ตอนที่ 5 “เสาหลักเมือง” พญาไม้ตะเคียนทอง
คณะทำงานชมรม 28 ได้ร่วมแรงร่วมใจแบ่งทีมกันทำงาน ฝ่ายที่ไปเสาะหาไม้ตะเคียนตามคำบอกเล่าขององค์จตุคามรามเทพในทางทิศตะวันตก ซึ่งตรงกับตำแหน่งของภูเขายอดเหลือง อันเป็นภูเขาลูกหนึ่งในทิวเขานครศรีธรรมราช ในท้องที่ตำบลกระหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช
บริเวณที่พบต้นตะเคียนทองบนยอดเขาเหลืองนั้น พบเพียงต้นตะเคียนทองยืนเด่นเป็นสง่า รอบๆ บริเวณต้นตะเคียนทอง กลับเป็นลานเตียนโล่งไม่มีเศษหญ้าให้เห็น ชาวบ้านเรียกที่นี่ว่า “ลานนกหว้า” ตามตำนานเล่าว่า ในวันพระจะมีนกหว้าพกกันมารำแพนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า ก่อนรำแพนบรรดานกหว้าจะทำความสะอาดลานใต้ต้นตะเคียนโดยใช้ปากคาบเอาเศษใบไม้และสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ไปทิ้ง
ต้นไม้ตะเคียนทอง
ต้นตะเคียนทองที่ปรากฏต่อหน้าชาวชมรม 28 มีลักษณะตรงตามลักษณะของ “พญาไม้” ทุกประการ คือมีทรงพุ่มสง่างดงามลดหลั่นลงมาคล้ายคันฉัตรที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธี
ชมรม 28 และขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้เป็นตัวแทนของเอกชนในการเข้าพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัด อเนก สิทธิประศาสน์ เพื่อแจ้งถึงความประสงค์ที่ต้องการสร้างหลักเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง ซึ่งท่านผู้ว่าฯ อเนก ได้เห็นดีด้วยและให้การสนับสนุน
การสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชจึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน หน่วยงานราชการที่เข้ามารับผิดชอบคือคณะกรรมการสร้างสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
|