สื่อ ‘ธรรมะ’ พร้อมเสิร์ฟ ... เพื่อชีวิตยุคดิจิตอล
ครั้งหนึ่งเราอาจคิดว่าธรรมะนั้นเป็นเสมือนยาขม เป็นเรื่องน่าเบื่อ เป็นเรื่องเชยเฉิ่ม แค่ได้ยินก็พากันร้องยี้!!! หรือคุณจะกล้าปฏิเสธ เพราะอย่างน้อยสมัยเรียนประถม มัธยม กระทั่งมหาวิทยาลัย พอถึงชั่วโมงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ คุณธรรม หรือพระพุทธศาสนาทีไร ความกระตือรือร้นในตัวคุณดูเหมือนจะถูกเหวี่ยงทิ้งลงข้างทางไปแล้วครึ่งหนึ่ง
แต่ ณ เวลานี้ สิ่งที่เราคิดต่างๆ นานาว่าธรรมะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างโน้น ดูเหมือนจะไม่ใช่เสียแล้ว เมื่อรูปแบบในการนำเสนอแก่นแท้แห่งคำสอนในพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นแค่หนังสือเล่มหนาๆ ในนั้นเต็มไปด้วยตัวอักษรยาวพืด เห็นแล้วก็ชวนหลับมากกว่าจะซึมซับข้อคิดดีๆ ก็กลายมาเป็นธรรมะในรูปแบบที่ไฉไลและทันสมัย เหมาะกับการเสพเพื่อก่อเกิดเป็นปัญญาอันเบิกบานในหัวใจของผู้คน
เมื่อคืนวันพุธ (14 มีนาคม) มีโอกาสนั่งดูทอล์กโชว์วาไรตีทางโทรทัศน์รายการหนึ่ง ซึ่งมีการเชิญนักแสดงมาเล่าประสบการณ์ผีที่เจอกับตัว น่ากลัว แต่ก็ได้ความตื่นเต้น ทว่าพอถึงเบรกสุดท้ายดีกรีความตื่นเต้นก็กลับมีมากขึ้นเป็นทวี ไม่ใช่ผีโผล่มาตัวเป็นๆ ให้เห็นหรอก แต่เพราะคืนนั้นมีการปรากฏตัวของพระมหาสมปอง ตาลปุตโต ที่มาพร้อมวิธีการสอนธรรมะแบบเสพง่าย ย่อยง่าย แถมยังสนุกด้วย นั่นต่างหากที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้
พระมหาสมปอง ตาลปุตโต ถือเป็นสื่อบุคคลที่มุ่งสอนหลักธรรมะกับผู้คนทั่วไปที่กำลังถูกกล่าวขวัญอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ต่างก็โดนใจกับการนำเสนอของท่าน ซึ่งได้ขยับธรรมะเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตของคน พ.ศ.นี้ ที่กำลังถูกมองว่าห่างไกลธรรมะเข้าไปทุกที ด้วยแนวคิดที่ว่าธรรมะนั้นมีสาระแล้วก็ต้องให้ความบันเทิงในเวลาเดียวกัน
หากพูดถึงสื่อบุคคลแล้ว ไม่เพียงแต่พระอาจารย์สมปองเท่านั้นที่ทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยม พระนักเทศน์ท่านอื่นๆ ก็มีบทบาทสำคัญในการจะนำหลักธรรมะเข้าไปสู่หัวใจของคนไทยด้วยเช่นกัน อย่างพระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ แห่งวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี เวลาที่ท่านขึ้นเทศน์ก็มักใช้สูตรสำเร็จตามแบบฉบับของตัวเอง คือแทรกอารมณ์ขันผสมผสานจนกลายเป็นธรรมะสนุกได้ในคราวเดียวกัน พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน คือเน้นนำหลักธรรมคำสอนแล้วต่อท้ายด้วยความสุขสนุกเป็นของแถม เพื่อให้บรรยากาศการเรียนรู้ธรรมะไม่น่าเบื่อ หรือแม้แต่แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่มีผู้คนให้ความศรัทธาในฐานะหญิงแกร่งที่นำธรรมะมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแห่งเสถียรธรรมสถาน ก็มีวิธีการน้อมนำให้ผู้คนหันมาสนใจธรรมะด้วยกุศโลบายที่ทั้งได้สาระและบันเทิงควบคู่กันไป
อย่างไรก็ดี ในยุคที่ชีวิตมีแต่ความทันสมัยและต้องการความฉับไว การที่จะให้ธรรมะเข้าไปถึงหัวใจของผู้คนได้ สื่อบุคคลเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องมีรูปแบบอื่นที่พร้อมเสิร์ฟถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน โดยไม่ต้องเสียเวลารอให้ถึงวันพระแล้วจึงจะเข้าวัด หรือรอตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อมานั่งดูโทรทัศน์ฟังวิทยุทุกๆ วันอาทิตย์
สื่อธรรมะยุคใหม่เท่าที่เราสำรวจมาพบว่ามีหลากหลาย มีทั้งการ์ตูนเล่ม แอนิเมชัน บทเพลง มิวสิกวิดีโอ รายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ และนิตยสาร แต่หากเทียบกับความบันเทิงเริงรมย์ที่เห็นกันเกลื่อนก่นในสื่อแขนงต่างๆ ก็ยังมีผู้ผลิตน้อยมาก ซึ่งแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต มองว่าเป็นเพราะผู้คนได้ถูกปลูกฝังให้เห็นความสำคัญเรื่องนี้เป็นอันดับท้ายๆ ทั้งๆ ที่ธรรมะคือเรื่องพื้นฐานสำคัญของชีวิต
“คนเราจะเข้าหาธรรมะก็ต่อเมื่อชีวิตมีความทุกข์ เวลาที่ชีวิตปกติสุขดีไม่นึกถึงธรรมะหรอก พอเข้ามาเรียนรู้ธรรมะแล้วชีวิตก็หายจากความเป็นทุกข์ เหมือนภาวะของคนหิวนั่นล่ะ พอหิวก็ต้องกิน แต่จะให้กินอะไรล่ะที่เหมาะกับตัวเอง ถ้าไม่ใช่สิ่งที่พูดถึงชีวิตและจิตใจอย่างธรรมะ”
ขณะที่ผู้ผลิตวีซีดีแอนิเมชัน “ชวนคิดชวนขัน ฮามันส์ๆ กับพระพยอม” สานิต พูลสวัสดิ์ กรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล อิมเมจิ้น เวิร์ค ก็มองเรื่องนี้คล้ายๆ กัน โดยคนรู้จักธรรมะเพียงผิวเผิน รู้ว่าทำผิด แต่ไม่รู้ว่าผิดข้อไหน และต้องปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากไม่เคยถูกปลูกฝังให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง
สำหรับสื่อที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับหลักธรรมที่ถือเป็นเจ้าแรกๆ ของเมืองไทย อีกทั้งยังคงยืนหยัดท่ามกลางการแข่งขันอันเข้มงวดได้อย่างสง่างาม น่าจะยกให้สื่อจากเสถียรธรรมสถาน อันมีแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เป็นผู้ให้แนวความคิดนี้เกิดขึ้นมา เพื่อหวังจะนำธรรมะเข้าไปอยู่ในครัวเรือนทุกหย่อมหญ้า และผนึกกำลังจนกลายเป็นชุมชนแห่งธรรมที่แท้จริง
“ธรรมะต้องให้รู้เร็วยิ่งดี ต้องให้รู้ตั้งแต่อยู่ในท้องเลยล่ะ เมื่อแม่ได้เรียนรู้ธรรมะ ลูกที่อยู่ในท้องก็จะได้เรียนรู้ธรรมะตาม เพราะธรรมะเป็นภาษาใจที่ส่งถึงกันได้” แม่ชีศันสนีย์บอกไว้อย่างนั้น
ที่เสถียรธรรมสถานนั้นได้เริ่มสร้างสรรค์สื่อธรรมะเมื่อราว 10 ปีก่อน ความตั้งใจคืออยากจะให้ธรรมะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงหัวใจ และเป็นส่วนเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งรูปแบบที่ถูกนำเสนอออกมามีหลากหลายทีเดียว โดยแต่ละรูปแบบเน้นแนวคิดที่เล็งเห็นถึงความรื่นรมย์เป็นหลัก ทำของยากให้กลายเป็นของง่าย เสพได้ทุกเพศทุกวัย หยิบมาเสพเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งสาระและบันเทิง
การผลิตสื่อธรรมะที่เสถียรธรรมสถาน แม้ว่าจะผ่านมาเป็นเวลายาวนาน แต่เมื่อพูดถึงความยากลำบากแล้วนั้น แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ยอมรับว่าแทบไม่ต่างจากยุคแรกๆ ที่เริ่มผลิตเลย ยังเหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน ขณะเดียวกันสปอนเซอร์ที่อยู่ในภาคธุรกิจก็มองเห็นธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ค่อยให้การสนับสนุน นั่นเพราะธรรมะอาจเป็นสินค้าที่ไม่ได้สร้างผลกำไรแก่บริษัทเป็นกอบเป็นกำ
แต่ถึงกระนั้น ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี กับภารกิจที่จะนำธรรมะไปเสิร์ฟถึงหัวกระไดบ้าน ก็ทำให้เจ้าของแนวความคิดนี้ได้พบกับภาพอันงดงามเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อผู้คนเริ่มสนใจธรรมะมากขึ้น เห็นได้จากเสียงตอบรับหลังสื่อรูปแบบต่างๆ ทยอยปรากฏตัว ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นด้วยคำร้องอันแสนไพเราะ เนื้อหาซาบซึ้งใจ และถูกดัดแปลงมาเป็น “ดั่งดอกไม้บาน” มิวสิกวิดีโอที่มีตัวการ์ตูนแม่ชีทำหน้าที่เล่าเรื่องการใช้ชีวิตตามรอยธรรมะ รายการโทรทัศน์ “ธรรมะสวัสดี” ให้ข้อคิดดีๆ กับผู้คนทั่วไป วิทยุและนิตยสารเพื่อชีวิตที่งดงามและเป็นอิสระ “สาวิกา” ล้วนแต่ได้รับการตอบรับดีเรื่อยๆ
“กำไรของเราไม่ได้เป็นตัวเงินหรอก กำไรของเราคือการทำให้คนได้รู้จักธรรมะมากขึ้น ได้รู้จักชีวิตมากขึ้น ได้ยินเสียงจังหวะเต้นหัวใจที่มีแต่คำว่าเมตตา ได้เข้าใจและรู้จักรักตัวเองมากขึ้น และทำให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้น” แม่ชีศันสนีย์ บอก “ตั้งแต่ที่ทำสื่อธรรมะขึ้นมาจนถึงวันนี้ สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นคือคนที่สนใจธรรมะอายุจะเด็กลงเรื่อยๆ นั่นแสดงว่าธรรมะสามารถเข้าไปอยู่ในหัวใจของเด็กๆ ได้แล้ว”
สานิต พูลสวัสดิ์ ผู้หยิบคำสอนของพระพยอมมาถ่ายทอดเป็นแอนิเมชัน เน้นขำและแฝงไว้ด้วยแง่งามทางความคิด ก็ยอมรับว่าทำใจไว้ล่วงหน้ากับรายได้ที่ไม่น่าจะเปรี้ยงปร้างเท่าไหร่ เนื่องจากรู้ดีว่าสินค้าที่พะยี่ห้อธรรมะ เป็นสิ่งที่ขายได้ยากอยู่แล้ว
“ความตั้งใจของเราคืออยากนำธรรมะไปไว้ในบ้าน เป็นความบันเทิงที่มีสาระแฝงอยู่ด้วย ให้ทุกคนในบ้านได้ดูกัน ซึ่งเรารู้ว่ากำไรนี่ตัดออกไปได้เลย เพราะเท่าที่เคยทำสื่อเพื่อธรรมะมาก่อน รู้ว่านิสัยคนไทยจะฮือฮาแค่ช่วงแรกๆ ต่อไปก็จะไม่สนใจแล้วละ ทำให้ผู้ผลิตบางคนไม่กล้าจะลงทุน”
นั่นก็ไม่ต่างกันนัก สำหรับทีมงานนักวาดการ์ตูนจากวัฏฏะที่ได้นำคำสอนของพระพยอมมาดัดแปลงเป็นการ์ตูนเล่ม “เณรพยอมจอมยุ่ง” ซึ่งมีความโดดเด่นตรงลายเส้น และเนื้อหาที่กระชับ อ่านจบภายในไม่ถึง 10 นาที เหมือนหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น สนุกแบบกุ๊กกิ๊ก มีมุมมองของธรรมะที่สอนให้เด็กและวัยรุ่นให้คิดดีทำดี โดยได้นักเขียนการ์ตูนมือทอง ศักดา วิมลจันทร์ มาทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสรรค์ เรื่องรายได้นั้นแม้ไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่ถึงกับถล่มทลายมากเท่ากับหนังสือการ์ตูนแนวอื่นที่อาจจะมีความรุนแรง หรือภาพโป๊เปลือยปะปนอยู่ในเล่ม
จริงอยู่สื่อที่นำเสนอเรื่องราวของหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น อาจไม่ได้มีกำไรพุ่งกระฉูดทะลุเป้าอย่างที่เข้าใจ แต่เราก็เชื่อว่าเสียงสะท้อนจากสื่อเล็กๆ จากคนเล็กๆ เหล่านี้คงทำให้ความน่ารื่นรมย์และความทรงคุณค่าทางปัญญาหลงเหลือไว้เป็นของขวัญสำหรับการดำเนินชีวิตในวันข้างหน้าใครบางคนได้บ้าง
|