เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนหน้า ฝืนชะตาฟ้าลิขิต?!
จากเรื่องราวของนายแพทย์ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ที่เป็นเรื่องราวภายในครอบครัว แต่ตกเป็นที่สนใจของสาธารณชน เพราะความซับซ้อนและใคร่รู้ความจริง นอกจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จะติดตามแล้ว ยังมีผู้ที่ส่งข้อมูลของตัวละครในเรื่องนี้กระจายไปตามสื่อมวลชน และส่งต่อกันตามอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก
เปมิกา วีรชัชรักษิต เดิมเธอจะมีชื่อเสียงเรียงนามและหน้าตาที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเป็นอย่างไร เป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่ “ส่งต่อ” กันทางอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และได้รับการนำไปเสนอโดยสื่อมวลชน “หัวสี” ในที่สุด
เรื่องราวของนายแพทย์ประกิตเผ่า คนในครอบครัว เปมิกา คงต้องตกเป็นเป้าของสังคมอีกพักใหญ่
ที่สนใจ และน่าเก็บตกคือ ความเชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนชื่อ และการศัลยกรรมเปลี่ยนใบหน้า ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิต เช่นว่าทำให้ร่ำรวย ชีวิตดีขึ้น หรือช่วยเปลี่ยนโหงวเฮ้งน่ะ จริงหรือ?
เขา หรือ เธอ เหล่านี้ จึงเลือกเปลี่ยนตัวตนดั้งเดิม
ศาสตร์ที่หาคำตอบไม่ได้
ความเชื่อในศาสตร์ที่เป็นนามธรรม สัมผัสแตะต้องไม่ได้ อย่าง โหราศาสตร์ (การทำนาย ดูดวง) นามศาสตร์ (การตั้งชื่อทั้งหลาย) นรลักษณ์ศาสตร์ (โหงวเฮ้ง) ไม่ใช่เพียงในประเทศไทยเท่านั้นที่มีผู้สนใจศึกษา และมีผู้ที่พร้อมจะเชื่อ เพราะอย่างโหงวเฮ้ง การเรียกขานก็บ่งบอกที่มาอยู่แล้วว่าเป็นศาสตร์ที่มีจุดกำเนิดมาจากประเทศจีน ส่วนประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา เรื่องของการทำนายทายทักก็มีปรากฏอยู่เช่นกัน
เรื่องของการทายทักต่อให้คนที่ไม่เชื่อในศาสตร์เหล่านี้ด้วยความที่มีความเชื่อในทางวิทยาศาสตร์มากกว่า หรือไม่เชื่อด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็คงอดไม่ได้ที่จะเหลือบตาดูเรื่องเหล่านี้ การพยากรณ์ดวงตามหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ที่แม้ไม่เชื่อแต่ก็ลองอ่านดู หากถูกทักเรื่องโหงวเฮ้งที่ถึงไม่สนใจแต่ก็ฟัง
ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะคนเราเป็นผู้ที่อยากรู้ อยากเห็น บางทีเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ถ้าสร้างความกังวลให้ ก็ต้องหาความสบายใจใส่ตัว นี่เป็นสิ่งที่คนมีวิถีชีวิตปกติยังพอรู้สึก ก็แล้วผู้ที่อยู่ในระหว่างภาวะความบีบคั้นในชีวิต ความอยากมี อยากได้ ทำไมเขาถึงจะไม่ไขว่คว้าในทุกวิถีทางที่หวังจะให้ชีวิตดีขึ้น เปลี่ยนชีวิตไปได้อย่างที่ต้องการ
ศาสตร์ที่หาคำตอบไม่ได้ จึงเป็นอีกทางออกหนึ่งที่มีผู้พร้อมปฏิบัติตาม และที่เห็นกันบ่อยก็คือ การเปลี่ยนชื่อ แม้กระทั่งเปลี่ยนนามสกุล (โดยไม่ผ่านการแต่งงาน) เพื่อให้ต้องตามศาสตร์ที่ระบุถึงความเป็นมงคลในชีวิต ยิ่งเมื่อวิวัฒนาการของการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงใบหน้ามีมากขึ้น การทำศัลยกรรมโดยหวังในเรื่องการสร้างโหวงเฮ้งจึงเกิดตามมากขึ้นไปด้วย
นามศาสตร์
เดิมนั้นชื่อคนไทยทั่วๆ ไปตั้งแต่ยุคสุโขทัยมาจนถึงอยุธยา ธนบุรี จวบจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ล้วนเป็นคำไทยง่ายๆ พยางค์เดียวเสียส่วนใหญ่ แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็เริ่มปรากฏการตั้งชื่อของสามัญชน มีพยางค์มากขึ้นเป็นสองหรือสามพยางค์ มีภาษาอื่นมาปะปน เช่น ภาษาเขมร บาลี สันสกฤต หากก็ยังเป็นในกลุ่มขุนน้ำขุนนาง เสนาบดี จนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ชื่อของคนทั่วไปดูมีความวิจิตรมากขึ้น หรืออาจเป็นเพราะจำนวนผู้คนที่มากขึ้น จึงต้องตั้งชื่อให้แตกต่างออกมาเพื่อไม่ให้ซ้ำกับผู้อื่น
ความวิจิตรอาจจะมีมากเกินพอดี จึงมีพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 ได้ระบุถึงหลักเกณฑ์การตั้งชื่อขึ้น โดยหลักเกณฑ์การตั้งชื่อตัว และชื่อรอง มีดังนี้ ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม ต้องไม่เป็นคำหยาบหรือมีความหมายหยาบคาย ต้องไม่มีเจตนาในทางทุจริต ผู้ได้รับหรือเคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์โดยมิได้ถูกถอดจะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์เป็น ชื่อตัวจริง ชื่อรองก็ได้ ส่วนเกณฑ์การตั้งนามสกุล ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล
เมื่อชื่อกลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมา เพราะจะติดตัวไปตลอด หรือแม้กระทั่งยามลาจากโลกไปแล้ว ชื่อที่ดีเพราะการทำดีก็จะถูกจารจารึกไว้ในความทรงจำ ขณะเดียวกันชื่อของผู้กระทำความชั่วก็ถูกจารึกเช่นกัน จารึกว่าไม่สมควรนำไปตั้งเป็นชื่อลูกชื่อหลานสืบไป
การได้มาซึ่งชื่อ มีทั้งพ่อแม่เป็นผู้ตั้งให้ ซึ่งอาจมีแรงบันดาลใจทั้งจากการฝันในขณะตั้งครรภ์ หรือการเห็นพ้องต้องกันที่พ่อและแม่ต้องการให้ลูกของตนได้เป็นไปในอนาคต จึงไม่แปลกใจที่มีชื่อลูกชายอย่าง นักรบ กล้าหาญ เพราะพ่อเป็นทหารรับใช้ประเทศอย่างกล้าแข็ง หรือชื่อของลูกสาวที่ก็จะออกไปในทางสวยงาม เป็นกัลยาณีของตระกูลต่อไปในอนาคต หรือบ้างก็ให้พระ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพตั้งให้
ในยุคนี้การตั้งชื่อดูเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น พร้อมทั้งมีศาสตร์แห่งความเชื่อเข้ามาช่วย “นามศาสตร์” จึงมีผู้ศึกษาและพร้อมให้บริการกับผู้ที่ต้องการชื่อที่ต้องตามชะตาเวลาเกิดของตัวเอง หรือชื่อในทางที่จะเสริมชะตาชีวิต โดยหากมีการนำชื่อเก่าไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางนามศาสตร์วิเคราะห์แล้ว หากไม่เหมาะ ไม่ตรง หรือที่เรียกว่าเป็นกาลกิณีกับดวง ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนทันที
อาจารย์ปิยปราชญ์ วัจนะประสิทธิ์ โหราจารย์ประจำเว็บไซต์ Thaibabyname.com ได้ระบุนามศาสตร์เบื้องต้นที่ควรศึกษาก่อนตั้งชื่อ เปลี่ยนชื่อ ดังนี้...
ภูมิทักษา หลักภูมิทักษา หรือทักษาปกรณ์ หรือมหาทักษา นั้นเป็นหลักการตั้งชื่อที่เป็นที่นิยมมาตั้งแต่โบราณ เพราะเข้าใจได้ง่าย เพียงอาศัยวันเกิดเป็นหลักในการตั้งชื่อ โดยเชื่อกันว่ามนุษย์ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ เรียกว่า ทักษา โดยมีประจำตัวอยู่กันทุกคน ซึ่งทักษาเหล่านั้นจะส่งผลให้คนแต่ละคนมีความเป็นอยู่ และอำนาจวาสนาแตกต่างกันไปตามกำลังของดาวแต่ละดวง ทักษาประกอบด้วย บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี กาลกิณี ซึ่งในภูมิแต่ละภูมิของทักษามีอักษรประจำทักษาอยู่ การตั้งชื่อตามหลักภูมิทักษานั้นเป็นพื้นฐานของการตั้งชื่อที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง
เลขศาสตร์ กล่าวกันว่าในแต่ละอักษรต่างมีค่าตัวเลข หรือกำลังประจำอักษร เมื่อนำมารวมกันจะได้ค่าต่างๆ ซึ่งมีความหมายดีร้ายต่างกัน หลักการตั้งชื่อตามเลขศาสตร์จึงถูกนำมาใช้ประกอบในการตั้งชื่ออยู่เสมอ โดยหลักเลขศาสตร์นี้สามารถใช้ได้กับทั้งการตั้งชื่อ และนามสกุล เพราะนอกจากการตั้งชื่อให้มีกำลังของเลขที่ดีแล้ว การตั้งนามสกุล และผลรวมของชื่อกับนามสกุลให้มีกำลังเลขที่ดีก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้นการใช้หลักเลขศาสตร์ตรวจสอบชื่อจะช่วยให้ได้ชื่อที่ดีมากยิ่งขึ้น
อายตนะ 6 กล่าวว่า มนุษย์เรามีประสาทสัมผัส 6 อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ความรู้สึก อันส่งผลถึงบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยใจคอของคนผู้นั้น อายตนะ 6 ของแต่ละบุคคลสามารถถอดค่าตัวเลขได้จากกำลังดาวของแต่ละตัวอักษรที่อยู่ในชื่อ นำมาคำนวณเพื่อให้ได้ตัวเลขอันจะบ่งบอกถึงอายตนะ 6 ของบุคคลนั้นๆ
นรลักษณ์ศาสตร์
จากที่กล่าวในขั้นต้นว่า นรลักษณ์ศาสตร์ เป็นศาสตร์จากเมืองจีนที่เรียกว่าโหงวเฮ้ง ศึกษากันมานับพันๆ ปี สำหรับประเทศไทยผู้สนใจในวิชานี้เริ่มมีมากขึ้น และในชั้นหลังถึงขั้นว่าการรับสมัครคนเข้าทำงานของหลายบริษัท จะให้ผู้ที่ดูโหงวเฮ้งเป็นได้พิจารณาในชั้นต้นว่าควรรับบุคคลนั้นมาร่วมงานด้วยหรือไม่ โหงวเฮ้งมีทั้งเรื่องความเชื่อ และวิทยาศาสตร์อยู่ด้วย เพราะจุดเริ่มต้นของตำราคือการสังเกต และเก็บสถิติจากใบหน้าผู้เฉลียวฉลาด ประสบความสำเร็จในชีวิต จนเกิดเป็นตำราขึ้นมา
อาจารย์รุ่งนภา อังคะศิริกุล ผู้ศึกษานรลักษณ์ศาสตร์ สรุปเรื่องของวิชานี้ว่า โหงวเฮ้งเป็นวิชาที่ว่าด้วยการดูลักษณะของบุคคลทั่วๆ ไปทุกชนชั้น ทุกวรรณะ โหงวเฮ้งดี ไม่ได้แปลว่าสวยหรือหล่อ ภาษาไทยเรียกวิชานี้ว่า “นรลักษณ์ศาสตร์” ภาษาจีน เรียกว่า “โหงวเฮ้ง” แปลว่าการพิจารณาดูจากลักษณะทั้ง 5 ประการ ซึ่งได้แก่ อวัยวะทั้ง 5 คิ้ว หู ตา จมูก ปาก ภูเขาทั้ง 5 ได้แก่ หน้าผาก จมูก โหนกแก้มซ้าย โหนกแก้มขวา ปลายคาง ห้าสั้น ห้ายาว ได้แก่ ใบหน้า เรือนร่าง ศีรษะ แขน ขา ธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ธาตุทอง ธาตุน้ำ ธาตุไม้ ธาตุไฟ ธาตุดิน
วิชาโหงวเฮ้งยังเป็นการศึกษาโครงร่างกายของมนุษย์ เช่น กระดูก หน้าตา มือเท้า ผิวพรรณ เส้น ไฝ เสียง รอยตำหนิจากแผลแตกแผลเป็น อิริยาบทต่างๆ เช่น การเดิน ลุก นั่ง ยืน นอน หลับ รับประทานอาหาร ตลอดจนการฟังน้ำเสียง การอ่านราศีจากใบหน้า ฯลฯ เป็นต้น ที่กล่าวมานี้ เพื่อให้ทราบถึงฐานะ ชาติตระกูล อุปนิสัยใจคอ ความขยัน กล้าหาญ อดทน หนักแน่น ความรับผิดชอบ ความสำเร็จของบุคคลนั้นว่ามีมากน้อยเพียงใด และยังดูถึงสุขภาพของคนผู้นั้นได้ด้วย
“การดูโหงวเฮ้งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จ เช่น การคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานได้ตรงตามลักษณะงาน การเลือกผู้ร่วมลงทุน หุ้นส่วน การเลือกคู่ครอง การเลือกคบเพื่อนที่รู้ใจ การหลบหลีกระมัดระวังกับคนบางประเภท และยังมีส่วนสำคัญให้เราได้รู้จักกับตัวเองว่ามีข้อดีข้อเสีย หากเป็นข้อดีก็จะได้นำมาใช้ประโยชน์ ถ้าเป็นข้อเสียก็จะได้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างไม่ร้าวรันทด” อาจารย์รุ่งนภาทิ้งท้าย
ผู้ที่ไม่ตกต้องตามตำราว่ามีโหงวเฮ้งดี ทำสิ่งใดให้รู้สึกตกอับ ติดขัดไปหมด จึงอยากขอเปลี่ยนลิขิตชะตาตรงนี้ โดยอาศัยศัลยกรรมเข้าช่วย ส่วนใหญ่ก็อาจเปลี่ยนแปลงนิดๆ หน่อยๆ เพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตจากคนรอบข้างมากนัก แต่ในผู้ที่ใบหน้าดูเปลี่ยนไปเลย แล้วชีวิตเขาดูดีขึ้นด้วยหรือไม่ ก็คงต้องอาศัยระยะเวลาที่จะเป็นสิ่งบ่งบอก
ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงจะเปลี่ยนชื่อจนดูวิจิตร ไม่มีกาลกิณีแม้ในอักษร สระ หรือวรรณยุกต์ ใบหน้าจะถูกเปลี่ยนไปเป็นตามตำราที่ว่าดี แต่ถ้าบุคคลผู้นั้นไม่ตั้งมั่นอยู่ในความดี ทั้งกาย วาจา ใจ การประพฤติปฏิบัติ ต่อให้ร้อยนามศาสตร์ พันนรลักษณ์จากใบมีดหมอ ก็คงไม่อาจเปลี่ยนธาตุแท้ที่ฝังลึกในจิตใจได้หรอกนะ... จะบอกให้
|