'เทพ' ครองเมือง จตุคามฯฟีเวอร์
พุทธทุนนิยม โหมกระพือ 'เทพจตุคาม'
กระแส “จตุคามฟีเวอร์” ร้อนแรงจนเกิดคำถามว่านี่คือการเบียดยึดพื้นที่พุทธศาสนา หรือเป็นแค่ปรากฏการณ์วูบวาบชั่วขณะของทุกสังคมที่อ่อนแอ?
ความแรงของจตุคามฯ เห็นได้จากแผงเช่าพระเครื่องต้องปรับตัว ด้วยการเปลี่ยนตัว “สินค้า” ในร้านจากพระเครื่องรุ่นหลากหลาย เป็นจตุคามฯ รุ่นต่างๆ แทน วัดทั่วทั้งภาคเหนือ กลาง และอีสาน ก็ไม่อาจทานกระแส “เทวภิเษก” นี้ได้ หรือกรณีชาวบ้านนับพันคนที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด จตุคามฯ ก่อม็อบประท้วงเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง เพราะจ่ายเงินจองจตุคามฯ แล้วได้ของปลอม เปราะบางและแตกหัก
หน่วยงานราชการ วัดวาอื่นๆ ก็หันมาปั๊มจตุคามฯ เป็นวัตถุมงคลแทนพระเครื่อง แม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็โหนกระแส เตรียมออกจตุคามฯ รุ่น สนช.?
นี่เป็นปรากฏการณ์เสมือนความเชื่อของมนุษย์กำลังสวิงไปสู่อีกความเชื่อ ไปสู่ลัทธิรูปเคารพ เมื่อสมัย 3,000 ปีก่อนพุทธกาล !!!
อาการฟีเวอร์ที่เกิดจากความเชื่อและพึงพอใจนี้ เกิดขึ้นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ หรือว่าเป็นเพราะการปั่นกระแสของพ่อค้าจนเกินจริงเพื่อหวังแลก “เงิน” สั่งสมบารมีที่เป็นเทพของทุนนิยมตัวจริง
แม้จะไม่มีใครยืนยันได้ว่าอาการฟีเวอร์ที่ว่ามาจากเหตุใดกันแน่ แต่ตัวตนที่เป็นจริงของสังคมไทยจะเป็นตอบคำได้ดีที่สุด!!! ตอบว่า...มันเป็นอาการอ่อนแอของสังคมที่ไม่มีที่พึ่งใช่หรือไม่ หรือสังคมไทยกำลังก้าวเดินสู่ยุคเทวนิยม?
พุทธศาสนากำลังเข้าสู่ยุคเสื่อม? หรือเอาเข้าจริงมันคือ...อาการโง่งมงายของคนเป็น “โรคพุทธทุนนิยม”
ไม้แกะรูปจตุคามรามเทพที่วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช
ปั่นราคาหากำไรเป็นทาสวัตถุนิยม
พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิบายว่า องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เทพฟีเวอร์” นี้มาจาก 2 ส่วนหลัก คือ เกิดจากกระแสการสร้างข่าว การโฆษณาประชาสัมพันธเรื่อง “อิทธิฤทธิ์ และ ความศักดิ์สิทธิ์” อย่างหนัก ของกลุ่มธุรกิจค้าพระเครื่อง เพราะมีผลประโยชน์ในตลาดขนาดใหญ่ มีหนังสือพิมพ์พระเครื่อง แม้แต่หนังสือพิมพ์รายวันก็ไม่สามารถทนความเย้ายวนของเงินค่าโฆษณาได้ จำต้องเปิดหน้าพระเครื่อง รวมถึงเทพองค์ต่างๆ
“คล้ายๆ เป็นความเชื่อในเชิงธุรกิจมากกว่าว่าเช่าซื้อหามาแล้วก็มาเก็งกำไรกันต่อ พอปล่อยของขายออกไปก็จะได้กำไรกลับมา เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ได้เป็นความเชื่อที่ผู้ครอบครองมีไว้เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ แต่กลายเป็นความเชื่ออันสูงสุดคือ เงิน การบริโภคนิยม วัตถุนิยม คนเหล่านี้ไม่รู้เลย”
อีกปัจจัย พระศรีปริยัติโมลี บอกว่า เป็นเพราะชาวพุทธศาสนาส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในหลักคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ผนวกกับตัวพระสงฆ์เองก็กลับไปเป็น ผู้สนับสนุนในการโหมกระแสเรื่อง “เทพ” ด้วย โดยไม่รู้ว่าหลักที่พึ่งจริงๆ อันสูงสุด คือ “พุทธศาสนา”
กระแสเทพที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พระศรีปริยัติโมลี เทียบเคียงเหมือนกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แค่เปลี่ยนจากใบหุ้นมาเป็นพระเครื่อง ก็เท่านั้น
กระแสคลั่งไคล้จตุคามฯ ส่งผลไปสู่การนับถือ หนุมาน พิฆเนศวร ตลอดจนราหู
“นี่ไม่ใช่ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์อะไร หรอกโยม เพราะถ้าศักดิ์สิทธิ์จริง คนคงไม่ขายกัน แม้จะมีการให้ราคาดีเท่าไรก็ตาม แต่ที่เป็นอยู่ พอใครให้ราคาดีก็แห่ขายกัน ถามหน่อยเถอะนี่หรือความศักดิ์สิทธิ์” พระศรีปริยัติโมลี ระบุ
เทวรูปจตุคามรามเทพ
จากคำอธิบายของ พระศรีปริยัติโมลี เท่ากับว่า “วัด” ทั่วประเทศก็กำลังตกหลุมกระแสตลาดที่เรียกได้ว่า วัดก็อ่อนแอ เพราะไม่เข้าใจให้ถ่องแท้ว่า สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด คือ “พระพุทธเจ้า” ซึ่งสูงสุดกว่า “เทพ”
“วัดไม่เข้าใจเรื่องคุณงามความดี ทั้งที่ควรให้สติแก่ญาติโยม ไม่ใช่คิดจะเอาเงินจากชาวบ้าน ทำกิจกรรมขึ้นมาเพื่อหาเงินเข้าวัดอย่างเดียว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องความก้าวหน้าของพุทธศาสนา”
ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจจะต้องออกกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองปูชนียวัตถุ พ.ศ... เพื่อกำหนดว่าวัตถุมงคลที่เลอะเทอะ จำเป็นต้องถูกควบคุมดูแลให้เป็นระบบ สิ่งไหน คือ พุทธ พราหมณ์ หรือไสยศาสตร์ ไม่เช่นนั้นแล้วพระพุทธศาสนาก็จะตกอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง เพราะการบูชาวัตถุมงคลนี้เป็นเพียงเรื่องเปลือกนอก แม้วัดจะได้เงินมาจำนวนมากก็ไม่มีความหมาย แท้จริงๆ แล้วต้องชี้ให้เห็นว่า เงินทอง ที่ได้มาต้องมาจากความศรัทธาจากพระรัตนตรัย ไม่ใช่มาจากความโง่งมงาย ทำให้คนอยู่นอกศาสนา และวัดจะต้องยอมไม่ได้ที่จะให้เอาความดีงามไปแลกกับเงินทอง หรือเห็นแก่เศษเสี้ยวเงินเพราะมันไม่ใช่สิ่งสำคัญ
“การที่วัดออกวัตถุมงคลเป็นความเลอะเทอะ อ้างจะนำเงินไปสร้างโบสถ์หรือวิหาร ทำให้คนหลงผิด เกิดมิจฉาทิฐิ จนกลายเป็นเนื้องอกในพุทธศาสนา และจะทำให้ศาสนาพุทธอยู่ไม่ได้” พระศรีปริยัติโมลี กล่าว
เหรียญจตุคามรามเทพ
ขณะที่ พระไพศาล วิสาโล พระนักวิชาการ สนับสนุนความเห็นของ พระศรีปริยัติโมลี ว่า อาการคลั่งเทพของชาวพุทธสะท้อนให้เห็นว่าพุทธศาสนาเสื่อมลง เหตุเพราะคนไม่เชื่อเรื่องความเพียร คิดแต่อยากจะรวยเพียงอย่างเดียว มากกว่าการแสวงหาความสุขตามหลักธรรม
“อาตมาเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงแฟชั่น ไม่นานความเชื่อเรื่องเทพก็จะอิ่มตัว แต่ก็จะมีวัตถุมงคลตัวใหม่เกิดขึ้นอีก จริงๆ แล้วการนับถือวัตถุมงคลทำได้ แต่จะต้องนำมาเพื่อให้เป็นกำลังใจ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กลายเป็นการพึ่งพิงสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจพุทธศาสนา ที่มุ่งให้พึ่งตนเอง หมั่นเพียร และไม่ประมาท พระไพศาล บอกว่า นี่คือการตกอยู่ภายใต้อำนาจบริโภคนิยม
สมัยก่อนวัตถุมงคลมีเพื่อใช้เป็นสะพานทำความดี สืบทอดศาสนา เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนพระพุทธศาสนา ไม่ใช่นำมาเป็นสินค้าปั่นราคาจากการโฆษณาถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์กันไปต่างๆ นานา” พระไพศาล กล่าว
เหรียญจตุคามรามเทพ
พุทธทาสชี้เคารพเทวรูปป่าเถื่อน
นักประวัติศาสตร์ จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะบุคคลซึ่งรู้จักมักคุ้น “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” เป็นอย่างดี นพ.บัญชา พงษ์พานิช ยกคำกล่าว ท่านพระพุทธทาส เมื่อปี 2498 เมื่อครั้งเดินทางไปอินเดีย ที่ได้ชี้ไว้ว่า “ตั้งแต่ 1-500 พุทธกาล ไม่มีพุทธรูปไหว้กันเลย เขาประณามว่าเป็นของป่าเถื่อนถ้าทำเช่นนั้น (ไหว้พระพุทธรูป) หลังจากนั้น จึงคอยเปลี่ยนแปลงมาเข้า เมฆหมอกแห่งลัทธิ (นับถือรูปเคารพเทวนิยม) แรงขึ้นๆ ดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ อยากศึกษาว่า สิ่งเหล่านี้ ลูกหลานข้างหลังกลับไม่แยบคาย จึงถูกศาสนาพราหมณ์กลืนหมดไม่เหลือ เพราะเป็นการหมุนกลับไปสู่ลัทธิรูปเคารพ เมื่อสมัย 3,000 ปีก่อนพุทธกาลแรงขึ้นๆ ทั้งพุทธ และฮินดู ดังที่ปรากฏในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย ได้เลยไปถึงพระเครื่อง ถ้าไม่สังเกตให้ดีจริง จะไม่เห็นเป็นโทษอันร้ายกาจของลัทธิไหว้ของรูปเคารพ”
พร้อมกับตั้งคำถามดังๆว่า “วันนี้เรานับถือศาสนาอะไรกัน วัดพุทธที่ปลุกเสกเทวภิเษกเป็นพุทธศาสนาหรือไม่”
ในมุมมองของผู้ประกอบการวัตถุมงคล พฤฒพันธุ์ วนเกียรติ หรือ “หมูมรกตไทย” หนุ่มเจ้าของร้านพระเครื่องและเทพทุกชนิดบนห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวบรวมเครื่องรางของขลังต่างๆ ใหญ่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ บอกว่า กระแสจตุคามฯ ร้อนแรงตั้งแต่ช่วง 3- 4 ปีที่ผ่านมา และกระแสคลั่งไคล้จตุคามฯ ก็พลอยทำให้เทพที่อยู่ชุดเดียวกับจตุคามฯ และเทพองค์อื่นๆ เกาะกระแสโด่งดังจนได้รับความนิยมไปด้วย เช่น พระพิฆเนศวร และ ราหู ได้รับความนิยมสูงสุด
แม้จะเป็นเจ้าของร้านพระเครื่อง แต่ พฤฒพันธุ์ ก็ให้เหตุผลน่าสนใจว่า เหตุที่คนหันมาพึ่งวัตถุเหล่านี้กันมากก็เพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ คนจึงพยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ และสโลแกนของ “หลวงพ่อ” (จตุคามรามเทพ) ที่ระบุว่า “ขอได้ไหว้รับ” ก็สอดรับช่องว่างตรงนี้ นั่นก็คือสามารถขอได้ถ้าสิ่งที่ขออยู่ในศีลในธรรม ซึ่งแตกต่างจากพระหรือเกจิอาจารย์ชื่อดัง ที่มีความถนัดเฉพาะทาง เช่น คงกระพัน เมตตา หรือแก้ คุณไสยเป็นสำคัญ
เหรียญจตุคามรามเทพ
ความนิยมย่อมคู่กับสนนราคาที่เถียบตัวเป็นเงาตาม แต่กลายเป็นแห่ไปจอง เพราะหวังว่าเมื่อเช่าได้ในราคาจองจากวัด จะสามารถมา “ปล่อย” ได้ในราคาสูง นี่เป็นเหตุให้นักเลงพระรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เรียกว่ากระแสจตุคามฯ ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องคนที่เข้าไปทำมาค้าขายหารายได้เข้ากระเป๋า
“ราคาจตุคามฯ มีแต่ขึ้นๆ ตลอด จากเมื่อก่อนคนเล่นพระกันประมาณ 50-60% แต่ตอนนี้กว่า 80% แล้ว รับจากหลวงพ่อราคาทุนที่วัด พอ 1-2 เดือนผ่านไป ราคาก็ปรับขึ้นไปตามกระแสตลาด” เซียนหมู กล่าว
เขาบอกว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เทพองค์ใดได้รับความนิยม อยู่ที่ผู้สร้างว่าเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงหรือไม่ รวมถึงวัตถุประสงค์ในการสร้าง จำนวนการสร้างว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงพอต่อความต้องการของตลาดหรือไม่ รุ่นไหนดัง สังเกตได้จากใบสั่งจอง รุ่นดังใบจองจะหมดก่อน “ของ” จะมา
'ปิดตาพังพระกาฬ' ฮิตแรงเคียงจตุคามฯ
พฤฒพันธุ์ เล่าอีกว่า ในวงการนักเลงพระจะเล่น “ปิดตาพังพระกาฬ” ที่ฮิตพอๆ กับองค์จตุคามฯ เพราะเป็นเครื่องลางของขลังที่ได้รับความนิยมและ คลั่งไคล้สูงสุด รองจากจตุคามฯ และเป็นของหายาก ได้รับการปลุกเสกพร้อมกับจตุคามฯ รุ่นแรก ที่สร้างหลักเมือง มี 3 เนื้อ คือ เนื้อทองคำ ราคาล้านกว่าบาท เนื้อเงิน ราคาแสนกว่าบาท และเนื้อโลหะ ราคาแสนต้นๆ
“ตอนนี้ก็มีแต่รุ่นใหม่ๆ ที่วัดต่างๆ ปลุกเสกกันเยอะแยะไปหมด ซึ่งทุกวัดจะต้องมีทั้งพิธีเทวภิเษก ตามกระแสตลาดไปด้วย ไม่อย่างนั้นจะจำหน่ายไม่ได้” พฤฒพันธุ์ ระบุ
สำหรับ “พระพิฆเนศวร” คนที่นับถือส่วนใหญ่ จะเป็นดารา นักร้อง นักแสดง แต่ต้นตำรับของการก่อสร้างวัตถุมงคลประเภทนี้คือ “วัดสุทัศน์” โดยมี พระเจ้าคุณศรีสนธิ์ เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นมา 1 รุ่น 2 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ขนาด 1 นิ้ว และพิมพ์เล็ก ลักษณะรูปร่างเป็นพิฆเนศวรนั่งห้อยขา ปลุกเสกก่อสร้างมาเมื่อประมาณปี 2493 ราคาในตลาดขณะนี้อยู่ประมาณหลักหมื่นกลางๆ ถึง 5 หมื่นกว่าบาท หมายถึงของแท้ที่เป็นต้นตำรับ
เหรียญจตุคามรามเทพ
ขณะนี้ก็มีการปลุกเสกก่อสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น คุณปัญญา นิรันดร์กุล คุณยุวดี บุญครอง หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ทำ ล่าสุด พฤฒพันธุ์ บอกทุกรุ่นที่เปิดจอง...หมดแล้ว ความนิยมของพระพิฆเนศวรนี้จะอยู่ที่การออกแบบ การประชาสัมพันธ์ และความมีชื่อเสียงของคนสร้าง
“ราหู” เป็นอีกองค์เทพที่กำลังได้รับความสนใจ เซียนพระรุ่นเยาว์รายนี้เล่าว่า ต้นตำรับของราหู จริงๆ เกิดขึ้นที่วัดศีรษะทอง จ.นครปฐม ปลุกเสกโดย “หลวงพ่อน้อย” เมื่อราวปี 2470 ทำจากกะลาตาเดียว แกะสลักด้วยมือ ขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างก็เพื่อป้องกันการทำคุณไสย และเสริมบารมี ราศี โดยมีชื่อเสียงจากความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ มีการจารปลุกเสกไว้ปกป้องเภทภัย ส่วนสนนราคาเขาบอกไม่ต้องพูดถึง เหยียบแสนกว่า แต่ในตลาดไม่มีของแล้ว เรียกว่าเป็น “ยุคบูชาของดำ” โดยแท้
หญิงสาวคนหนึ่งเดินเข้าร้านมาซื้อพระราหูองค์เล็กขนาดนิ้วก้อย พร้อมกับธูปดำและเทียนดำ เธอบอกว่า ที่นับถือราหูก็เพราะหมอลักษณ์ฟันธงแนะนำว่าราศีตนเองเหมาะกับการบูชาราหู เพราะตัวเองเกิดวันพุธกลางคืน เมื่อบูชาแล้วจะดีขึ้น มีโชคมีลาภ ขณะที่ลูกค้าหญิงวัยกลางคนอีกรายหนึ่งบอกว่า ไม่ได้เชื่อหรือศรัทธาเทพ แต่เห็นว่าสวยดีจึงซื้อไปติดตัว แต่สักระยะหนึ่งก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น
เซียนสาวจากเดอะมอลล์รามคำแหง บุญมี ไชยอนันต์สุจริต เจ้าของร้านเทพรัตนาภรณ์ ร้านจำหน่ายวัตถุมงคลเหล่าเทพทุกศาสนา ไม่ว่า ฮินดู พราหมณ์ หรือรูปปั้นมงคลคนเชื้อสายจีน ฉายภาพ คุณลักษณะลูกค้าที่ออกล่าเทพว่า ขึ้นอยู่กับความเชื่อแต่ละคน เหมือนกับ “ลางเนื้อชอบลางยา” เธอบอกว่าคนทุกคนมี “จิตปรุงแต่ง” ไม่เหมือนกัน หรือมี “ญาณ” หรือ “สัมผัสที่ 6” แตกต่างกัน
'พิฆเนศวร-ตรีมูรติ' มาแรง
บุญมี บอกว่า กระแสจตุคามฯ ได้ปลุกให้เทพองค์อื่นตื่นขึ้นมาเป็นที่นิยมด้วย บางคนจะเคารพศรัทธาพระศิวะ บางคนเคารพศรัทธาพระนารายณ์ บางคนเคารพศรัทธาพระพรหม ซึ่งจะมีการผลิตเป็นเหรียญ ให้เช่า
เทพที่มาแรงที่สุดในขณะนี้เธอว่ามี 3 มหาเทพ คือ “พระพิฆเนศวร” ที่คนพากันไปบูชาเพื่อขอความสำเร็จให้พ้นจากความขัดข้องทั้งปวง “พระแม่รัศมี” เทพแห่งประทานเงินทอง ซึ่งพระองค์เป็นชายาของพระนารายณ์ “พระนางสุรัสวดี” เทพแห่งประทานปัญญา ซึ่งพระองค์เป็นชายาของพระพรหม ทั้ง 3 มหาเทพนี้จะประทานพรได้ทั้งปราบอุปสรรค หาความสำเร็จ และเงินทอง
ขณะที่ “พระตรีมูรติ” เป็นเทพที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาในระยะหนึ่งแล้ว เช่น พระตรีมูรติ ซึ่งประดิษฐานอยู่หน้าตึก Central World และที่ วัดแขสีลม ...กระทั่งพระนเรศวร และพระพุทธเจ้าหลวง หรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้คนก็ต่างเคารพนับถือมานานแล้ว ดังในทุกวันอังคารของสัปดาห์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าผู้คนจะไปบูชากันหนาแน่น
น่าห่วงสังคมไร้หลักยึด
จะว่าไปการเล่นพระ นับถือเทพ เล่นเครื่องลางของขลัง ต่างเกิดเพราะศรัทธาและความเชื่อ แต่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต ไม่อยากให้กลายเป็นความงมงายจนเดือดร้อน เพราะเรื่องเทพ ภูตผีปีศาจเป็นเพียงเรื่องนามธรรมในการปลอบ ประโลมจิตใจ หรือใฝ่หาสิ่งยึดเหนี่ยวเท่านั้น
“ปีที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านช่วงวิกฤตทั้งการเมือง เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมย่ำแย่ เกิดโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก มากมาย ทำให้ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ทำให้คนไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คนจึงไขว่คว้าหาสิ่ง ยึดเหนี่ยว เมื่อปีที่แล้วมีคนสติไม่ดีไปทุบพระพรหมแตกละเอียด ก็พูดกันไปต่างๆ นานาว่าประเทศไทยจะเกิดอาเพศ เรื่องเหล่านี้มันสะสมกันมาโดยตลอด จนถึง ที่สุด คนก็หาสิ่งยึดเหนี่ยวอะไรไม่ได้”
อาการศรัทธาคลั่งไคล้เทพไปทั่วทุกหัวระแหง ในมุมของคุณหมอเกิดจาก 2 เหตุผลหลัก คือ
1.เรื่องเทพภูตผีปีศาจถือเป็นเรื่องความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เช่น เรื่องภูตผีปีศาจ เทวดา หรือ เทพ และ
2.เกิดจากสื่อมวลชนโหมกระแสนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งไม่ต่างกับวันที่ 31 และวันที่ 15 ของทุกเดือน ที่สื่อประโคมข่าวเรื่องแปลกประหลาดเพื่อให้คนแห่กันไปดู
คุณหมอแนะนำให้ชาวพุทธเชื่ออย่างสมดุล และเชื่อว่าปรากฏการณ์จาตุคามฯฟีเวอร์ที่จะอยู่ได้ไม่นาน คนไทยจะกลับมาหาคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา เพราะหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่างหาก คือ ของจริง
คำกล่าวที่ว่า...ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ยังคงใช้ได้สำหรับคนไทยต่อไป เพราะกระแสฟีเวอร์ของ จตุคามฯ และเทพองค์ต่าง ๆ ช่างร้อนแรง จนฉุด ไม่อยู่ซะแล้ว
|