เช็งเม้ง : วิญญาณ กตัญญู และตัณหา

ผู้คนพากันไปทำความสะอาดสุสาน กราบไหว้บรรพชน
“เช็งเม้ง” อีกหนึ่งเทศกาลที่คนจีนโพ้นทะเลทั่วโลก โดยเฉพาะลูกหลานจีนในประเทศไทยคงคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นวันที่จะต้องทำการเดินทางไปยังสุสานที่บรรจุฝังบรรพบุรุษเพื่อทำการเซ่นไหว้
เทศกาลดังกล่าว เป็นสิ่งที่สืบสานกระทำต่อเนื่องมาเป็นเวลานับพันปี และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ชาวมังกรทั้งหลายพยายามส่งมอบ และสืบทอดไปสู่ชั่วลูกชั่วหลาน ไม่ว่าจะพลัดกระจัดกระจายไปยังแห่งหนหรือประเทศใดใดก็ตาม
แต่แล้ว เมื่อเวลาผ่าน วิธีคิดและวิถีชีวิตของคนก็เปลี่ยนไป ทำให้รูปแบบและความหมายของประเพณีหลายๆอย่าง โดยเฉพาะประเพณีการกราบไหว้บรรพบุรุษนี้เริ่มผิดเพี้ยนจากเจตนาดั้งเดิมที่บรรพบุรุษในยุคสมัยอันไกลโพ้นได้ตั้งเจตจำนงไว้
แม้ว่าเมื่อถึงเวลา จะมีบ้างที่ยังคงนัดกันพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ว่าจะแยกครอบครัวออกไปแล้วหรือไม่ เพื่อเดินทางไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถอนหญ้า ทำความสะอาดสุสาน พบปะญาติมิตร โปรยริบบิ้นสี จุดประทัดเป็นต้น

รถและเครื่องเล่นดีวีดีกระดาษตามร้านในกรุงเทพฯ
แต่ภาพที่ชวนสะท้อนใจ จากการครอบงำของวัตถุนิยมและกิเลส ที่ค่อยๆแฝงเข้ามากับประเพณีดังกล่าว โดยเฉพาะ “ของเซ่นไหว้” ที่เริ่มเป็นไปตามตัณหาของคนอยู่ มากกว่าผู้ที่จากไป เช่น อุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลายอย่าง รถเบนซ์ คอมพิวเตอร์ มือถือ อุปกรณ์เล่นการพนัน และเลยเถิดไปถึงขั้นยาไวอากร้า ถุงยางอนามัยกระดาษ หุ่นสาวบาร์ หุ่นเมียน้อย ฯลฯ ทั้งๆที่หลายสิ่งหลายอย่างนี้ ตอนที่บรรพบุรุษมีชีวิตอยู่ อาจจะยังไม่เคยได้เห็น หรือแม้กระทั่งได้ยินมาด้วยซ้ำ
ภาพเหล่านี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในเมืองต่างๆของประเทศจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ หนันหนิง ฮาร์บิน แต่ยังระบาดไปยังชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า ชาวจีนรุ่นหลังๆ เริ่มหลงลืมที่มาที่ไปและความหมายของประเพณีไปสิ้น
ไม่เพียงแต่เท่านั้น การไปไหว้ของแต่ละคน ก็เพื่อจุดประสงค์ที่ตนเองจะ “ได้” มากกว่าเป็นผู้ "ให้" คือคิดแต่จะขอให้บรรพบุรุษคุ้มครอง ขอให้ร่ำรวยมั่งมี เรื่อยไปจนถึงขอหวยขอเลข จุดประทัดก็นับจำนวนประทัดที่ด้านไปตีเป็นเลข หรือใช้ธูปเชิงพาณิชย์ยุคใหม่ ที่เมื่อเผาหมดแล้วจะมีเลขออกมา มากกว่าที่จะมาเพราะคิดถึงพ่อแม่ ปู่ย่า หรือบรรพชน

คอมพิวเตอร์กระดาษจากร้านค้าในกรุงเทพฯที่เริ่มมีผู้คนใช้เซ่นไหว้
“กตัญญู” หัวใจของเช็งเม้ง
หากย้อนต้นค้นหาตำนานเช็งเม้ง ก็มีการกล่าวไว้หลายอย่าง โดยหนึ่งในนั้นได้เล่าว่า ในช่วงปลายราชวงศ์ฉิน ในขณะที่หลิวปัง (เล่าปัง) กับฉู่ป้าหวัง (ฌ้อป้าอ๋อง) ได้ทำศึกสงครามกันหลายรอบ จนกระทั่งสุดท้ายหลิวปังได้ครองแผ่นดิน สถาปนาตนเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น
เมื่อได้ครอบครองแผ่นดินแล้ว หลิวปังก็บังเกิดความคิดอยากจะกลับไปกราบไหว้พ่อแม่ของตนที่ล่วงลับไป แต่เพราะก่อนหน้า บ้านเมืองอยู่ในช่วงศึกสงครามจึงทำให้มีหญ้ารก และสุสานทั้งหลายก็กระจัดกระจายพังพินาศไปหมด
แม้นหลิวปังกับเหล่าขุนนางพยายามช่วยกันค้นหา แต่ก็ไม่สำเร็จ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นจึงได้ฉีกกระดาษแล้วอธิษฐานต่อฟ้าว่า หากตำแหน่งฝังศพบิดามารดาตนอยู่ที่ใด ก็ขอให้กระดาษที่โยนขึ้นฟ้าไปตกหยุดนิ่งตรงนั้น โดยไม่ถูกลมพัดหาย
ด้วยความกตัญญูทำให้กระดาษไปตกยังที่แห่งหนึ่ง กระทั่งหลิวปังได้ตามกระดาษไปก็พบชื่อป้ายสุสานของมารดาตน พร้อมได้รีบก่อสร้างสุสานให้กับบิดามารดาใหม่ และกำหนดให้ในช่วงเวลานี้ เป็นวันที่ต้องมากราบไหว้ที่สุสานเป็นประจำทุกปี จนภายหลังประชาชนจึงเริ่มต้นเอาอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นตำนานใดก็ตาม หลักสำคัญของเทศกาลนี้ ล้วนเกิดจากความกตัญญู ที่ต้องการแสดงถึง ความอาลัยรักของลูกหลาน ความสำนึกและอยากตอบแทนพระคุณต่อบรรพชนที่ได้ล่วงลับจากไป อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะแนะนำลูกหลานรุ่นหลังที่เกิดใหม่ ให้ได้รู้จักและคุ้นเคยปรองดองกับเครือญาติในวงศ์ตระกูล
แนวความคิดเหล่านี้ ได้รับการปลูกฝังอยู่ในชาวจีนมาเนิ่นนาน และหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดเรื่องกตัญญูและการกราบไหว้บรรพชนมากที่สุดท่านหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นท่านขงจื่อ (ขงจื๊อ) ซึ่งเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินจีน
ท่านขงจื่อได้เคยกล่าวไว้ในคัมภีร์หลุนอี่ว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปกรณ์สำคัญของสำนักหยูว่า 慎终追远 民德归厚矣 ซึ่งหมายความว่า “พึงจัดงานศพให้กับผู้ที่ล่วงลับด้วยความสำรวมรอบคอบ และพึงหมั่นระลึกถึง (บรรพบุรุษ) ผู้ที่จากไป เฉกนี้ประชาชนทั้งหลายก็จะมีคุณธรรม”
คำสอนนี้ได้อธิบายถึงว่า หากสอนให้ประชาชนทุกคนให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะยามมีชีวิตอยู่ หรือแม้ว่าท่านจะล่วงลับไปแล้ว ผู้คนทั้งหลายก็จะมีความกตัญญูรู้คุณเป็นที่ตั้ง เมื่อไปอยู่ในสังคม ก็จะไม่เป็นคนทรยศเนรคุณ อีกทั้งด้วยความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะทำสิ่งใด ก็จะไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิด จนบรรพชนต้องเสื่อมเสีย
และสิ่งเหล่านี้ต่างหาก ที่จะเป็นเครื่องนำความสุขความเจริญมาให้ เพราะเมื่อประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม พี่น้องเครือญาติปรองดองสามัคคี ความดีเหล่านี้ก็จะเป็นเหตุแห่งความเจริญคุ้มครองลูกหลานในวงศ์ตระกูลของตนได้เองโดยไม่ต้อง"ขอ" มิได้ขึ้นอยู่กับเครื่องเซ่นไหว้ว่าหรูหรา แต่ขึ้นอยู่กับน้ำใจอันประเสริฐต่างหาก
นอกจากนี้ สื่อจีนเองก็ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ความกตัญญูเป็นสิ่งที่อยู่คู่วัฒนธรรมประเพณีของชาวจีนมาหลายพันปี และความ ‘กตัญญู’ต้องคู่กับ ‘คุณธรรม’ เสมอ ถ้าไม่มีคุณธรรม ก็ไม่ถือว่ามีความกตัญญู ดังนั้นการกระทำของลูกหลานที่นำสิ่งของที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมเหล่านี้ มาเซ่นไหว้ปู่ยาตาทวด นอกจากจะไร้ความกตัญญูรู้คุณแล้ว ยังเป็นการสร้างความอับอายและทำลายเกียรติยศชื่อเสียงแก่บรรพบุรุษอีกด้วย
อีกทั้ง การนำยาไวอากร้ากระดาษ หรือถุงยางอนามัยกระดาษไปเซ่นไหว้บรรพชนยังสะท้อนให้เห็นค่านิยม ทัศนคติในการดำเนินชีวิตของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าเสื่อมถอยลง เรียกว่าเป็นการประจานบรรพบุรุษตัวเองเหมือนเป็นผีหมกมุ่นมากกว่า
ในยุคที่ความเจริญทางวัตถุเบ่งบานเช่นนี้ แม้ว่ามนุษย์จะสามารถสนองตอบความต้องการของตนได้ตามใจปรารถนา แต่ก็ควรรู้ ‘ขอบเขต’ของการกระทำในการแสดงออก เพื่อรำลึกถึงบรรพชนผู้ล่วงลับ ที่ต้องไม่ ‘ล้ำเส้น’สู่วิธีการที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม ซึ่งลบลู่เกียรติของปู่ย่าตาทวดของตน.
จากนสพ. "ผู้จัดการ Online"
|