ปล่อยวาง
สุพจน์นั่งอยู่ในร้านกาแฟชื่อดัง
แต่แทนที่จะมีความสุขกับคาปูชิโนรสโปรด กลับมีสีหน้าขุ่นเคือง ไม่เสบยเอาเสียเลย เพื่อนคนหนึ่งเผอิญเดินเข้าไปในร้าน เห็นอาการของสุพจน์แล้วแปลกใจ จึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น
"ก็เจ้าพนักงานเก็บเงินที่เคาน์เตอร์น่ะสิ" สุพจน์ตอบ
"ดูสายตาของมันสิ"
"ทำไมเหรอ เขาก็ดูปกติดีนี่" เพื่อนว่า
"แกไม่รู้อะไร มันรังเกียจคนอีสาน ดูมันมองฉันสิ "
"เพิ่งรู้ว่าแกเป็นคนอีสาน"
"ใครว่า หน้าตาฉันแค่เหมือนอีสาน แต่ฉันเป็นคนกรุงเทพ ฯ ทั้งแท่ง"
ถ้าคุณเป็นเพื่อนของสุพจน์ คงอดงงงวยไม่ได้ พนักงานคนนั้นดูถูกคนอีสานจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้
แต่ถึงจะจริง สุพจน์ก็ไม่น่าจะไปหัวเสีย ก็ในเมื่อตัวเองไม่ได้เป็นอีสานสักหน่อย จะไปเดือดร้อนทำไม ถ้าจะทุกข์ร้อนแทนคนอีสานก็ว่าไปอย่าง แต่นี่กลับไปรับสมอ้างว่าเป็นคนอีสาน แล้วก็เลยทุกข์เสียเอง
ฟังเรื่องของสุพจน์แล้ว ใคร ๆ ก็ต้องบอกว่าเขาหาเรื่องใส่ตัวแท้ ๆ อยู่ดีไม่ว่าดี
แต่เอ๊ะ บ่อยครั้งเราก็เป็นอย่างนั้นไม่ใช่หรือ เวลาคนอื่นเข้าใจผิดคิดเราว่าคดโกง ไม่รับผิดชอบ เห็นแก่ตัว ฯลฯ ทำไมเราถึงโกรธในเมื่อเราก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิดสักหน่อย เหตุใดเราถึงไปรับสมอ้างว่าเป็นอย่างเขาว่า
ลองคิดดูว่าวันหนึ่ง ๆ เราเป็นทุกข์เพราะไปรับสมอ้างในเรื่องที่เราไม่ได้เป็น กี่สิบกี่ร้อยครั้ง ใหม่ ๆ ก็รับสมอ้างด้วยความเผลอ แต่ในที่สุดก็อาจปักใจเชื่อว่าตัวเองแย่อย่างที่เขาว่าจริง ๆ ไม่มีอะไรที่แย่กว่านี้อีกแล้ว
มีเหมือนกันที่บางครั้งเรารู้ดีว่าตัวไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า แต่ก็ยังทุกข์อยู่ ถามว่าเป็นเพราะอะไร คำตอบก็คือ เราทนไม่ได้ที่เขาเห็นเราแย่
เรา "เป็น" อย่างไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าคนอื่น "เห็น" เราอย่างไร
"เป็น" กับ "เห็น"นั้นต่างกันมาก แต่บ่อยครั้งเรากลับให้ค่ากับความเห็นหรือสายตาของคนอื่น ยิ่งกว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่จริง ๆ
นี้คือปัญหาของตัวตนที่ครอบงำใจเรา ตัวตน หรือ อัตตา นั้นปรารถนาการพะเน้าพะนอ ไม่มีอะไรที่ทำให้มันพองโตเท่ากับคำยกย่องสรรเสริญหรือการพินอบพิเทา
เมื่อมีคนชื่นชม เราไม่ค่อยสนใจเหตุผลของเขามากเท่ากับคำว่า "คุณเก่ง" หรือ "คุณสวย" ในทำนองเดียวกันเมื่อมีคนตำหนิ เหตุผลของเขามีความหมายต่อเราน้อยกว่าคำว่า "เธอแย่" หรือ "เธอขี้เหร่" ตัวตนใหญ่โตเท่าไหร่ ก็เจ็บมากเท่านั้น เพราะรับเอาแรงกระแทกไปเต็ม ๆ ทั้ง ๆ ที่หลบได้ แต่ไม่หลบเพราะไปยึดถือเอาคำต่อว่านั้นมาเป็น "ของฉัน" หรือ "ของกู"
ที่จริงเหตุผลของเขาอาจจะดี แต่พอไปคิดแค่ว่า "เขาว่าฉัน ๆๆ" ก็เลยได้แต่ฟูมฟาย ไม่เอาเหตุผลของเขามาพิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่
เป็นธรรมดาของตัวตนที่ชอบยึดถือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็น "ของฉัน" เช่น บ้านของฉัน แฟนของฉัน ชื่อเสียงของฉัน ปัญหาก็คือ พอยึดจนเคยตัวแล้ว ของไม่ดีก็ยึดว่าเป็นของฉันด้วย ผลก็คือแบกเอาคำตำหนิติเตียนมาไว้ในใจทั้งวันทั้งคืน จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จะวางก็วางไม่เป็น เพราะยึดไว้เป็นนิสัยเสียแล้ว
พอยึดถือหนักเข้า ทีนี้อะไรที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แม้ไม่เกี่ยวข้องกับตัว ก็ไปยึดไปแบกเอาไว้จนเป็นทุกข์ เพียงแค่มีเสียงดังเท่านั้น ก็ไปคว้าเอาเสียงนั้นมาเล่นงานตัวเอง เสร็จแล้วก็ไปต่อว่าเจ้าของเสียงนั้น แทนที่จะหันมาดูจิตใจของตัวเอง
คราวหนึ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโรได้รับนิมนต์ไปฉันเพลที่บ้านโยมในกรุงเทพ ฯ เมื่อฉันเสร็จโยมก็นิมนต์ให้ท่านเอนกายพักผ่อนก่อนเดินทางกลับวัดที่สิงห์บุรี
ระหว่างที่ท่านพัก ก็มีเสียงเกี๊ยะดังมาจากข้างบ้านซึ่งเป็นร้านขายของ ศิษย์คนหนึ่งซึ่งอุปัฏฐากท่านอยู่ก็บ่นขึ้นมาดัง ๆ ว่า
"แหม เดินเสียงดังเชียว"
หลวงปู่แม้จะหลับตาอยู่ แต่ก็รับรู้ตลอด จึงพูดขึ้นมาเบา ๆ ว่า "เขาเดินของเขาอยู่ดี ๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง"
ไม่ใช่หูเท่านั้น
แต่ตาของเราก็ชอบหาเรื่องไม่ใช่ย่อย
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะใจของเรานั่นเอง
ที่ชอบเผลอไปยึดไปแบกอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน
ปล่อยวางเสียบ้าง แล้วอะไรต่ออะไรจะดีเอง
บทความจากนิตยสาร "Teen,Kids & family" งานเขียนโดย....รินใจ
|