เปิดโลกจินตนาการ เล่าขานธรรมะ กับ ‘นิทานพระพุทธเจ้า’
แน่นอนว่า ‘เด็ก’ เปรียบดั่งผ้าขาวผืนบางๆ ที่รอให้ผู้ใหญ่ลงมือละเลงแต่งแต้มสีสันให้ และแม้เลือกได้ทุกคนต่างต้องการสีสันที่สวยงามน่ามอง น่าสัมผัสด้วยกันทั้งสิ้น ทว่าในสภาวะสังคมเฉกเช่นปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าผ้าขาวเหล่านั้นกลับต้องเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปด้วยสีที่ไม่พึงปรารถนา บ้างก็ถูกระบายด้วยความมิได้ตั้งใจ นี่จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายควรหันกลับมาคำนึงถึงความสำคัญ
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี
สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนนึกถึงที่เป็นเครื่องมือในการขัดเกลาจิตใจมนุษย์ได้ดีคือหลักธรรมคำสอนตามหลักศาสนา ที่ไม่ว่าจะศาสนาใดล้วนแล้วแต่มีหลักคำสอนใหญ่ไม่ต่างกันนั่นคือสอนให้ทุกคนเป็นคนดี แต่เมื่อเอ่ยถึงวิชาพระพุทธศาสนาแล้วมีเด็กไม่น้อยเลยที่พากันเบือนหน้าหนีด้วยความเบื่อหน่าย นี่จึงเป็นโจทย์ที่ควรเร่งหาคำตอบอย่างยิ่งว่าเพราะเหตุใด และจะทำเช่นไรให้เด็กๆหันมายิ้มรับทุกคราที่ได้ยินคำว่า ‘ธรรมะ’
ธรรมะนั้นมีคุณูปการยิ่งต่อคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะวัยเด็กเนื่องด้วยเป็นวัยที่พัฒนาการเรียนรู้และซึมซับได้เร็ว ดังนั้นสิ่งสำคัญคือผู้ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวให้แก่เขา นอกจากพ่อแม่ที่ใกล้ชิดที่สุดแล้วคงจะหนีไม่พ้นครูผู้สอนที่เปรียบเสมือนแม่คนที่สอง
อาจารย์อุทมพร มุลพรม
อาจารย์อุทมพร มุลพรม อดีตอาจารย์โรงเรียนบางมดวิทยา ซึ่งถือเป็นคุณครูต้นแบบวิชาพุทธศาสนาผู้ทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุกและตื่นเต้นเล่าว่าหน้าที่ของครูคือการให้การศึกษาแก่ลูกศิษย์ แต่ครูต้องมีความรู้และเข้าใจถึงเรื่องที่จะสอนอย่างถ่องแท้เสียก่อนจึงจะไปสอนให้เด็กเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้ อย่างเช่นวิชาพระพุทธศาสนา ส่วนตัวพอได้รับหน้าที่ให้สอนในวิชาพระพุทธศาสนาจึงมองว่าตนควรปฏิบัติให้ได้เสียก่อนจึงจะไปสอนเด็กได้ โดยเริ่มจากการถือศีล 5 ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพุทธศาสนิกชนที่สุด
แล้วจึงค่อยๆไต่เต้าทำไปทีละขั้นตอนกระทั่งสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างเคร่งครัดตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
นอกจากการยึดถือตามแนวทางพุทธศาสนิกชนที่ดีแล้ว สิ่งที่จะทำให้นักเรียนหันมาใส่ใจวิชาพุทธศาสนาอย่างจริงจังนั่นคือสื่อการเรียนการสอน ซึ่งตนได้คิดค้นสื่อต่างๆขึ้นมา และสามารถเบนความสนใจของลูกศิษย์จากที่เป็นวิชาที่น่าเบื่อ จนกลายเป็นวิชาที่เด็กทุกคนชื่นชอบเพราะธรรมะสำหรับเด็กแล้วต้องเป็นเรื่องง่ายๆ ตามความต้องการของวัย เหมือนอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นสิ่งที่บริโภคง่าย แล้วยังต้องสนุก เร้าใจ
ริสรวล อร่ามเจริญ
“เมื่อก่อนครูต้องคิดริเริ่มผลิตสื่อขึ้นมาเองสำหรับสอนเด็ก เพื่อทำให้เด็กเห็นภาพและเกิดจินตนาการ ทำให้เรื่องเล่ามีชีวิต เพราะการนำธรรมะเข้ามาสอนเด็กต้องมีสื่อจับต้องได้เป็นรูปธรรม ครูต้องคลุกคลีและพยายามแทรกเข้าไปในโลกของเด็ก ซึ่งเด็กจำเป็นต้องเรียนพุทธศาสนาให้มาก เหมือนบ้านที่ต้องตอกเสาเข็ม ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูที่จะปลูกกล้าเล็กๆ เหล่านี้ ต้องสอนพุทธศาสนาให้เกิดการนำไปขบคิด หากคนเราไม่สนใจศาสนาที่นับถือ ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวิบัติแน่ เด็กวันนี้เป็นผู้ใหญ่วันหน้า ส่วนผู้ใหญ่กลายเป็นผี จึงต้องปลูกฝังให้เด็กเยาวชนเป็นคนดี เชื่อแน่ว่าถ้าทุกคนช่วยกันสักวันหนึ่งคงถึงเส้นชัย ดังนั้น เราจึงควรช่วยกันสอนพุทธศาสนา สอนคุณธรรม ให้เขาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ”
หนังสือนิทาน “ชุด การผจญภัยของพระพุทธเจ้า”
ด้านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี วัดเบญจมบพิตรบอกว่าธรรมะเปรียบสะเหมือนสะพานที่ทำให้เด็กก้าวจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งที่ไม่ดีไปสู่ฝั่งที่ดีกว่า รวมไปถึงการเป็นราวสะพานให้สามารถก้ามข้ามไปถึงฝั่งหมายโดยสวัสดิ์ภาพ ซึ่งการปฏิบัติธรรมะนั้นถือเป็นเรื่องที่สวนทางกับกิเลสเพราะกิเลสเป็นสิ่งที่มีติดตัวกับมนุษย์ทุกคน ดังนั้นถ้าเราสามารถปฏิบัติธรรมะได้ง่ายๆ ทุกวันนี้คงมีพระอรหันต์เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ฉะนั้นหากเราสามารถเดินสวนทางกับกิเลสกระทั่งเกิดความเคยชินก็จะทำให้เกิดการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
โดยเฉพาะการเริ่มปลูกฝังธรรมะให้แก่เด็กๆนั้นถือเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งเพราะถ้าเด็กได้เรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อยจะซึมซับได้เร็วและติดตัวไปจนโต
แต่การสอนคุณธรรมให้แก่เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่นั้นใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่าย นั่นเพราะปัจจุบันมีสิ่งยั่วยุนานาประการเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งท่าน ว.วชิรเมธีให้มุมมองที่ชวนคิดและปฏิบัติตามว่าเรื่องราวของพุทธศาสนาจะเป็นกุศโลบายที่ทำให้เด็กเข้าถึงหลักธรรมและคุณธรรมได้อย่างแยบยลที่สุดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีล้าสมัยและสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้ชีวิตอยู่อย่างมีความสงบสุขได้ แต่สิ่งสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นต้องมียุทธศาสตร์ เปรียบเสมือนการสู้รบในลักษณะการตั้งกองทัพหลวงจะตีที่ไหนก่อนก็มีสิทธิ์ชนะ ทุกวันนี้หลายหน่วยงานต่างคนต่างทำมันก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นอันดับแรกที่ต้องทำคือการวางยุทธศาสตร์
หนังสือนิทาน “ชุด การผจญภัยของพระพุทธเจ้า”
“สำหรับเด็กควรเริ่มปลูกฝังให้เขาตั้งแต่ระดับอนุบาล แต่ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วสอนว่าต้องปลูกฝังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เราจะปลูกฝังอะไรให้เด็กควรหันมาสนใจว่าจะให้อะไรแก่เขาบ้างต้องคำนึงถึงให้มากเพื่อเด็กจะได้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะที่เจริญงอกงามต่อไป ขึ้นชื่อว่าเด็กแล้วไม่ว่าจะเป็นอย่างไรเราก็สามารถสอนให้เขาเป็นคนดีได้ คนที่มืดที่สุด ต่ำที่สุดเมื่อได้พบกับธรรมะก็สามารถพบกับทางสว่างได้เสมอ ดังนั้นหากจะสร้างคนอย่าได้สร้างให้เขาเป็นแค่คนร่ำรวยเพราะอาจยิ่งเป็นหนทางฉุดให้โลกต่ำลงได้ ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่คำตอบที่โลกต้องการ ฉะนั้นควรสร้างคนดีถึงจะช่วยสร้างโลกได้”
หนังสือนิทาน “ชุด การผจญภัยของพระพุทธเจ้า”
แน่นอนว่าสื่อที่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายที่สุดก็คือของเล่น รวมไปถึงการเล่านิทาน ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กๆชื่นชอบกันทั้งสิ้น ซึ่งริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัดในฐานะผู้ผลิตและจำหน่าย หนังสือนิทาน “ชุด การผจญภัยของพระพุทธเจ้า”บอกกับเราถึงที่มาของหนังสือชุดนี้ว่า มีความตั้งใจที่จะจัดทำหนังสือนิทานธรรมะสำหรับเด็กมานานแล้ว จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจาก ท่าน ว.วชิรเมธี ให้นำบทสวดมนต์คาถาพาหุง ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “พุทธชัยมงคลคาถา”
ซึ่งเป็นคาถาที่ว่าด้วยชัยชนะอันเป็นมงคลทั้งแปดประการของพระพุทธเจ้าที่มีต่อมนุษย์และอมนุษย์มาแปลงเป็นเนื้อหานิทานธรรมะเพราะเป็นบทสวดมนต์ที่มีคุณค่าและจะช่วยส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี จึงได้แปลบทสวดมนต์เป็นภาษาที่ใช้สำหรับหนังสือนิทาน พร้อมเขียนภาพประกอบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด จัดทำออกมาเป็นหนังสือ “ชุด การผจญภัยของพระพุทธเจ้า” ซึ่งมีทั้งหมด 8 เรื่อง ได้แก่ เรื่องพญามาร เรื่องยักษ์กินคน เรื่องช้างตกมัน เรื่องมหาโจรองคุลิมาร เรื่องสาวงามเจ้าเล่ห์ เรื่องปราชญ์ต่างลัทธิ เรื่องพญานาคมากฤทธิ์ และเรื่องพรหมผู้หลงผิด
หนังสือนิทาน “ชุด การผจญภัยของพระพุทธเจ้า”
จุดเด่นของหนังสือนิทานธรรมะชุดนี้ คือ ทุกเล่มมีการวาดภาพประกอบอย่างสวยงามทำให้น่าอ่าน และในหน้าสุดท้ายจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางต่างๆ และข้อธรรมะที่ปรากฏในนิทานเรื่องนั้น เพื่อให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองได้ทบทวนสรุปข้อธรรมะให้บุตร-หลาน ฟังย้ำให้เข้าใจดีขึ้น หลังจากเล่านิทานจบแล้ว
|