จตุคามรามเทพ ชื่อนี้สำคัญไฉน
รูปปั้นท้าวจตุคามรามเทพบริเวณบันไดวิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช
แต่เดิมชื่อ “ท้าวจตุคามรามเทพ” เป็นที่รู้จักกันดีเฉพาะในกลุ่มของชาวเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้นว่าเป็น “ดวงจิตศักดิ์สิทธิ์” คู่บ้านคู่เมือง มาตลอดตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย คอยคุ้มครองพระบรมสารีริกธาตุ ในวัดพระบรมธาตุและปกปักรักษาเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะพระเสื้อเมือง พระทรงเมืองให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ดังจะเห็นได้จากรูปปั้นปูนและภาพวาดของท้าวจตุคามรามเทพบริเวณทางขึ้นพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช รูปปั้นทั้ง 2 พระองค์ตั้งตระหง่านให้ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้เคารพบูชามาเป็นเวลานานแล้ว
ด้วยความสำนึกในบุญคุณของท้าวจตุคามรามเทพ ชาวเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวคุณงามความดี รวมถึงกฤษดาภินิหารของท้าวจตุคามรามเทพโดยการบอกเล่าเป็นตำนานพื้นบ้านให้ลูกๆ หลานๆ ฟังสืบทอดต่อเนื่องกันมา จากตำนานศักดิ์สิทธิ์ นับวันก็เริ่มจะเลือนรางไปจากความทรงจำของผู้คน แต่ถึงกระนั้นเรื่องราวและชื่อของท้าวจตุคามรามเทพ ก็ยังคงประทับแน่นอยู่ในใจผู้เฒ่าผู้แก่ชาวนครศรีธรรมราชตลอดมา
ตามความเชื่อในเรื่องการสร้างบ้านแปลงเมืองแต่โบราณ ชาวไทยเชื่อกันว่าในแต่ละจังหวัดจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองคอยพิทักษ์รักษาเมืองให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ก่อนที่จะมีการสร้างเมืองนั้น เจ้าเมืองจะต้องทำพิธีสร้างเสาหลักเมืองประจำจังหวัดแล้วอัญเชิญดวงจิตศักดิ์สิทธิ์มาสถิตประจำศาลหลักเมือง แต่ที่เมืองนครศรีธรรมราชแตกต่างจากที่อื่น เพราะไม่ปรากฏว่ามีศาลหลักเมืองประจำจังหวัดมาเป็นเวลาเนิ่นนาน จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2530 ผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคนั้นได้อนุญาตให้เริ่มมีการก่อสร้างศาลหลักเมืองและของที่ระลึกที่แจกในงานก็คือพระเครื่องและผ้ายันต์ของท้าวจตุคามรามเทพ บุคคลที่ได้เช่าพระเครื่องและผ้ายันต์จตุคามรามเทพรุ่นแรกนี้ได้มีประสบการณ์พิเศษกับดวงจิตวิญญาณของท้าวจตุคามรามเทพ ทำให้มีการบอกกล่าวเล่าถึง “ความขลัง” ของพระเครื่องจนเป็นที่ฮือฮาของชาวบ้านทั่วไป
นับจากนั้นเป็นต้นมา “จตุคามรามเทพ” จึงเป็นชื่อที่ติดปากของพี่น้องชาวใต้ จุดนี้เองที่ทำให้ชื่อของท้าวจตุคามรามเทพเริ่มแพร่สะพัดโด่งดังไปทั่วดินแดนสยามในเวลาเพียงไม่กี่ปี
|