จักรพรรดิราชที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม
โพสต์ทูเดย์ — โครงการกรุงเทพฯ ศึกษา ในสังกัดสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดเสวนาเรื่อง “จักรพรรดิราชที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม” ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ขึ้นเพื่อเป็นการเผื่อแผ่แบ่งปันความรู้ และความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจทั้งมวลในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน และทุกครั้งที่เกิดทุกข์เข็ญ อำนาจจากเบื้องบนนี้ก็จะปรากฏทุกทีไป”
อาจเป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองที่สับสนวุ่นวายอย่างทุกวันนี้ ทำให้คนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน รู้สึกไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หลายคนต้องหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งพิงทางใจ และคนอันเป็นที่รัก แต่ละคนก็มีความเชื่อที่แตกต่างกัน ที่เห็นภาพชัดที่สุดในตอนนี้คือ จตุคามรามเทพ ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ของจักรพรรดิราชในบริบทประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของคนนครศรีธรรมราช ที่เป็นรัฐอิสระเก่าแก่ร่วมสมัยหลายสมัย แต่คนรุ่นหลังในยุคนี้มาตีความในแง่ของความเชื่อทางไสยศาสตร์กันอย่างน่าตกใจที่สุด

พระทรงเครื่องในอุโบสถวัดนางนอง สร้างโดยรัชกาลที่ 3
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมการบรรยายหลายท่าน โดยเริ่มจาก รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้กล่าวถึงคำว่า จักรพรรดิราช หมายถึง พระราชาผู้ทรงอยู่เหนือราชาใดๆ ในสากลโลก คำนี้เขียนตามรูปสันสกฤตว่า จกุรวรุตุติน มีอธิบายอยู่ในหนังสือของนายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ เมื่อปี 2469 ว่า อธิราช เจ้าโลก นฤบดีของประเทศอันมีเขตแผ่ไปไกลที่สุด (จากสมุทรหนึ่งถึงอีกสมุทรหนึ่ง)
ยามใดที่บ้านเมืองเป็นโกลาหล อันเนื่องมาจากรัฐเป็นทรราช ยามนั้นเป็นเวลาที่ประชาราษฎร์มีแต่ความทุกข์ และความไม่มั่นคงในชีวิตและจิตใจ เพราะมีมารและปีศาจเข้ามามีอำนาจเป็นใหญ่ในสังคม ยามนั้นแหละที่ผู้คนต่างทบทวนถึงอดีตที่มีแต่ศานติสุข และมีผู้ปกครองที่เป็นธรรมิกราชาอันเป็นความเชื่อทางศาสนา ศาสนาใหญ่ๆ ของโลกที่พัฒนาขึ้นมา ล้วนเป็นศาสนาการเมือง (Political Religion) ทั้งสิ้น เพราะจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการชีวิตความเป็นอยู่ให้อยู่รอดร่วมกันของผู้คนในสังคม และเป็นที่มาของอำนาจในทางการเมืองการปกครอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปเพียงใดก็คือ มนุษย์กับความเชื่อเป็นสิ่งหนึ่งที่ตัดขาดจากกันไม่เคยได้ ความเชื่อของมนุษย์ เชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาตินั้น ยังคงมีอยู่ในทุกชาติทุกศาสนา ไม่เพียงประชาชนระดับรากแก้วเท่านั้น ทว่า คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาบางคน ยังคงเชื่อในเรื่องเหล่านี้อย่างมาก

วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ
“ถ้าตัดได้จริง เรื่องจตุคามรามเทพคงไม่เกิดขึ้นเป็นกระแสคลั่งไคล้ได้ขนาดนี้ แต่เพราะฐานความเชื่อของคน เพราะความไม่มั่นคงทางจิตใจ สิ่งเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายรวดเร็ว ยิ่งไม่มั่นใจมากก็ยิ่งเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นมากเป็นเงาตามตัว เพราะเรื่องทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำให้สบายใจ อบอุ่นใจขึ้นได้” รศ.ศรีศักดิ์ ว่าเอาไว้
|