กำเนิดและปริศนาชื่อ “จตุคามฯ-ขัตตุคามฯ”
รูปปั้นจตุคามรามเทพ ที่วิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุฯ
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2528 ที่วัดนางพญา ต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีการประทับทรงผ่านร่าง นายอะผ่อง สกุลอมร เพื่อบอกกล่าวแก่ พ.ต.อ. สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ผู้กำกับการตำรวจภูธร จ.นครศรีธรรมราชในขณะนั้น ให้สร้างหลักเมืองโดยระบุให้ทำจากไม้ตะเคียนทอง ทางทิศเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช
การประทับร่างทรงในครั้งที่ 3 มีการวาดรูปผ่านร่างทรง และนำไปให้ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ดู ท่านบอกว่ารูปภาพนี้คือองค์ จตุคามรามเทพ ซึ่งเป็นเทพประจำเมืองนครศรีธรรมราชมาแต่โบราณกาลนับพันปีแล้ว มีรูปจำหลักไว้ที่วัดพระบรมธาตุฯ (ชื่อเดิมของวัดพระมหาธาตุฯ)
เมื่อได้ดำเนินการสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช จึงสร้างวัตถุมงคลรูปกลมรูปทรงเหมือนงบน้ำอ้อย หรือน้ำตาลน้ำอ้อย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5.5 ซ.ม. และ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.5 ซ.ม. เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2530 เรียกกันว่า “รุ่นศาลหลักเมือง”
วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ
มีรูปองค์จตุคามรามเทพ อยู่ตรงกลาง รายล้อมด้วยรูปวงกลมวัฎจักรตามแบบคติศิลปะศาสตร์ศรีวิชัย รูปพญาราหูอมจันทร์รายล้อม 8 ทิศ กงจักรล้อมรอบ 12 นักษัตร หัวใจพระคาถากำกับธาตุ ตามคติธรรมชาวศรีวิชัย ซึ่งเป็นต้นแบบของ “จตุคามรามเทพ” ที่สร้างสืบเนื่องกันมา
รูปจตุคามฯ ที่นำมาจัดสร้างวัตถุมงคลสุดฮิตในขณะนี้ เชื่อกันว่า นำมาจากภาพ “จตุคามรามเทพ” ที่ทางขึ้นสู่ลานประทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่เรียกว่า วิหารทรงม้า หรือ วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์
แต่ในเอกสารบางแห่ง จะเรียกชื่อ “จตุคาม” ว่า “ขัตตุคาม”
ดังเช่นหนังสือ “ตำนานพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งพระรัตนธัชมุนี (แบน คัณฐาภรโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้ นายสวัสดิ์ รัตนเสวี รวบรวมขึ้น ระบุว่า ด้านซ้ายของบันไดที่ขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุเจดีย์ว่า มีรูป “ขัตตุคามรามเทพ” ท้าววิรุฬหก ท้าววิรุฬปักษ์ ท้าวทศรถราช นาค 7 หัว 7 หาง ท้าวกุเวรณุราช และ รูปสัตว์ภาพยนตร์ลงรักปิดทองประดับด้วยแก้วตะกั่วตัด ว่ากันว่า เดิมเป็นฝีมือของอินเดีย สร้างระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-18 โดยฝีมือตระกูลช่างปาละเสนาแต่ถูกดัดแปลงซ่อมแซมหลายครั้ง
2 เศียร 8 หน้า
เรื่องชื่อของจตุคามและขัตตุคาม ยังเป็นความสงสัยกันอยู่ ถึงความหมายและความเป็นมา
สำหรับวัตถุมงคลจตุคามรามเทพที่สร้างพร้อมกันเพื่อหาทุนมาสร้างศาลหลักเมืองนั้น นายณสรรค์ พันธรักษ์ราชเดช ทายาทคนโตของพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช เปิดเผยว่ามีหลายประเภท อาทิ
1.เศียรองค์จตุคามรามเทพ
2.ธงและผ้ายันต์
3.ผ้ายันต์ใหญ่ 108 ผืน ผ้ายันต์เล็ก 3,000 ผืน
4.พระผงหลักเมือง
5.พระผงพุทธสิหิงค์
6.เหรียญพังพกาฬ
7.เหรียญโลหะทองแดง
8.สติ๊กเกอร์รูปราหูอมจันทร์ และ
9.วัตถุมงคลที่ระลึกต่างๆ
|