หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

สถานที่สำคัญในตำนาน “จตุคามฯ”


บริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์

หากพูดถึง “จตุคามรามเทพ” ต้องนึกถึง 2 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช นั่นก็คือ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” และ “หลักเมืองนครศรีธรรมราช”

ไม่ว่าจะสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นไหน จะต้องมาบวงสรวง ประกอบพิธีพุทธาภิเษกและเทวาภิเษก ณ สถานที่ 2 แห่งนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าจะสร้างความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ให้กับวัตถุมงคลมากยิ่งขึ้น

แทบทุกวันพื้นที่ 2 แห่งดังกล่าวไม่เคยว่างเว้นจากพิธีกรรม

ถึงขนาดจองวันประกอบพิธีข้ามเดือนข้ามปีกันเลย

ก่อนที่จะทำความรู้จักกับ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” และ “หลักเมืองนครศรีธรรมราช”

มาศึกษาพื้นที่ใหญ่ก่อน “จังหวัดนครศรีธรรมราช” คนทั่วไปมักเรียกสั้นๆ ว่า “เมืองนคร”

คำว่า “เมืองนครศรีธรรมราช” สันนิษฐานว่ามาจากพระนามของกษัตริย์ผู้ปกครองในอดีต ทรงมีพระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช) ซึ่งมีความหมายว่า “นครอันเป็นสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม” หรือ “เมืองแห่งพุทธธรรมของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่”


พระมหาธาตุเจดีย์ อยู่ในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

และต่อมามีความเชื่อกันว่า “องค์จตุคามรามเทพเทวราชโพธิสัตว์” เป็นหนึ่งในกษัตริย์ผู้ครองนครในอดีต และเป็นที่มาของวัตถุมงคลจตุคามรามเทพอันโด่งดังอยู่ในปัจจุบัน

ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด เป็นพระบรมธาตุมีรัศมีล้อมรอบด้วย 12 นักษัตร มีที่มาจากสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ ทรงมีพระปรีชาสามารถขยายอาณาเขตได้ครอบคลุมเมืองบริวาร 12 เมือง ได้แก่

เมืองสายบุรี ใช้ตราหนูหรือปีชวด เป็นตราประจำเมือง เมืองสายบุรีเป็นเมืองเก่าบนฝั่งแม่น้ำสายบุรี ประกอบด้วยชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นราบริมทะเลหลายแห่ง จัดเป็นหัวเมืองที่ 1 ในทำเนียบเมือง 12 นักษัตร ถือปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดปัตตานี

เมืองปัตตานี ใช้ตราวัว (ฉลู) เมืองตานีเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งรู้จักในหมู่พ่อค้าต่างชาติช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-18 ในชื่อ “ลังกาสุกะ” จัดเป็นหัวเมืองที่ 2 ในทำเนียบเมือง 12 นักษัตร ปัจจุบันคือจังหวัดปัตตานี

เมืองกลันตัน ใช้ตราเสือ (ขาล) เป็นชุมชนเก่าแก่ทางตะวันออกของคาบสมุทรมลายู แต่เดิมประชาชนนับถือศาสนาพุทธและฮินดู ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย

เมืองปาหัง ใช้ตรากระต่าย (เถาะ) เป็นชุมชนทางตอนล่างของแหลมมลายู ติดกับไทรบุรีหรือเคดาห์ ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย

เมืองไทรบุรี ใช้ตรางูใหญ่ (มะโรง) เป็นชุมชนเก่าทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและบึงตม เดิมประชาชนนับถือพุทธศาสนา ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ 20 จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ชื่อว่า “เคดาห์”

เมืองพัทลุง ใช้ตรางูเล็ก (มะเส็ง) เป็นชุมชนเก่าแก่แต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 11-13 ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย ปัจจุบันคือจังหวัดพัทลุง

เมืองตรัง ใช้ตราม้า (มะเมีย) เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันตก ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ควนธานี ต่อมาได้ย้ายไปที่กันตังและทับเที่ยงตามลำดับ ปัจจุบันคือจังหวัดตรัง

เมืองบันทายสมอ ใช้ตราลิง (วอก) สันนิษฐานว่าเป็นเมืองไชยา ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่มาแต่พุทธศตวรรษที่ 10 เป็นอย่างน้อย มีร่องรอยความเจริญทางเศรษฐกิจและศาสนาพุทธนิกายหินยานและมหายาน รวมทั้งศาสนาฮินดูนิกายไวษณพและนิกายไศวะจำนวนมาก ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมืองสะอุเลา ใช้ตราไก่ (ระกา) สันนิษฐานว่าเป็นเมืองท่าทองอุแทหรือกาญจนดิษฐ์ อยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าทอง และลุ่มคลองกะแตะ เคยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงชั้นเอกและเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของนครศรีธรรมราช ปัจจุบันคืออำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมืองตะกั่วป่า ใช้ตราสุนัข (จอ) เคยเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลตะวันตก เป็นแหล่งผลิตดีบุกและเครื่องเทศมาแต่โบราณ ปัจจุบันคืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

เมืองกระบุรี ใช้ตราหมู (กุน) เป็นชุมชนเล็กๆ บนฝั่งแม่น้ำกระบุรี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า และภูเขาสลับซับซ้อน ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดระนอง


บริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์

สถานที่สำคัญที่ต้องเอ่ยถึงเป็นอันดับแรกเพราะมีความเกี่ยวข้องผูกโยงถึง องค์จตุคามรามเทพ คือ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศจดทะเบียนวัดพระมหาธาตุฯ เป็นโบราณสถาน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

ตามตำนานกล่าวว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 854 หรือเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว มีศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย โดยเจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลาและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็กๆ เพื่อเป็นที่หมายไว้

ต่อมาปี พ.ศ. 1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) ได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นทรงศาญจิ และในปี พ.ศ. 1770 พระองค์จึงได้รับเอาพระภิกษุจากลังกามาตั้งคณะสงฆ์และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือ เป็นทรงระฆังคว่ำ หรือ โอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง รอบพระมหาธาตุมีเจดีย์ 158 องค์ สูงจากฐานถึงยอด 37 วา 2 ศอก ยอดสุดของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา 1 ศอก แผ่เป็นแผ่นหนาเท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 960 กิโลกรัม

ภายในวัดพระมหาธาตุฯ มีวิหารสำคัญหลายองค์ ตั้งแต่พระวิหารหลวงซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอมมีพระพุทธรูป “พระเจ้าศรีธรรมโศกราช” ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ (พระทรงม้า) ทางขึ้นไปบนลานประทักษิณ วิหารทับเกษตร วิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกาซึ่งเป็นที่จัดและแสดงโบราณวัตถุ


หลักเมืองนครศรีธรรมราช

ส่วน “หลักเมืองนครศรีธรรมราช” อยู่ที่บริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช มีรูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ช่างผู้สลักบรรจงแกะขึ้น ตั้งแต่ฐานถึงยอดหลักเมืองมีลวดลายเก้าแบบ ทุกแบบแกะสลักขึ้นด้วยคติธรรมความเชื่อในเรื่องกฎวัฎจักรและโลกธรรมเป็นหลัก

บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช พรั่งพร้อมด้วยศาลบริวารประจำทิศทั้ง 4 เรียกว่า ศาลจตุโลกเทพ ทำหน้าที่พิทักษ์รักษานครศรีธรรมราช


ไปข้างบน