วัดเส้าหลินในโลกแห่งทุนนิยม
ศิษย์สำนักเส้าหลินร่วมแสดงพลังในงานเทศกาล ‘ ศิลปะการต่อสู้แบบโบราณ’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2547
ชีวิตคนเมืองจีน/ ท่ามกลางกระแสทุนนิยมอันเชี่ยวกราก วัดเส้าหลิน แหล่งกำเนิดกังฟูอันเลื่องชื่อ กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับกระแสความคลั่งไคล้ศิลปะการต่อสู้แบบจีน ทำให้ชีวิตบรรพชิตในวัดอายุกว่า 1,500 ปีแห่งนี้ สะดวกสบายและทันสมัยขึ้น หากแต่สิ่งเหล่านี้ก็ได้บั่นทอนความสงบสุขและมนต์ขลังของวัดเส้าหลินไป
เช้านี้ก็เหมือนกับทุกเช้าที่ผ่านมา ขบวนรถบัสที่บรรทุกนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักมาเต็มคัน ต่างทยอยกันเข้ามาเยี่ยมเยือนวัดเส้าหลิน แต่ภายในใจของหลี่เหยาจิ้น ไม่ได้รู้สึกอินังขังขอบกับภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า หากแต่รู้สึกโหยหาวันเวลาในอดีตเมื่อครั้งที่เข้ามาบวชเป็นพระในวัดแห่งนี้เมื่อ 20 ปีก่อน
“ เดี๋ยวนี้ ที่นี่มีคนมากเกินไป ” หลี่กล่าวขณะยืนอยู่กลางลานวัด ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของภาษาต่างประเทศหลายสิบภาษา
“ มันยากที่จะหาสถานที่เงียบสงบสำหรับฝึกสมาธิ ”
พระในวัดเส้าหลินกำลังเพลินเพลินกับการเล่นอินเตอร์เน็ต
วัดเส้าหลิน แหล่งกำเนิดของกังฟูหรือศิลปะการต่อสู้แบบจีนอันเลื่องลือ สามารถดูดสตางค์จากกระเป๋านักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้เป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน
“ความจริงแล้ว พวกเราเองก็รู้สึกกังวลต่อผลกระทบจากการท่องเที่ยว แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้” หลี่ซ่งเจียง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของวัดกล่าว
“ ผมสามารถพูดแทนพระในวัดเส้าหลินได้เลยว่า พวกเราที่นี่ไม่มีใครสักคนที่ยินดีกับการมาของบรรดานักท่องเที่ยวเหล่านี้ ”
ผลจากการไหลทะลักของนักท่องเที่ยว ทำให้ภิกษุในวัด 180 รูป กลายเป็นคนแปลกหน้าใน ‘บ้าน’ ของตัวเอง และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ถูกใช้เป็นเครื่องมือของธุรกิจท่องเที่ยว
พ่อแม่ส่งซุนจงเฟยมาอยู่วัด ตั้งแต่เขาอายุ 10 ขวบ พวกเขาคิดว่าซุนจะได้รับการศึกษาและขัดเกลาจิตใจตามวิถีทางของนักบวช แต่วันเวลา 3 ปีที่ซุนใช้ชีวิตอยู่ในอารามแห่งนี้ กลับหมดไปกับการขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว
“แม่และพ่อของผมพูดว่า คำสอนของพุทธศาสนาได้ให้สิ่งดีๆแก่มนุษย์ ท่านจึงอยากให้ผมใช้ชีวิตรับใช้ศาสนา ” ซุนกล่าว ขณะยืนขายเสื้อทีเชิ้ตลายวัดเส้าหลินราคาตัวละ 60 หยวน ( ราว 300 บาท)
สิ่งปลูกสร้างหลายหลัง รวมถึงเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆอีกมากมาย ถูกนำมาใช้ เพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การเดินทางที่ยาวไกลกว่า 1,500 ปี ก็มีส่วนทำให้อารามแห่งนี้ มีสภาพทรุดโทรมไป
อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของวิชากังฟูของวัดเส้าหลิน มิได้ลดน้อยลงตามกาลเวลา ในทางตรงข้าม ยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ตลอดทางจากเมืองเติงเฟิง จนถึงธรณีประตูของวัด มีโรงเรียนสอนกังฟูอยู่ถึง 83 แห่ง มีนักเรียนรวมๆกันแล้วราว 40,000 คน เรียกได้ว่าเป็นถนนสู่อาชีพบอดี้การ์ดและนักแสดงบทบู๊ ก็ว่าได้
ไม่เฉพาะแต่คนจีนเท่านั้น แม้แต่ชาวต่างชาติก็นิยมมาเรียนศิลปะการต่อสู้ที่นี่ ตั้งแต่วัดเส้าหลินเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปี 1988 เป็นต้นมา คาดว่ามีหนุ่มสาวชาวต่างชาติ ที่เข้ามารับ ‘วิทยายุทธ์’ จากสำนักเส้าหลินไปแล้วราว 10,000 คน จึงไม่ต้องแปลกใจที่พบเห็น ‘ศิษย์สำนักเส้าหลิน’ ในที่อื่นๆทั่วโลก
ธุรกิจศิลปะการป้องกัน ภายใต้แบรนด์ ‘เส้าหลิน’ เฟื่องขนาดว่าเจ้าตำรับศิลปะการต่อสู้แดนมังกร ต้องลุกขึ้นมาจัดตั้ง ‘บริษัทพัฒนาอุตสาหกรรมวัดเส้าหลินแห่งเหอหนัน’ ขึ้น เพื่อปกป้องสิทธิปัญญาของตนเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
แต่อย่างน้อยเงาแห่งธุรกิจ ยังไม่ได้มีชัยเหนือวัดเส้าหลินเสียทีเดียว นักเรียนที่นี่ยังหวังว่าทักษะที่ได้รับจากอารามแห่งนี้ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อหาเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต
“ กังฟู จะทำให้ร่างกายของคุณแข็งแรง และยังช่วยยกระดับจิตใจด้วย ” ข่งหลิงฟาง นักเรียนวัย 21 ปีกล่าว “ คุณสามารถนำไปใช้ในงานหลายอย่าง แม้แต่เป็นพนักงานธนาคาร แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากเป็นบอดี้การ์ด ”
ฝึกกังฟูท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ หนึ่งในกิจกรรมของพระวัดเส้าหลิน
ท่ามกลางบรรยากาศที่เข้มงวด ข่งมีหน้าที่ฝึกเด็กหนุ่ม 18 คน
“ความรับผิดชอบของผมคือให้พวกเขาได้เรียนดี ฝึกดี และกินดี ผมไม่ได้รับอนุญาตให้ตีพวกเขา แต่ผมสามารถทำโทษเขาได้เพื่อให้เขาพัฒนาขึ้น ” ครูฝึกกล่าว
แต่ความยากลำบากจากการฝึก ไม่ใช่อุปสรรคขัดขวางเ ต๋าเซาเหว่ย เด็กหนุ่มวัย 15 ปี ที่ใฝ่ฝันว่าจะมีอาชีพที่ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ
“คุณจะเป็นโค้ชหรือเปิดการแสดงในต่างประเทศก็ได้ ” เขากล่าวขณะพันมือเพื่อเข้าเรียนในชั่วโมงหมัดมวย
เต๋าจ่ายเงินค่าเล่าเรียน 5,000 หยวนต่อปีหรือราว25,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ค่อนข้างมากสำหรับชาวจีนส่วนใหญ่
แต่ดูเหมือนว่าไม่มีนักเรียนคนใดคิดว่าการฝึกนี้หนักเกินไปสำหรับพวกเขา แม้ว่าภาระผูกพันนี้จะนำพาชีวิตให้เข้าสู่วังวนแห่งการฝึกฝนที่เข้มงวดตั้งแต่รุ่งสางจนตะวันตกดิน
เช่นเดียวกับ ภิกษุในวัดเส้าหลิน ที่แม้ว่าจะมีโทรทัศน์ เครื่องเล่นวีซีดี เครื่องคอมพิวเตอร์ หลายรูปมีโทรศัพท์มือถือใช้ เวลาว่างก็นั่งเบียดกันในกุฏิดูละครชุด ‘มังกรหยก’ แต่วิถีชีวิตประจำวันของพระในวัดเส้าหลินก็ยังตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อนั่งสมาธิ สวดมนต์ ฝึกกังฟู และท่องตำรา เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติสืบมาในอดีต
พระลูกวัดเหยียนฟาง เล่าว่า ภิกษุหลายรูปเคยนั่งสมาธิกลางหิมะ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการฝึกบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่ง และถ้าใครมานั่งสมาธิสาย จะถูกลงโทษให้คุกเข่าจนหมด 1 ก้านธูป
หนทางแห่งความพยายามในการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของวัดเก่าแก่แห่งนี้ ยังคงอีกยาวไกล ท่ามกลางคลื่นลมแห่งกระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกราก
วัดเส้าหลิน แหล่งกำเนิดสุดยอดวิชากังฟู
วัดเส้าหลิน สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 495 สมัยไท่เหอ เจ้าผู้ครองรัฐวุ่ยเหนือ (ค.ศ. 386-534 ) เนื่องจากวัดเส้าหลิน ตั้งอยู่บนยอดเขา ‘เส้าซื่อ’ (少室) ทางทิศตะวันตกของภูเขาซงซัน (松山) และครอบคลุมไปด้วยป่าหรือหลิน (林) ในภาษาจีน จึงเป็นที่มาของชื่อวัดเส้าหลิน
หลังจากก่อตั้งได้ 32 ปี พระโพธิธรรมเถระหรือ “ต๋าม๋อ” ( ตั๊กม้อ) จากอินเดีย ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนานิกายเซนที่วัดเส้าหลินเป็นครั้งแรก ชื่อเสียงของวัดเส้าหลินในฐานะเป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธนิกายเซนในจีน ทำให้วัดที่อยู่ท่ามกลางป่าเขาแห่งนี้ เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กล่าวกันว่า ศิลปะการต่อสู้แบบเส้าหลินมีต้นกำเนิดจากการที่พระในวัดฝึกออกกำลังกาย เพื่อขจัดความเมื่อยล้าจากการนั่งกรรมฐานเป็นเวลานาน ต่อมาได้มีการพัฒนาจนมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเส้าหลิน โดยเชื่อว่า ผู้ที่คิดค้นสุดยอดวิชากังฟูไม่ใช่ใครอื่น คือ ปรมาจารย์ตั๊กม้อ พระภิกษุผู้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากชมพูทวีป เพื่อมาเผยแพร่พุทธศาสนานิกายเซนนั่นเอง
ตามบันทึกบน ‘ถังไท่จงชื่อเส้าหลินซื่อจู่เจี้ยวเปย’ แท่นหินสลักคำสอนหลักของวัดเส้าหลิน ระบุว่าพระ 13 รูปของวัดเส้าหลินได้ช่วยจักรพรรดิถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน แห่งราชวงศ์ถัง ค.ศ. 618- 907 ) ฝ่าวงล้อม ระหว่างการสู้รบกับทหารของราชวงศ์สุยตอนปลาย ต่อมาถังไท่จง ได้ทรงแต่งตั้งให้เฟิงถันจง ภิกษุที่ร่วมรบให้ขึ้นเป็นแม่ทัพ และอนุญาตให้พระวัดเส้าหลินร่วมฝึกซ้อมแบบทหาร
ท่วงท่าอันงดงามของศิลปะป้องกันตัวอายุกว่า 1,500 ปี
ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้ภิกษุฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รวมทั้งฉันเนื้อสัตว์ได้ และจากการสนับสนุนในด้านต่างๆจากราชสำนัก ทำให้วัดเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศ ในสมัยซ่งหรือซ้อง (ค.ศ. 960-1279) กังฟูของวัดเส้าหลิน ได้รับการพัฒนาจนถึงขีดสูงสุด จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ( ค.ศ.1616-1911) จากเหตุผลทางการเมือง ราชสำนักได้ลดบทบาทของวัดเส้าหลินลง
ในปี 1727 หลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงได้ 5 ปี แม้ว่าประชาชนจะถูกห้ามไม่ให้ฝึกกังฟู แต่ยังคงมีแอบฝึกกันอย่างลับๆทั้งในและนอกวัด ทำให้วิชากังฟูแบบเส้าหลิน ยังคงได้รับการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
เรียบเรียงจากเอเอฟพี/ ไชน่าดอทคอม/เส้าหลินบุ๊กส์ดอทคอม
|