดีย์หลวงมายังวัดบรมนิวาส มีเรื่องหลายเรื่องนำไปสู่การเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญ
อย่าลืมเป็นอันขาดว่าเป็นเส้นทางเดียวกันกับเมื่อปี 2471
จะแตกต่างกันก็เพียงแต่ว่าเมื่อปี 2471 ท่านเดินทางไปยังเชียงใหม่พร้อมกับ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)
แต่ในปี 2482 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินทางโดยไม่มี ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เพราะว่าท่านมรณภาพไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2475 นั้นแล้ว เป็นการมรณภาพที่ได้รับการจดจารบันทึกไว้ว่า เป็นการมรณภาพด้วยอิริยาบถนั่งด้วยอาการสงบ ปราศจากความกระวนกระวาย ณ ห้องกลาง กุฏิหอเขียว วัดบรมนิวาส
สิริรวมอายุได้ 77 ปี พรรษา 55
การเดินทางจากวัดเจดีย์หลวงมายังมหานครกรุงเทพฯและตรงไปพำนักยังวัดบรมนิวาสจึงเป็นเส้นทางสายกลับ โดยไม่มีท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) นั่งมาด้วย
ไม่มีอะไรพิสดารยอกย้อนในการเดินทางนอกจากจัดบริขาร 8 ของพระธุดงค์จะพึงมีเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จ
ขณะที่ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ได้ล่วงหน้ากลับมาก่อนแล้ว
กระนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็เล่ารายละเอียดการเดินทางครั้งนี้ให้ พระญาณวิริยาจารย์ ทราบว่า "ขณะโดยสารรถไฟเราได้พิจารณาไปด้วย ทำสมาธิเป็นการภายใน แม้จะพูดจะมองดูอะไรต่างๆ ก็ให้จิตเป็นสมาธิ มีสติ เราโดยสารรถไฟคราวนี้กำหนดจิตจนปรากฏว่าไม่มีอะไรเป็นรถไฟหรือตู้โบกี้ตู้ไหนมันกำลังวิ่งและกำลังเสียดสี มีเสียงอย่างไร ไปถึงไหน ไม่ปรากฏทั้งนั้น
จิตได้เข้าสู่ความปกติ การเดินทางเป็นวันเป็นคืนเหมือนชั่วขณะเดียวและสบายมาก มีความเบา หลังจากลงจากรถไฟแล้วก็ไม่เสียกำลัง ไม่ว่าจะอยู่บนรถไฟ หรืออยู่ใน ถ้ำ ที่เชียงดาว ทุกอย่างดำเนินไปเป็นปกติ"
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เมื่อเข้าพำนักที่วัดบรมนิวาส แม้ไม่มี ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) แต่ก็มี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นเจ้าอาวาสแทน
สมณะทั้ง 2 ต่างมีความเคารพต่อกันและกัน
สมณะทั้ง 2 ต่างเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีเช่นเดียวกัน และได้เคยรู้จักกันมาก่อนเป็นอย่างดี การสนทนาธรรมจึงดำเนินไปด้วยสันถวมิตรอันสนิทสนมยิ่ง เป็นการสนทนาธรรมในเชิงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ธรรม
วันหนึ่ง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ถามว่า
"เธอเข้าไปอยู่ในป่า ไม่มีตำรา จะหาธรรมที่ถูกต้องได้อย่างไร"
"ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา" เป็นคำตอบจาก พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จากนั้นก็อธิบายว่า
จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้น จะมองดูอะไรก็เป็นนิยายนิกธรรมทั้งสิ้น ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้องปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป
ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎกแต่ก็น้อมเอาสิ่งต่างๆ มาเป็นธรรมเป็นยอดพระไตรปิฎกได้ ยกตัวอย่างเช่น สังกิจจะสามเณรไปบิณฑบาตเห็นเขาไถนา เห็นเขาไขน้ำ นำเอามาเป็นอุบายจนเกิดปัญญา แล้วท่านก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะเหตุที่ท่านได้นำเอาดินที่ชาวนากำลังไถนามาเป็นอุบายว่า
ดินไม่มีใจ ทำไมเขาจึงนำเอาไปตามประสงค์ได้
น้ำไม่มีใจ ทำไมเขาจึงทำเอาตามประสงค์ได้
เรามีใจ ทำไมไม่ทำใจให้เป็นไปตามประสงค์
เพราะเหตุนั้น ธรรมจึงมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า มิใช่หรือ
ในปี 2482 นั้นเอง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พำนักอยู่วัดบรมนิวาส ระยะกาลหนึ่งก็เดินทางต่อไปยังวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา
เป็นวัดป่าสาลวันอัน พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นเจ้าอาวาส
ระหว่างปี 2483-2484 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวสน์ จังหวัดอุดรธานี
|