วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์"มั่น" วิถี แห่ง การรู้จักตน
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
สัมผัสแล้วก็รู้สึกกันถ้วนหน้าในท่วงทำนองการเล่าเรื่องของ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ แห่งวัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย คำชะอี มุกดาหาร
สัมผัสได้ในความซื่อ ใส บริสุทธิ์ จริงใจ
เป็นท่วงทำนองการเล่าอันต่างไปจากสำนวนของ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด อุดรธานี
เป็นท่วงทำนองการเล่าอันต่างไปจากสำนวนของ พระญาณวิริยาจารย์ หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ แห่งวัดธรรมมงคล บางนา มหานครกรุงเทพฯ
เป็นท่วงทำนองการเล่าอันต่างไปจากสำนวนของ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ในตอนปลายของชีวิต ณ วัดสระปทุมวนาราม
ที่สำคัญยังเป็นการเรียบเรียงของ พระธัมมธโร ครูบาแจ๋ว
ปมเงื่อนอันทรงความหมายยิ่งก็คือ คำบอกเล่าของ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ได้ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์
เติมในส่วนที่ขาดหายไปหรือที่ละเอาไว้ของท่านอื่น
แต่ละบรรทัดต่อไปนี้เป็นห้วงสำคัญอย่างยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่าง ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่
มุมมองของ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ยังสัมพันธ์กับมุมมองของ พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม อย่างแนบแน่น
โปรดอ่าน
คนเมืองเหนือเชียงใหม่ต้องการอยากให้ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ให้อยู่เป็นหลักของพวกเขา ทีนี้ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯจึงได้ออกอุบายให้เพิ่นครูอาจารย์มั่นเทศน์ธรรมกำราบจิตใจของผู้คนหมู่นั้น
เพิ่นครูอาจารย์มั่นจึงได้เทศน์เรื่องมูลกรรมฐาน มูลของการปฏิบัติ
แล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯก็สำหรับรับรองย้ำความมั่นใจแก่หมู่พวกชาวศรัทธาเมืองเชียงใหม่ว่า
"ท่านอาจารย์มั่นเทศน์ธรรมมุตโตทัย เป็นมุตโตทัย เป็นธรรมที่เป็นแดนเกิดของความพ้นทุกข์ได้แจ่มแจ้งดีมาก ใครปฏิบัติตามก็ได้ความเท่านั้นเอง"
เหตุที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯกล่าวชมเชยไว้เช่นนี้ก็เพื่อปลดเปลื้องความไม่พอใจของชาวศรัทธาออกไป เพราะเขาไม่พอใจว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯก็มีลูกศิษย์ที่เป็นพระมหาเปรียญก็มากรูปหลายคนทำไมเอาพระทางอีสาน นักธรรมก็ไม่ได้สักนักธรรม ศึกษาเล่าเรียนก็ไม่มากมาอยู่เป็นเค้าหลักวัด
จนบางคนแสดงความไม่พอใจออกมาก็มี
แต่เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของเพิ่นครูอาจารย์มั่นแล้ว ก็เป็นอันกำราบจิตใจของเขาให้ลดพยศทิฐิมานะลงได้
เมื่อชาวศรัทธาเมืองเชียงใหม่วัดเจดีย์หลวงเขาเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา ยินดี พออกพอใจแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯก็แต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ได้เป็นพระครูวินัยธร บวชพระบวชเณรได้
ส่วนภายในจิตใจของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯของเพิ่นอาจารย์มั่นนั้นรู้ถึงกันอยู่ว่ากิจของเพิ่นครูอาจารย์มั่นยังอยู่
และท่านเจ้าคุณอุบาลีฯก็รู้อยู่แก่ใจภายในว่าเหมือนกับการปล่อยเสือเข้าป่า
เพราะธรรมชาติของเสือต้องอยู่ป่า เพิ่นครูอาจารย์มั่นเป็นพระธุดงกรรมฐานก็ต้องเข้าป่าแน่นอน
เหตุนี้ท่านจึงได้บอกว่า
"ท่านมั่นเห็นตัวเองมาแล้วแต่ยังไม่แจ้งในตนเอง แล้วอย่าได้กังวลกับผมนะเพราะผมนี้อายุมากแล้ว ผมรักษากาย วาจา ใจของผมได้ถึงสุขแล้ว"
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เพิ่นครูอาจารย์มั่นอยู่จำพรรษาวัดเจดีย์หลวงกับท่านอาจารย์ลี ธัมมธโร ออกพรรษาแล้วก็หนีเข้าดอยเข้าป่าไปอยู่แม่ริม บ้านป่ง เจดีย์เบี้ย เวียงป่าเป้า ปางเมี่ยง ทุ่งบวกข้าว ปางเมี่ยง แม่สาย พร้าว แม่งัด แม่ทองทิพย์ แม่สรวย
ลงมาอยู่แม่กอย มาปลดสายบำเพ็ญบารมีกับคู่บำเพ็ญบารมีของเพิ่นให้หลุดไปได้แล้วไปได้
แล้วตัวเพิ่นครูอาจารย์มั่นจึงได้แก้ไขตนเองได้หมดจดเป็นธรรมะที่สุดแห่งอริยะเจ้า
นี่ย่อมสัมพันธ์กับเรื่องราวหลายเรื่องราวแม้ว่าจะเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง อย่างเช่นเรื่องอันเกี่ยวกับ มุตโตทัย
แต่ที่ต้องการให้สนใจเป็นพิเศษ คือ การค้นพบและแก้ไขตนเอง
ขณะที่ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ไม่ระบุลงไปว่าเป็นสัปปายะแห่งใด แต่ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ระบุลงไปเลยว่าเป็น แม่กอย
ยิ่งกว่านั้นยังมีการสังเคราะห์ลงไปอย่างค่อนข้างละเอียดด้วย
|