เช้าสี่ เย็นสาม
จางจื๊อ ปราชญ์จีนโบราณ
ได้เล่านิทานสั้น ๆ เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้สนใจปรัชญาเต๋า นิทานเรื่องนี้ชื่อว่า "เช้าสามเย็นสี่"
เช้าวันหนึ่งคนฝึกลิงได้บอกกับลิงทั้งหลายว่า
"นับแต่วันนี้ไป เราจะให้ลูกเกาลัดแก่เจ้า ตอนเช้าสามกอง ตอนบ่ายสี่กอง"
พวกลิงไม่พอใจที่ได้ฟังเช่นนั้น คนเลี้ยงลิงจึงบอกว่า "ถ้าเช่นนั้น ตอนเช้าข้าจะให้เจ้าสี่กอง ตอนบ่ายสามกอง" พูดเท่านี้ ลิงทั้งหมดก็พอใจ
อ่านแล้วหลายคนคงอดหัวเราะลิงไม่ได้ เพราะข้อเสนอของคนเลี้ยงลิงในตอนหลังไม่ได้ต่างอะไรจากตอนแรก ถึงอย่างไรก็ได้กินเกาลัดเจ็ดกองเท่ากัน แต่ลิงกลับเห็นว่า "เช้าสี่เย็นสาม" นั้นเข้าท่ากว่า "เช้าสามเย็นสี่"
แต่มาพิจารณาให้ดี บ่อยครั้งคนเราก็คิดไม่ต่างจากลิงในนิทาน
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ เจ้าของชาเขียวชื่อดังในเมืองไทยได้ไปเปิดตลาดที่กัมพูชา วิธีส่งเสริมการขายของชายี่ห้อนี้ก็คือ ซื้อสองขวดหรือจ่าย 40 บาท แถมฟรีตุ๊กตาหนึ่งตัว ปรากฏว่าขายไม่ออกเลย
หลังจากผ่านมาได้หนึ่งวันเขาสังเกตว่าเวลาพิธีกรโชว์ตุ๊กตาให้ดูบนเวที เด็ก ๆ ให้ความสนใจมากถึงกับตาเป็นแวว เขาจึงเปลี่ยนวิธีการใหม่ คือ ซื้อตุ๊กตาหนึ่งตัว แถมชาเขียวสองขวด ทีนี้ได้ผล คนเข้าคิวยาวเหยียด ตุ๊กตาเกือบครึ่งหมื่นหมดไปภายในวันที่สอง
ทั้ง ๆ ที่จ่าย 40 บาทได้ตุ๊กตาและชาเขียวสองขวดเหมือนกัน แต่ผู้คนกลับเลือกซื้อตุ๊กตาแถมชาเขียว มากกว่าซื้อชาเขียวแถมตุ๊กตา
อะไรทำให้ "เช้าสี่เย็นสาม" ดึงดูดใจลิงพอ ๆ กับที่ "ซื้อตุ๊กตาแถมชาเขียว" ดึงดูดใจลูกค้า
คำตอบเห็นจะเป็นเพราะว่า ข้อเสนอทั้งสองนั้นนำหน้าด้วยสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า และตามด้วยสิ่งที่น่าสนใจน้อยกว่า อะไรก็ตามที่นำหน้าด้วยของชอบ และตามด้วยของที่ชอบน้อยกว่า มักจะได้รับความสนใจจากผู้คนมากกว่า
เวลากินก๊วยเตี๋ยว คนส่วนใหญ่จึงชอบกินลูกชิ้นก่อน ส่วนเส้นค่อยกินทีหลัง น้อยคนที่กินเส้นก๊วยเตี๋ยวก่อน และค่อยเก็บกวาดลูกชิ้นทีหลัง
จะกินลูกชิ้นก่อนหรือทีหลัง ถ้าว่าตามหลักเหตุผลแล้วก็ไม่ค่อยแตกต่างเท่าไรนัก เพราะในที่สุดก็ได้กินทั้งลูกชิ้นและเส้นเหมือนกัน
แต่ถ้าพูดถึงความรู้สึกแล้ว กินลูกชิ้นก่อนย่อมหมายถึงการได้รับความเอร็ดอร่อยก่อน คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากรอเสพความเอร็ดอร่อยทีหลัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาจะเลือกทำอะไรสักอย่าง บ่อยครั้งเรามักใช้ความรู้สึกนำหน้ามากกว่าเหตุผลหรือการคิดใคร่ครวญ
จะว่าไปมันไม่ใช่เรื่องใหญ่หากเราใช้ความรู้สึกนำหน้าเวลากินก๊วยเตี๊ยว ปัญหาก็คือเรามักใช้ความรู้สึกนำหน้าในการดำเนินชีวิตด้วย
ระหว่างสบายก่อน ลำบากทีหลัง กับลำบากก่อน สบายทีหลัง คนจำนวนไม่น้อยเลือกสบายไว้ก่อน ส่วนลำบากนั้นว่ากันทีหลัง ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวลามีเงินกู้ที่ได้มาง่าย ๆ หลายคนจึงขอกู้เอาไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
เงินที่กู้นั้นเอาไปทำอะไร คำตอบก็คือซื้อสิ่งฟุ่มเฟือย อุปกรณ์อำนวยความสะดวก หรือเครื่องเสริมสร้างสถานภาพ เช่น โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น โทรทัศน์จอแบน เครื่องเล่นดีวีดี รถยนต์ ฯลฯ
รู้ทั้งรู้ว่าดอกเบี้ยก็ไม่น้อย และไม่แน่ใจว่าจะหาเงินมาจ่ายหนี้ได้หรือไม่ แต่ภาระเหล่านั้นเป็นเรื่องอนาคต วันนี้ถ้ากู้มาแล้วฉันสบาย มีเสพสมอยาก ก็ขอกู้มาก่อน
ไม่ใช่แต่เงินกู้หาง่ายเท่านั้น อบายมุขก็มีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้คนก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน รู้ทั้งรู้ว่าสูบบุหรี่ กินเหล้า เล่นการพนัน เที่ยวผู้หญิงนั้นไม่ดี จะก่อปัญหาในอนาคต แต่ผู้คนก็ยังพากันเข้าหาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ทั้งนี้ก็เพราะมันให้ความสุขเฉพาะหน้า ส่วนโรคภัยไข้เจ็บ หนี้สิน ปัญหาครอบครัว ฯลฯ ค่อยไปว่ากันทีหลังเพราะตอนนี้มันยังไม่เกิด
ความสุขสบายวันนี้มักหอมหวลมีเสน่ห์กว่าความสุขสบายวันหน้า ส่วนความทุกข์ในวันนี้ย่อมน่ากลัวกว่าความทุกข์ในวันหน้า
ถ้าให้เลือกระหว่าง ลำบากวันนี้ กับเป็นเอดส์วันหน้า หญิงบริการจำนวนไม่น้อยตอบว่า "กลัวอดไม่กลัวเอดส์"
สำหรับหญิงเหล่านี้ เอดส์ไม่น่ากลัว ไม่ใช่เพราะว่าเธอมีวิธีป้องกันที่ได้ผล หรือรู้วิธีรักษา แต่เป็นเพราะเชื่อว่ากว่าปัญหาจะเกิดก็อีกนาน
น้อยคนเลือกที่จะยอมลำบากวันนี้เพื่อไปสบายในวันหน้า ลำพังการขู่เด็กว่า "รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา" ไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เด็กขยันเรียนได้ เพราะเด็กก็เหมือนกับผู้ใหญ่(ที่ไม่ยอมเลิกบุหรี่แม้จะรู้ว่าทำให้เป็นมะเร็งและโรคสารพัด) คือคิดว่า วันนี้ขอสบายก่อน ส่วนวันหน้าจะทุกข์อย่างไรไปแก้ปัญหากันทีหลัง
ต่อเมื่อพ่อแม่หรือครูขู่เด็กว่าวันนี้เธอจะถูกลงโทษแน่ถ้าไม่ไปโรงเรียนหรือไม่ทำการบ้าน ถึงตอนนั้นแหละเด็กจึงจะเขยื้อนขยับเพราะความทุกข์มาจ่ออยู่ตรงหน้าแล้ว
ลองมองให้ดีจะพบว่าพฤติกรรมของคนเรามักตั้งอยู่บนความคิด(ที่นำด้วยความรู้สึก)ว่า ขอสบายไว้ก่อน แม้ความสบายนั้นจะก่อผลเสียตามมาก็ไม่สนใจเพราะยังอยู่อีกไกล
ผู้คนชอบกินอาหารที่เรียกว่า "อาหารขยะ" และผลไม้ที่อร่อยสีสวย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันเต็มไปด้วยสารพิษซึ่งสามารถก่อมะเร็งและโรคนานาชนิด
ใคร ๆ ก็รู้ว่าการงดอาหารเหล่านั้นจะทำให้สุขภาพดีขึ้น ไม่เจ็บป่วยในวันข้างหน้า แต่น้อยคนที่จะยอมยอมเลิกพฤติกรรมดังกล่าว เพราะความเอร็ดอร่อยในวันนี้มีน้ำหนักกว่าความทุกข์ในวันหน้า
ในทำนองเดียวกันการยอมเหนื่อยออกกำลังกายวันนี้ จะช่วยให้ไม่มีปัญหาโรคภัยในวันหน้า แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ชีวิตตามสบาย นั่ง ๆ นอน ๆ มากกว่าจะไปวิ่งหรือเล่นโยคะ แม้รู้ว่าโรคหัวใจ โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบ และเจ็บปวดนานาชนิดอาจจะมาเยือนก็ตาม รู้ทั้งรู้ว่าโรคเหล่านี้เป็นอันตราย
เมื่อว่ากันตามเหตุผลก็เห็นได้ชัดว่าวิถีชีวิตแบบนี้จะสร้างปัญหาในอนาคต แต่ความรู้สึกอยากหยิบฉวยความสบายที่ใกล้มือมักจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเรามากกว่าเหตุผลหรือปัญญาอยู่เสมอ
พูดอีกอย่างก็คือ เรามักให้ "ความถูกใจ"
มาเป็นใหญ่เหนือ "ความถูกต้อง"
เมื่อมองให้ครอบคลุมถึงชีวิตทั้งกระบวน ใคร ๆ ก็รู้ว่าในที่สุดเราก็จะต้องตาย พอพูดถึงความตายเราก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ากลัว และที่อาจจะน่ากลัวกว่านั้นก็คือสภาพร่างกายและจิตใจก่อนจะตาย ถ้าตายปุบปับก็คงไม่เป็นไร
แต่ส่วนใหญ่จะตายอย่างช้า ๆ ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานนานเป็นเดือนหรือเป็นปีกว่าจะหมดลม
แม้รู้อย่างนี้แต่มีน้อยคนที่พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ การฝึกฝนจิตใจด้วยสมาธิภาวนาและการพิจารณาความตาย (มรณสติ)อย่างสม่ำเสมอเป็นการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่งที่ได้ผล แต่วิธีการดังกล่าวต้องใช้ความเพียรและความอดทนไม่น้อยไปกว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะสบายไว้ก่อน มากกว่าที่จะยอมลำบากวันนี้เพื่อไปสบายในวันข้างหน้า ดังนั้นจึงละเลยการฝึกจิตฝึกใจ ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องช่วยรักษาใจในวาระสุดท้ายของชีวิต ผลก็คือคนส่วนใหญ่ตายอย่างทุกข์ทรมานแม้จะมีเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยเต็มที่ก็ตาม
เมื่อใดที่ปล่อยให้ความรู้สึกเป็นใหญ่ เราก็มักเลือกเอาความสะดวกสบายหรือความสุขเฉพาะหน้าไว้ก่อน และไม่สนใจความทุกข์ที่จะตามมาภายหลัง
บ่อยครั้งความทุกข์ที่ตามมานั้นหนักหนาสาหัสจนไม่คุ้มค่ากับความสุขสบายเฉพาะหน้าเลย คนที่เป็นเอดส์เพราะเห็นแก่ความสุขชั่วแล่น หรือคนที่ล้มละลาย ครอบครัวพังพินาศ เพราะติดเหล้าและการพนัน เป็นตัวอย่างที่เห็นชัด
เป็นความจริงที่ว่าปัญญาหรือเหตุผลมักมีพลังน้อยกว่าความรู้สึก ความอยากได้ความสุขเฉพาะหน้ามักทำให้วิจารณญาณของเราบกพร่อง มันไม่เพียงทำให้เราเลือกหนทางที่ก่อทุกข์มหันต์ในภายหลังเท่านั้น หากยังทำให้ละเลยทางเลือกที่ดีกว่าหรือให้ผลตอบแทนมากกว่า เพียงเพราะว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นมาช้าไม่ทันใจ
เคยมีการสอบถามคนอเมริกันกลุ่มหนึ่งว่า ระหว่างการได้เงิน 10 เหรียญในวันนี้ กับการได้เงิน 11 เหรียญในอีกเจ็ดวันถัดไป เขาจะเลือกอะไร ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่เลือกข้อเสนออันแรก
ที่น่าสนใจก็คือเมื่อตรวจดูการทำงานของสมองของคนในขณะตัดสินใจ โดยให้เลือกระหว่างการได้คูปองสินค้ามีมูลค่า 5-40 เหรียญในวันนี้ กับการรับคูปองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1-50% ในอีกสองอาทิตย์ถัดไป ผู้วิจัยพบว่าคนที่เลือกเอาคูปองวันนี้เลยจะมีการทำงานเพิ่มขึ้นที่สมองส่วนที่เรียกว่า ระบบลิมบิค
ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก ส่วนคนที่ขอรับคูปองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นภายหลังจะมีการทำงานเพิ่มขึ้นที่ เปลือกสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิดหรือใช้เหตุผล
งานวิจัยชิ้นนี้เท่ากับยืนยันว่าคนที่เลือกเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้ามักตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึก ขณะที่คนซึ่งใช้เหตุผลจะเลือกข้อเสนอที่ให้ผลประโยชน์มากกว่าแม้จะต้องรอก็ตาม
ถ้าไม่อยากให้ความรู้สึกเข้ามากำกับการตัดสินใจของเรามากเกินไป เราจำเป็นต้องมี "สติ" ให้มากขึ้น
สติช่วยเตือนให้เรายั้งคิด และไม่ปล่อยใจไปตามความรู้สึกเสียหมด กล่าวอีกนัยหนึ่ง สติช่วยให้สมองส่วนหน้าเข้มแข็งปราดเปรียวขึ้น ไม่ถูกระบบลิมบิคครอบงำง่าย ๆ ยิ่งถ้ารู้ว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะคิดหรือตัดสินใจตามความรู้สึก ก็จะยิ่งมีสติ มีความระมัดระวังตัวมากขึ้น สติสามารถช่วยให้เราเอาเหตุผลหรือปัญญามาคะคานหรือถ่วงดุลกับความรู้สึกได้ดีขึ้น
"ความ ถูกใจ" และ "ความถูกต้อง" บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ถ้าไม่มีสติ ความถูกใจก็มักจะมาเป็นใหญ่ แต่ถ้ามีสติ ชีวิตก็เป็นไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น
พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าความรู้สึกนั้นไม่ดี ความรู้สึกบางทีก็จำเป็นมากกว่าเหตุผล คนเราถ้าใช้เหตุผลหมด ก็คงไม่ต่างจากหุ่นยนต์ โลกนี้คงสวยสดงดงามน้อยลง
ปัญหาก็คือเวลานี้เราเอาความรู้สึกมาเป็นใหญ่มากเกินไป จนทำให้ชีวิตเสียสมดุล และก่อปัญหารอบตัว ไม่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม อาชญากรรม คอร์รัปชั่น ท้องก่อนวัยเรียน จริยธรรมเสื่อมโทรม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเพราะเราปล่อยให้ความถูกใจมาเป็นใหญ่เหนือความถูกต้อง
นิทานเรื่อง "เช้าสามเย็นสี่" จางจื๊อต้องการแนะให้เราเอาคนเลี้ยงลิงเป็นตัวอย่าง คนเลี้ยงลิงนั้นไม่ยึดติดกับความคิดของตนเอง และไม่ยอมเสียเวลาไปกับการถกเถียงลิง เพราะรู้ว่าเถียงไปก็ไม่มีประโยชน์ เพียงแค่ยักเยื้องข้อเสนอสักหน่อยก็ได้ผลแล้ว
แต่อันที่จริง
ลิงในนิทานเรื่องนี้ก็สอนอะไรเราได้มากมาย
จะว่าไปแล้วลิงในเรื่องนี้ก็คือกระจกสะท้อนตัวเรานั่นเอง
ดังนั้นจึงไม่ควรผลีผลามหัวเราะเยาะลิง
เพราะนั่นจะเท่ากับหัวเราะเยาะตัวเองไปด้วย
บทความจากนิตยสาร "สารคดี" งานเขียนโดย....พระไพศาล วิสาโล
|