ตอนที่ 9 วางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมือง
พระบรมธาตุ อยู่ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ในระหว่างที่ดำเนินการทำพิธีต่างๆ อยู่นั้น ทางคณะดำเนินงานได้มองหาทำเลที่จะจัดสร้างศาลหลักเมืองให้ได้ใกล้เคียงกับสถานที่เดิมที่เคยเป็นที่ตั้งของ “หินสลัก” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ สี่แยกตลาดท่าชี ด้านถนนมังคุดตรงไปออกถนนศรีธรรมราช ลักษณะของหินหลักเป็นหินรูปยาวรี วางเอาไว้ก้อนหนึ่งมักมีผู้คนนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้บูชา ต่อมาหินหลักดังกล่าวได้ถูกย้ายออกไป
นายอะผ่องย้อนรำลึกถึงความหลังให้ฟังว่า ตามธรรมเนียมหากใครก็ตามที่มาถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้วจะต้องแวะมากราบสักการะพระบรมธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว จากนั้นก็ไปไหว้สักการะสถานที่ตั้งศาลพระเสื้อเมืองที่ตั้งอยู่เยื้องๆ ตลาดท่าชี ส่วนศาลพระสยมก็ตั้งอยู่ด้านหลังตลาดท่าชี ซึ่งศาลทั้งสองตั้งอยู่ในอาณาเขตบริเวณใกล้ๆ กัน แต่ปัญหาที่ตามมาคือยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะจัดสร้างศาลหลักเมืองไว้ที่ไหน
ศาลหลักเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช
ในช่วงเวลานั้นเอง ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านสัมพันธ์ ทองสมัคร ได้มาจัดสร้างหอสมุดจดหมายเหตุตรงข้างๆ สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ด้านติดถนนราชดำเนิน เมื่อท่านรัฐมนตรีฯ สัมพันธ์ได้ทราบข่าวดังกล่าวจึงอนุญาตให้สร้างศาลหลักเมืองต่อจากหอสมุดจดหมายเหตุ ตามการเสนอแนะของคณะกรรมการสร้างสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมกับภาคเอกชน จึงได้มีการก่อสร้างศาลหลักเมืองขึ้นบนที่ดินราชพัสดุบริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง บนเนื้อที่ 2 ไร่ ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง
หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมือง งานออกแบบก่อสร้างมอบหมายให้นายช่างยุทธนา โมรากุล และคุณสมจิตร ทองสมัครเป็นผู้ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายศิลปะศรีวิชัยเรียกว่า “ทรงเหมราชลีลา” และได้มีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2532
|