จักรพรรดิราชในปรากฏการณ์ทางความเชื่อ
โพสต์ทูเดย์ — ศาสนาการเมืองได้หมดความสำคัญไปในสังคมตะวันตกส่วนใหญ่และตะวันออกบางส่วน เพราะเกิดกระบวนการโลกวิสัย (Secularization) แยกศาสนา และความเชื่อจากการเมือง การปกครอง และการบริหาร เห็นได้จากสถาบันกษัตริย์และขุนนางข้าราชบริพารได้หมดอำนาจหน้าที่ไป บางแห่งอาจเหลือไว้เพียงเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น สังคมไทยมีลักษณะเป็นครึ่งๆ กลางๆ ในเรื่องนี้
การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยเป็นโลกวิสัย ที่อำนาจในการปกครองไม่ได้มาจากศาสนาโดยผ่านพระมหากษัตริย์ แต่มาจากประชาชน ในลักษณะที่เป็นเศรษฐกิจการเมืองแทน แต่ความเชื่อของประชาราษฎร์ส่วนใหญ่ ยังเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจทั้งมวลในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน และทุกครั้งที่เกิดยุคเข็ญ อำนาจจากเบื้องบนนี้ก็จะปรากฏขึ้นทุกทีไป เช่น ปรากฏการณ์ของประชาชนที่ใส่เสื้อเหลืองในวันเฉลิมพระเกียรติทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อสยามประเทศอุบัติขึ้นราวปี 1600 (พุทธศตวรรษที่ 17) เป็นต้นมานั้น พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งเป็นพระศาสนาทางราชการของบ้านเมือง พระมหากษัตริย์ในคติทางศาสนาคือพระสมมติราช หมายถึงเอกบุรุษที่มาจากมนุษย์บนพื้นพิภพ เป็นผู้มีคุณธรรม ได้บำเพ็ญบารมีที่สะสมมาแต่ชาติต่างๆ จนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งหลาย จึงได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองบ้านเมือง ดังมีคติและความเชื่อนี้ปรากฏให้เห็นในโองการแช่งน้ำ กฎหมายตราสามดวงของกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะฉะนั้น พระมหากษัตริย์ไทยจึงไม่ใช่เทวราชาอย่างที่นักวิชาการ และคนรุ่นใหม่ปัจจุบันเชื่อ และอ้างกันทั่วไป แท้จริงแล้ว พระมหากษัตริย์ในศาสนาพราหมณ์ (ตามคติฮินดู) ต่างหากที่เป็นเทวราช
จักรพรรดิราชผู้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม
ทั้งคติเทวราชของพราหมณ์และสมมติของพุทธ ต่างก็มีกษัตริย์ในอุดมคติด้วยกันคือ จักรพรรดิราช หมายถึง ผู้ถึงพร้อมในคุณธรรม และอำนาจต่างๆ ในการเป็นพระราชาที่เหนือราชาทั้งหลายในพื้นพิภพ เมื่อสวรรคตแล้ว ก็จะกลายเป็นเทพไปจุติบนสวรรค์ (เหมือนกับกษัตริย์จันทรภาณุแห่งอาณาจักรทะเลใต้ที่สวรรคตแล้วมาจุติเป็นจตุคามรามเทพ) ซึ่งในศาสนาพราหมณ์มักแสดงความเป็นจักรพรรดิราชของพระมหากษัตริย์องค์สำคัญ ด้วยการประกอบพระราชพิธีเทวาภิเษกหรืออินทราภิเษกด้วยภาพและการละเล่นกวนเกษียรสมุทร เช่น ภาพสลักบนระเบียงคดของปราสาทนครวัดหรือภาพสลักบนทับหลังปราสาทสำคัญของขอม (สมัยลพบุรี)
แต่พระมหากษัตริย์ที่ยังดำรงพระชนมชีพอยู่ ก็มักสร้างรูปเคารพฉลองพระองค์ถวายในรูปของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ส่วนในสังคมศาสนาพุทธ ฝ่ายเถรวาท ในดินแดนประเทศไทยนั้น ไม่สร้างปราสาทหินหรืออิฐ แต่จะสร้างวัดและพระมหาธาตุเจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวาย แล้วสร้างรูปฉลองพระองค์เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแทนรูปเทพเจ้า เช่น ที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องไว้ที่วัดนางนอง และทรงสร้างพระพุทธรูปยืนคู่หน้าพระแก้วมรกตในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสร้างแล้วถวายพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแทนพระองค์ทั้งสองรัชกาล
รวมทั้งสร้างพระประธานอีกหลายวัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ซึ่งเป็นการแสดงออกของการยกย่องให้เป็นพระจักรพรรดิราช
จากประวัติศาสตร์การปกครองที่อำนาจมาจากศาสนานั้น การเป็นจักรพรรดิราชมักเป็นเรื่องเฉพาะองค์ของพระมหากษัตริย์ หาใช่กษัตริย์ทุกพระองค์จะได้รับยกย่องเหมือนกันทั้งหมดไม่ ซึ่งถ้ามองในปัจจุบันก็คือ การยกย่องกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นมหาราชนั่นเอง เช่นที่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม มีพระราชดำรัสในนามพระประมุขและผู้แทนพระองค์ทั้ง 25 ประเทศ ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสงานเลี้ยงถวายพระกระยาหารค่ำแด่พระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ที่เสด็จมาร่วมพระราชพิธีฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เมื่อค่ำวันที่ 13 มิถุนายน 2549 มีใจความว่า
“พระราชกรณียกิจและความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมาของฝ่าพระบาท ทำให้หม่อมฉัน องค์พระประมุขและพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ ณ ที่นี้ต่างรู้ซึ้ง ตระหนักได้ดีว่า เหตุใดประชาชนของพระองค์จึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญามหาราช”
พระสยามเทวาธิราช
จักรพรรดิราชที่พึ่งทางใจ
ในสังคมไทยตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย มีพระมหากษัตริย์ที่เข้าข่ายเป็นพระจักรพรรดิราชมักกล่าวถึงในตำนานและคำบอกเล่า ในลักษณะที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม เช่น พระเจ้ารามราช (รามคำแหง) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่ที่น่าสังเกตอย่างมากก็คือ ถ้ายกเว้นสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว ความเป็นพระจักรพรรดิราชของผู้คนในสังคมไทยดูเหมือนเน้นในมิติของการเป็นธรรมราชามากกว่าราชาธิราช เพราะเนื้อแท้ของธรรมราชาก็คือ การที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกนั่นเอง อย่างเช่น ในสมัยของรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงสร้างพระสยามเทวาธิราช เป็นเทพที่พิทักษ์คุณธรรมและปกครองบ้านเมือง และเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของปวงชนชาวไทยในยุคนั้น ที่กำลังหลงระเริงกับกระแสของชาติตะวันตกที่เข้ามาประเทศไทยอย่างมากมาย
“หรือที่เห็นภาพชัดเจนก็ในหลวงองค์ปัจจุบันที่ท่านทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย หรือเมื่อมีปัญหาที่แก้ไม่ตก พระองค์ก็ลงมาช่วยขจัดปัดเป่าให้คลี่คลายลงได้ พระองค์ทรงเป็นพระธรรมราชาที่มีบารมี ทั้งยังทรงให้แนวคิดเรื่องความขยัน อดทน และพอเพียง เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก และทรงมีโครงการในพระราชดำริมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ และเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอีกด้วย รวมทั้งการที่ไม่ทรงรังเกียจผู้คนต่างชาติต่างศาสนา และทรงให้การอุปถัมภ์โดยเสมอภาคถ้วนหน้ากันนั้น นอกจากเป็นบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมให้เกิดความเป็นชนชาติเดียวกันแล้ว ยังทรงเป็นที่พึ่งในความมั่นคงและร่มเย็นให้แก่ผู้คนส่วนใหญ่ของบ้านเมือง”
วัตถุมงคล จตุคามรามเทพ
จตุคามรามเทพ ศูนย์กลางความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์
ความเป็นจักรพรรดิราชของพระมหากษัตริย์ในสำนึกของหมู่ประชากร ก็คือ พระองค์ได้รับการยกย่องให้อยู่เหนือบุคคลธรรมดา กลายเป็นบุคคลที่ผู้คนสร้างบุญกุศลถวายให้มีพระชนมชีพยืนนาน สร้างศาสนสถานถวายเป็นอนุสาวรีย์ เช่น รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีเมตตาธรรม มีพระราชพระหฤทัยอ่อนโยน เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตก็มีผู้สร้างอนุสาวรีย์ถวาย และผู้คนจำนวนมากไปกราบไหว้ขอพรจากท่านอยู่มิได้ขาด เป็นที่พึ่งทางใจได้จนถึงปัจจุบันนี้ จนเป็นปรากฏการณ์ลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 และประชาราษฎร์ต้องทำบุญกุศลถวายอยู่เป็นนิตย์
แต่ที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ก็คือ จตุคามรามเทพ เป็นปรากฏการณ์ของจักรพรรดิราชในบริบทประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของคนทางเมืองนครศรีธรรมราช ที่เป็นรัฐอิสระเก่าแก่ร่วมสมัย อโยธยา สุโขทัย สุพรรณบุรี มีกำเนิดมาจากรัฐเดิม นามว่าตามพรลิงค์ ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์ปัทมวงศ์ ที่ในศิลาจารึกสำคัญทรงพระนามว่า จันทรภาณุศรีธรรมราช ทรงเป็นผู้ปลดปล่อยประชาชนจากการครอบงำของชนชาติที่ต่ำช้า ซึ่งเข้าใจว่าเป็นพวกโจฬะทมิฬ
ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าจันทรภาณุและพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมร่วมกัน เมื่อบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายจนผู้คนขาดความมั่นคงในชีวิต เพราะพึ่งรัฐที่เป็นทรราชไม่ได้ ผู้รู้ของเมืองนครศรีธรรมราชจึงหันไปพึ่งความเป็นราชาธิราชของพระเจ้าจันทรภาณุ โดยสร้างบุคลาธิษฐานให้พระองค์คือจตุคามรามเทพ เพื่อเป็นศูนย์กลางทั้งความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์ปัดเป่าทุกข์ร้อนของคนในแผ่นดิน
ทางด้านศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับเรื่องจักรพรรดิราชเอาไว้ว่า จักรพรรดิราชนั้น เป็นคติหรืออุดมคติ และในไตรภูมิพระร่วง ตีความไว้ว่า การที่จะเป็นจักรพรรดิราชได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการคือ
1. ต้องมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์องค์อื่น ปกครองด้วยธรรมะ มีเมตตาสูง เอื้อให้คนพัฒนาไปสู่พระนิพพาน ใครที่ทำชั่วก็พยายามให้ทำให้น้อยลงเพื่อเขาจะได้ไม่ตกนรก
2. ต้องเป็นกษัตริย์หรือราชาที่เผยแผ่ศาสนา และจักรพรรดิราชจะเกิดได้เฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้น ปัญหาคือ การเผยแผ่ศาสนาทำได้อย่างไร ปัญหาเรื่องศาสนาในทางการเมืองมันซับซ้อนมาก
นอกจากนี้ จักรพรรดิราชต้องมีขันติธรรมอย่างสูง และต้องรองรับความขัดแย้งได้มาก ขณะเดียวกันก็ยังเผยแผ่พุทธศาสนาได้มากเช่นพระเจ้าบุเรงนอง
ทางด้าน ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ในภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวรมหาราช กล่าวถึงจักรพรรดิราชว่าเกิดขึ้นมาจากคติความเชื่อของหลายศาสนา ทั้งศาสนาพราหมณ์ พุทธ เชน และแพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คติความเชื่อนี้มีอยู่ในอุษาคเนย์ มีลักษณะผสมผสานระหว่าง พราหมณ์ พุทธ เชน ปะปนกันไป อยู่ที่ว่าผู้ใช้จะเห็นประโยชน์ตรงไหนก็ดึงเข้ามาใช้หรือทำให้กลมกลืนกัน เพื่อมาเป็นประโยชน์ในการปกครองและทางการเมือง แต่มักจะเน้นในทางโลกมากกว่าในทางธรรม
แต่โดยเนื้อแท้ของหลักการทางพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างเป็นอมตะนิรันดร์กาล ก็คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และควรเดินสายกลาง ใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท การมีที่พึ่งทางใจก็ควรตั้งอยู่บนเหตุผล มิใช่โน้มเอียงไปในทางไสยศาสตร์แบบงมงายมากจนเกินไป
|