|
มนุษย์เราเกิดมาทำไม?
มีเหตุผลมากมายที่เป็นคำตอบออกมาจากเพื่อนๆ ที่มีครอบครัวแล้วต่อคำถามของผมที่ว่า...ถามจริงๆ ว่ามีลูกทำไม?
หลายคู่บอกว่าไม่ได้ตั้งใจให้มี, บ้างก็บอกว่าเห็นคู่อื่นๆ มีก็อยากจะมีบ้าง, บ้างก็บอกว่าอยากเลี้ยงเด็ก, บ้างก็บอกว่าอยากมีสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนแห่งความรักของตนกับแฟน, บ้างก็บอกว่าอยากจะมีทายาท บ้างก็บอกว่าเหงาและอีกมากมาย ฯลฯ
อย่าเพิ่งหาว่าผมเป็นคนที่มีจิตใจหยาบกระด้าง เข้าไม่ถึงเรื่องของความรัก - ไม่เข้าใจถึงความเสียสละ ไม่รู้สึกถึงความผูกพันที่ถ่ายผ่านมาทางสายเลือดนะครับ แต่บางครั้งบางครา บางอารมณ์ผมมีความรู้สึกว่า นอกเสียจากเรื่องของ "อุบัติเหตุ" แบบไม่ได้ตั้งใจจะมีรวมถึงเหตุผลที่ว่ามีลูกก็เพื่อให้มีการดำรงคงอยู่ของสัตว์โลกสายพันธุ์มนุษย์แล้ว(ซึ่งไม่มีใครบอกเช่นนี้เลย) การให้กำเนิดชีวิตขึ้นมา ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของเราทั้งสิ้น
ที่คิดเช่นนี้ก็เพราะการสะสมมาจากความบ่อยครั้งที่ผมเห็นผู้เป็นพ่อเป็นแม่บางคนทะเลาะกับลูกชายลูกสาวของตัวเองแล้วมีการเอ่ยอ้างทวงบุญคุณ อ้างถึงความยากลำบากในการเลี้ยงดู อ้างถึงความทุกข์ความเสียสละ อ้างถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป อ้างถึงความผูกพันทางสายเลือด อ้างไปต่างๆ นานา ขณะที่ตัวของผู้เป็นลูกเองก็สวนกลับมาว่า...แล้วใครใช้ให้มีล่ะ...!?
เท่านี้ล่ะครับ ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ที่ตอบแบบนี้จะถูกตีด้วยไม้เรียวอยู่ตัวผมเองก็เกิดคำถามที่ว่าขึ้นมา พ่วงด้วยอีกหลายความสงสัย
นั่นสินะ พ่อแม่ได้รับอนุญาตจากใครถึงทำให้เราเกิดขึ้นมาได้, มีเหตุผลอะไรถึงทำให้เราเกิดขึ้นมา, แล้วเราเกิดขึ้นมาแย่งใช้ทรัพยากรของโลกร่วมกับมนุษย์คนอื่นๆ เพื่ออะไรกัน? เพื่อเป็นไปอย่างที่พ่อแม่ต้องการให้เป็น, เพื่อให้พ่อแม่มีความสุขถ้าเราเป็นอย่างที่ท่านต้องการ, เพื่อให้พ่อแม่ท่านมีความทุกข์เมื่อเราไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านต้องการ, เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นคนกตัญญูเมื่อได้ทำหน้าที่ของการเป็นลูกอย่างสมบูรณ์ด้วยการเลี้ยงดูท่านยามแก่เฒ่า, เพื่อให้กลายเป็นลูกอกตัญญูหากทอดทิ้งไม่ดูแลท่านยามแก่เฒ่า
เรื่อยไปจนถึงข้อสงสัยที่ว่าจริงๆ หากเด็กน้อยในฐานะ "ลูก" ที่เกิดมานี้เป็นเสมือน "ห่วง" ของพ่อแม่ เหมือนกับที่เจ้าชายสิทธัตถะท่านทรงอุทานออกมาระหว่างการกำเนิดของพระกุมารราหุล(ซึ่งเป็นช่วงที่พระองค์กำลังตัดสินพระทัยจะเสด็จออกบวช) แล้ว ณ.ช่วงเวลาเดียวกันตัวของผู้เป็นพ่อเป็นแม่เองเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าตนเองก็กลายเป็น "ห่วง" ให้กับผู้เป็นลูกเหมือนกัน
เป็นสิ่งที่เคยรู้สึกนะครับ ซึ่งจนถึงวันนี้แม้จะยังไม่หมดไปเสียทีเดียวแต่ผมก็ไม่อยากจะคิดถึงสักเท่าไหร่แล้ว หลังจากที่เคยคุยเรื่องทำนองนี้กับแม่แล้วท่านบอกว่า...
นี่ถ้าจะไม่เลี้ยงแม่ ก็บอกมานะ แม่จะได้ทำใจเตรียมตัวไปอยู่บ้านคนชราแต่เนิ่นๆ...
สัปดาห์นี้ไม่ขอพูดเรื่องรายการทีวีอีกสักครั้งนะครับ พอดีว่าเพิ่งมีโอกาสได้ดูหนังวีซีดีเรื่องหนึ่งแล้วรู้สึกว่ามันโดนใจกับเรื่องที่เกริ่นๆ ไว้
เป็นหนังอังกฤษชื่อ Children Of Men (ชื่อไทยว่า "พลิกวิกฤติ ขีดชะตาโลก") ออกฉายเมื่อปี ค.ศ.2006 กำกับฯ โดย Alfonso Cuaron มีดาราอย่าง Clive Owen, Julianne Moore, Michael Caine และ Claire Hope Ashitey แสดงนำ
แนวของหนังระบุไว้หลากหลายมากครับ ทั้ง ผจญภัย, ดรามา, ไซไฟ และระทึกขวัญ บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ.2027 ซึ่งกินระยะเวลามานานกว่า 18 ปีนับตั้งแต่ได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ทั่วโลก เมื่อไม่มีการเกิดของทารกขึ้นมาอีกเลย
นั่นเองที่ทำให้ข่าวการตายของเด็กที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก (อายุ 18 ปีกว่าๆ) ได้กลายเป็นเรื่องที่สร้างความเศร้าเสียใจให้กับคนทั้งโลกที่ได้รับรู้ โดยที่ในประเทศอังกฤษเองก็ได้เกิดการต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่ครอบครองความมั่งคั่งของทรัพยากรไว้กับฝ่ายกลุ่มนักปฏิวัตินำโดย "จูเลียน" (Julianne Moore) อดีตภรรยาของ "ฟารอน" (Clive Owen) นักเรียกร้องสันติภาพที่หันไปรับงานราชการ
ท่ามกลางความรู้สึกสิ้นหวัง สังคมเกิดการล่มสลาย จู่ๆ หญิงสาวผิวดำคนหนึ่งที่ชื่อ "คี" (Claire Hope Ashitey) กลับตั้งท้องขึ้นมา ซึ่งในขณะที่ "จูเลียน" ต้องการจะนำคีไปให้กับองค์กรลับองค์กรหนึ่ง (ที่ว่ากันว่าเป็นองค์กรที่ได้รวมเอานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมาไว้ด้วยกันเพื่อทำการศึกษาทดลองให้มีการเกิดของมนุษย์ขึ้นมา) เธอกลับถูกกลุ่มนักปฏิวัติพวกเดียวกันฆ่าตายเพราะไม่ชอบใจในแนวทางการต่อสู้ของเธอ โดยคนพวกนี้ต้องการจะได้ "คี" ไว้เป็นเครื่องมือต่อรองกับทางฝ่ายรัฐบาล
"ฟารอน" ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการพาคีที่ท้องแก่อยู่หลบหนีจากกลุ่มปฏิวัติและคนของทางรัฐบาลเพื่อไปยังเรือที่มีชื่อว่า Tomorrow ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่ามีจริงหรือไม่?
Children Of Men คว้ามาสองรางวัล BAFTAs (2007) ในสาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สักรางวัลจากเวทีออสการ์ (เข้าชิงบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)
หนังอาจจะมีเหตุผลที่คลุมเครือไปบ้างเพราะสร้างมาจากนวนิยาย(ประมาณว่าเป็นเรื่องของจินตนาการส่วนบุคคล) แต่ด้วยการถ่ายทำ มุมกล้อง การตัดต่อ ทำให้ภาพและเสียงที่ออกมานั้นดูสมจริงมากๆ ดูแล้วอดรู้สึกลุ้นตามไปกับการเดินทางของตัวละครไม่ได้
นอกจากอารมณ์เสียดสีเรื่องการเหยียดผิว ปัญหาการเมือง เชื้อชาติ ความทัดเทียมในสิทธิต่างๆ แล้ว ที่ชอบก็คือประเด็นของหนังที่ทำให้ได้คิดว่า แท้จริงแล้วคุณค่าของมนุษย์นั้นอยู่ที่ไหนกันแน่? และเราจะอยู่กันอย่างไร - ด้วยจุดหมายอะไร? หากไม่มีการเกิดขึ้นมาอีกแล้วของมนุษยชาติ
ช็อตเด็ดของหนังอยู่ในฉากแห่งความรู้สึกปลาบปลื้มของผู้คนและเหล่าทหารทั้งหลายหลังเห็นเด็กทารกตัวน้อยๆ ในอ้อมกอดของคี
ใครที่เกลียดเสียงงอแงของเด็กทารกลองหาหนังเรื่องนี้มาดู แล้วคุณจะรู้สึกว่าเสียงอแงที่ว่านี้ไม่ผิดอะไรไปจากเสียงเพลงของสวรรค์จริงๆ
บทความจากนสพ. "ผู้จัดการ Online " งานเขียนโดย....อำนาจ เกิดเทพ
| |