ตอนที่ 7 เบิกเนตรเสาหลักเมือง
หลังเสร็จพิธีฝังหัวใจสมุทร คณะดำเนินงานได้มอบหมายให้คนในละแวกอำเภอพรหมคีรีที่มีความรอบรู้ด้านไสยเวทย์เป็นผู้ทำพิธีตัดต้นตะเคียนทองที่เขายอดเหลือง พิธีเริ่มต้นด้วยการขอขมาต่อรุกขเทวดา เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าที่เจ้าทางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จากนั้นจึงบอกถึงความจำเป็นในการอัญเชิญพญาไม้ตะเคียนทองไปเป็นเสาหลักเมืองให้คนเคารพบูชาและขอเพียงเท่าที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น
ต้นไม้ตะเคียนทอง
พิธีการโค่นต้นไม้จึงเริ่มต้น ขณะที่ตัดต้นไม้อยู่นั้น ได้มีพายุพัดอย่างแรงจนต้นไม้โค่นลงที่ปากเหว ทำให้สามารถตัดได้เพียงโคนต้นไม้เท่าที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น ส่วนปลายที่อยู่ตรงปากเหวไม่สามารถฉุดเอามาได้จึงต้องเลื่อยทิ้งลงเหวไป เมื่อได้ไม้ตามความต้องการที่ขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงใช้ช้าง 3 เชือก ทำการชักลากไม้ซุงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร ยามประมาณ 4 เมตร
ลงจากยอดเขามาพักไม้ซุงไว้ที่บ้านของคุณพร้อมพันธ์ที่บริเวณหน้าเขามหาชัย จากนั้นขุนพันธ์รักษ์ราชเดชได้ทำพิธีเจิมเปิดปีกไม้จากไม้กลมๆ ให้เป็นไม้สี่เหลี่ยม เมื่อเปิดปีกไม้เป็นสี่เหลี่ยมเสร็จแล้วใช้กาบกล้วยห่อหุ้ม จากนั้นนำไม้ซุงมาพักไว้บริเวณจวนผู้ว่าฯ รอเวลาให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาออกแบบลายแกะไม้ แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบชัดเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรไม่สามารถออกแบบได้
ทางชมรม 28 จึงอัญเชิญองค์จตุคามรามเทพมาประทับทรง แล้วได้บอกเล่าถึงขั้นตอนของการทำงาน ท้าวจตุคามรามเทพในร่างประทับทรงได้บอกว่าให้ออกแบบเสาหลักเมืองเป็น 8 หน้า 16 ตา รูปลักษณ์ให้ไปดูที่บานประตูวัดพระบรมธาตุ
เสาหลักเมืองนครศรีธรรมราช 2 เศียร 8 หน้า 16 ตา
เมื่อได้ต้นแบบการแกะลายไม้หลักเมือง พิธีการแกะไม้ตะเคียนทองจึงเริ่มโดยขึ้นลวดลายที่แกะสลักตั้งแต่ฐานซึ่งเป็นวงรอบ 9 ชั้น มี 9 ลาย ส่วนบนของเสาเป็นรูปจตุคามรามเทพ (สี่พระพักตร์) หรือเทวดารักษาเมืองเหนือสุดเป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดพระเกตุ คือยอดชัยหลักเมือง รูปแบบการแกะสลักจินตนาการจากความเชื่อพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเคยมีอิทธิพลทางศิลปกรรมในภาคใต้และนครศรีธรรมราชแต่ครั้งโบราณ
เมื่อทำพิธีแกะไม้ตะเคียนทองเป็นที่เรียบร้อยจึงมีพิธีแห่ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2530 โดยลงเรือศรีวิชัยโบราณจำลอง ขณะที่อัญเชิญเสาหลักเมืองจากเรือจำลองลงตั้งบนพื้นลานหน้าวิหารหลวงได้เกิดปรากฏการณ์ “พระอาทิตย์ทรงกลด” เป็นที่น่าอัศจรรย์และประกอบพิธีเบิกเนตรหลักเมือง ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2530
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมยอดชัยหลักเมืองเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2530 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หลังจากนั้นจึงได้อัญเชิญยอดชัยหลักเมืองกลับมาประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมืองในวันรุ่งขึ้น ขนาดของเสาหลักเมืองมีความสูง 2.94 เมตร เส้นรอบวง 0.95 เมตร
|