ท่องกทม. ดูสัญลักษณ์จักรพรรดิราช
พระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแกนกลางจักรวาล เป็นประธานของวัด ที่มีการพยายามตกแต่งให้ดูเป็นศูนย์กลางแกนจักรวาลด้วยสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนัง
"จักรพรรดิราช"
คือสถานะความเป็นราชาเหนือราชันย์ทั้งปวงในโลกหล้า โดยตามคติความเชื่อทางพุทธเถรวาทนั้น ได้บอกเอาไว้ให้ตีความได้ว่า การจะเป็นพระจักรพรรดิราชได้ ต้องบำเพ็ญตบะฌานและการสั่งสมบุญญาบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนถึงชาติสุดท้ายจะสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ทางธรรม คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจะเป็นมหาบุรุษแห่งโลกในสถานะของ "จักรพรรดิราช" ...
เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดทริปพาเที่ยวเมืองกรุง มุ่งหน้าดูสัญลักษณ์จักพรรดิราชขึ้น ภายใต้โครงการ “กรุงเทพศึกษา” โดยใช้ชื่องานว่า “จักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม” ซึ่งในการณ์นี้ถือเป็นโอกาสงามของการเรียนรู้ ที่ได้ “สุดยอดนักประวัติศาสตร์” อย่างรศ.ศรีศักร วัลลิโภดม จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ , ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , รศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและอ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ จากรั้วศิลปากร มาอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย
ถะหรือเจดีย์จีน สัญลักษณ์วิหารของเทวดา
"เข้าใจความหมายของจักรพรรดิราช"
อ.สุเนตรได้เสนอภาพลักษณ์กว้างๆ ของกษัตริย์ไทยว่า มี 3 สถานะคือ ทรงเป็นธรรมราชา ทรงไว้ซึ่งธรรมแห่งจักรพรรดิหรือ “จักรวรรดิวัตร” เพื่อรักษาดุลยภาพของบ้านเมือง , ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ คือ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีและสวัสดิการของประชาชน ทรงเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ ยกระดับชีวิตและจิตใจของราษฎร และในฐานะที่ทรงเป็นพระจักรพรรดิราชที่จะทรงเป็นพระราชาเหนือราชาอื่นๆ
“ในแง่ของภาษาศาสตร์จักรพรรดิ หรือจากรากศัพท์คำว่า “จักรวาติน” ที่แปลออกมาได้ว่า “ผู้หมุนกงล้อ” ทำให้ฝรั่งมักจะแปลความหมายของจักรพรรดิว่าเป็น The Wheel Turner ซึ่งสามารถจะแปลนัยความหมายของคำได้ว่า พระจักรพรรดิเป็นผู้หมุนกงล้อรถศึก เพื่อทำสงครามปราบศัตรู ทำให้บ้านเมืองปราศจากอริราช เป็นราชกรณียกิจในการป้องกันประเทศ ,จักรพรรดิราชเป็นผู้หมุนกงล้อธรรม คือธรรมจักร ซึ่งเป็นหน้าที่กรณียกิจในการเผยแผ่พระศาสนา และจักรพรรดิราชเป็นผู้หมุนจักรแก้ว อันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แก้ว 7 ประการของจักรพรรดิราชเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่เหนือราชันย์ทั้งปวง” ดร.สุเนตรกล่าว
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ส่วนหนึ่งในการจัดแต่งเพื่อให้พระอุโบสถกลายเป็นเขาพระสุเมรุ
ด้านรศ.ดร.นิธิแสดงทัศนคติต่อความเป็นจักรพรรดิราชว่า เป็นแนวความเชื่อ เป็นอุดมคติ ซึ่งแปลว่าไม่มีจริง ดังนั้นจึงมีการทำให้ความเป็นจักรพรรดิราชในอุดมคตินั้นเป็นรูปธรรมทั้งในเชิงของราชาธิราช คือการเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ และการเป็นธรรมิกราช เพื่อจรรโลงพระศาสนา
"เที่ยวเมืองกรุงมุ่งหน้าสัญลักษณ์จักรพรรดิราช"
และเมื่อได้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายให้เข้าใจถึงความหมายและลักษณะความเป็นจักรพรรดิราชแล้ว ที่นี้ถึงคิวของรศ.ศรีศักร จะมารับบทเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์นำชมวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ อันมีสัญลักษณ์จักรพรรดิราชให้เราได้ศึกษากัน
ซึ่งวัดเหล่านั้นจริงๆ อาจจะเป็นวัดที่หลายคนเดินผ่านทุกวัน แต่ไม่รู้ว่ามีความสำคัญแบบไหนอย่างไร นั่นคือ “พระทรงเครื่อง” ที่วัดนางนอง, “ยอดพระมหามงกุฎบนพระปรางค์”ที่วัดอรุณราชวรารามและรูปแบบแกนจักรวาลที่วัดสุทัศน์เทพวราราม
หนึ่งในเจ็ดเสาภายในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ ตัวแทนของสัตตบรรพต คือภูเขาที่อยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุ
แต่ก่อนจะพาชม รศ.ศรีศักรได้กล่าวนำถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงรังสรรค์สัญลักษณ์เหล่านี้ไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 ในพระราชวงศ์จักรีนั่นเอง พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันมหาศาลซึ่งทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ซึ่งพระองค์นอกจากที่จะดูแลเรื่องการค้าพาณิชย์จนประเทศเกิดเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าแล้ว พระองค์ยังทรงมีสายพระเนตรยาวไกล เล็งเห็นประโยชน์ของการรวมชุมชนเล็กๆให้เป็นปึกแผ่นและดำเนินวิเทโศบายให้ชุมชนเหล่านั้นควบคุมดูแลกันเองได้
คดพระระเบียงวัดสุทัศน์แสดงสัญลักษณ์การกั้นขอบเขตจักรวาล
“วิธีการสร้างชุมชนของรัชกาลที่3 ก็คือทรงโปรดฯให้สร้างวัด เมื่อมีวัดชุมชนก็จะตามมา แต่จะสังเกตได้ว่าในยุคนั้นคนจีนและคนต่างชาติเข้ามาในสยามเยอะมาก ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงนั้นมีกลิ่นอายความเป็นพระราชนิยมในแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ อยู่ด้วย นั่นก็คือรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน ทำให้ทั้งคนไทยและคนจีนที่กลมกลืนอยู่ในสังคมอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แปลกแยก”
พระประธานวัดนางนองที่ร.3โปรดฯให้หล่อเป็นพระทรงเครื่อง คือทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรพรรดิราชตามความเชื่อในพุทธประวัติเรื่อง"ปราบท้าวมหาชมภู"
รศ.ศรีศักรยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจจนถึงแก่นในการทำนุบำรุงบ้านเมืองและอวยความกินดีอยู่ดีแก่ราษฎรแล้ว ก็ดำริถึงการทำนุบำรุงศาสนา ซึ่งตามธรรมดาแล้วพระมหากษัตริย์เมื่อทรงกระทำพระราชกรณียกิจเพื่อส่วนรวมแล้วจะถวายความดีนี้แก่พระศาสนา
ซึ่งรัชกาลที่ 3 เองก็ทรงทำเช่นนี้ด้วยการถวายสัญลักษณ์ความเป็นจักรพรรดิราชของพระองค์แด่พระพุทธศาสนาในรูปแบบของการหล่อพระประธานวัดให้เป็น “พระทรงเครื่อง”
ยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งมีพระมหามงกุฏครอบบนนภศูล ถือเป็นการทรงเครื่องพระปรางค์อันเป็นประธานของวัด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิราชอีกอย่างหนึ่ง
พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้มีลักษณะพิเศษด้วยการสวมเครื่องทรงแบบกษัตริย์ โดยรศ.ศรีศักรได้สันนิษฐานว่า การโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปทรงเครื่องนี้ น่าจะมาจากคติความเชื่อของจักรพรรดิราชที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน “ท้าวมหาชมภู” ที่เป็นกษัตรยิ์อันมีฤทธิ์มากด้วยชาติก่อนถวายเข็มเย็บผ้าแด่พระพุทธเจ้าทีปังกร
ทำให้เมื่อตายลงก็ได้กลับมาเกิดเป็นกษัตริย์ที่เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ท้าวมหาชมพูนี้มีนิสัยเกกมะเหรกเกเร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้แปลงพระวรกายเป็น “พระจักรพรรดิราชในเครื่องทรงอย่างกษัตริย์” ซึ่งในพุทธประวัติส่วนนี้น่าจะเป็นที่มาของ “พระทรงเครื่อง” ซึ่งแพร่หลายกันมาตั้งแต่แผ่นดินอยุธยา ยุคของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐแล้ว
รศ.ศรีศักรขณะกำลังบรรยายหน้าพระปรางค์วัดอรุษ
ทั้งนี้ สัญลักษณ์แห่งจักรพรรดิราชของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้านั้น นอกจากจะปรากฏในรูปของพระทรงเครื่องวัดนางนองแล้ว ยังมีปรากฏที่ยอดพระปรางค์ในวัดอรุณราชวรารามที่ทรงโปรดฯให้นำพระมหามงกุฎไปครอบไว้บนยอดนภศูลพระปรางค์อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนัยความหมายที่หลายคนเอาไปตีความว่าพระองค์ได้ประกาศถึงรัชทายาทสืบบัลลังก์ต่อจากพระองค์คือเจ้าฟ้ามงกุฏหรือรัชกาลที่4 แต่รศ.ศรีศักรกลับให้ข้อมูลแบบฟันธงว่าจริงๆ แล้วมิได้เป็นเช่นนั้น หากแต่การกระทำเช่นนี้ของพระองค์ ก็เสมือนหนึ่งการทรงเครื่องให้พระประธานวัดนางนอง แต่ที่วัดอรุณฯแห่งนี้มีพระปรางค์เป็นองค์ประธานวัด จึงทรงเครื่องพระมหามงกุฎให้พระปรางค์แทน
สำหรับวัดสุทัศน์เทพวรารามนั้น แรกเริ่มเป็นการสร้างโดยพระราชประสงค์ของรัชกาลที่1 แต่ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน การสร้างดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเสร็จสิ้นลงในสมัยรัชกาลที่3 ซึ่งจุดเด่นและข้อต่างออกไปของการแสดงสัญลักษณ์แห่งจักรพรรดิราชของวัดนี้มิได้เห็นเป็นวัตถุระบุลงไปอย่างชัดเจนเหมือนกับพระทรงเครื่องหรือพระมหามงกุฏ หากแต่เป็นการจัดวางสิ่งต่างๆ รอบพระอุโบสถเพื่อทำให้พระอุโบสถเป็นแกนกลางของจักรวาล
ยอดพระมหามงกุฏบนพระปรางค์
อ.ศิริพจน์ ระบุถึงการจัดวางสิ่งต่างๆ รอบพระอุโบสถในวัดดังกล่าวว่า หากเทียบความเป็นประธานของแต่ละวัดแล้ว พระทรงเครื่องคือประธานของวัดนางนอง , พระปรางค์คือประธานของวัดอรุณฯ สำหรับวัดสุทัศน์ฯนั้น ประธานของวัดก็คือพระอุโบสถ ซึ่งมีการพยายามจัดวางสถาปัตยกรรมต่างๆ ตลอดจนวาดจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถให้มีความเกี่ยวเนื่องกับเขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาล ซึ่งเป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งจักรพรรดิราชอีกรูปแบบหนึ่ง
|