วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์ "มั่น" วิถี แห่ง "มุตโตทัย"

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ที่น่าสนใจอย่างเป็นพิเศษ ประการ 1 คือ รากที่มาแห่ง "มุตโตทัย" ประการ 1 คือการระบุตำแหน่งแหล่งที่ปฏิบัติธรรมอันเท่ากับ
"เพิ่นครูอาจารย์มั่นจึงได้แก้ไขตนเองได้หมดจดเป็นธรรมะที่สุดแห่งอริยะเจ้า"
นั่นก็คือ ตำแหน่งแหล่งที่อัน พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วาดพรรณาไว้ในหนังสือ "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ"
มีความตอนหนึ่งว่า
"ท่านนั่งสมาธิภาวนาอยู่ชายภูเขาที่มีหินพลาญกว้างขวางและเตียนโล่ง อากาศก็ปลอดโปร่งดี ท่านว่าท่านนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวเพียงต้นเดียวมีใบดกหนาร่มเย็นดี ซึ่งในตอนกลางกลางวันท่านก็เคยนั่งอาศัยนั่งภาวนาที่นั้นบ้างในบางวัน"
แต่ผู้เขียนจำชื่อต้นไม้และที่อยู่ไม่ได้ว่า เป็นตำบล อำเภอและชายเขาอะไร
เพราะขณะฟังท่านเล่าก็มีแต่ความเพลิดเพลินในธรรมท่านจนลืมคิดเรื่องอื่นๆ ไปเสียหมด หลังจากฟังท่านผ่านไปแล้วก็นำธรรมที่ท่านเล่าให้ฟังไปบริกรรมครุ่นคิดแต่ความอัศจรรย์แห่งธรรมนั้นถ่ายเดียว "จึงลืมไปเสียสิ้น"
กระนั้น ที่ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยคือรากที่มาแห่ง "มุตโตทัย" อันมี 2 สถานะประสานเข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ
สถานะ 1 คือ คำชมของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันเถร จันทร์)
สถานะ 1 คือ จากคำชมของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันเถร จันทร์) ก็กลายมาเป็นหนังสือ "มุตโตทัย" อันลือชื่อของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
คำชมของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ นั้นเกิดขึ้นที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่
แรกที่เดินทางถึงเชียงใหม่ในปี 2472 ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้อาราธนา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นองค์แสดงธรรม
ความตอนนี้ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้กล่าวถึงคำชมของท่านเจ้าคุณค่อนข้างยาว
โปรดอ่าน

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ท่านมั่นแสดงธรรมไพเราะมากหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก และแสดงธรรมเป็นมุตโตทัย คือแดนแห่งความหลุดพ้นที่ผู้ฟังไม่มีที่น่าเคลือบแคลงสงสัย
นับว่าท่านแสดงได้อย่างละเอียดลออดีมาก
แม้แต่เราเองก็ไม่อาจแสดงได้ในลักษณะแปลกๆ และชวนให้ฟังเพลินไปอย่างท่านเลย
สำนวนโวหารของพระธุดงคกรรมฐานนี้แปลกมาก ฟังแล้วทำให้ได้ข้อคิดและเพลินไปตามไม่มีเวลาอิ่มพอและเบื่อง่ายเลย
ท่านเทศน์ในสิ่งที่เราเหยียบย่ำไปมาอยู่นี่แล
คือสิ่งที่เราเคยเห็นเคยได้ยินอยู่เป็นประจำ แต่มิได้สนใจคิดและนำมาทำประโยชน์ เวลาท่านเทศน์ผ่านไปแล้วถึงระลึกได้
ท่านมั่นท่านเป็นพระกัมมัฏฐานองค์สำคัญที่ใช้สติปัญญาตามทางมรรคที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้จริงๆ ไม่นำมาเหยียบย่ำทำลายให้กลายเป็นโลกๆ เลวๆ ไปเสียดังที่เห็นๆ กัน ท่านเทศน์มีบทหนักบทเบา และเน้นหนักลงเป็นตอนๆ
พร้อมทั้งคลี่คลายความสลับซับซ้อนแห่งเนื้อธรรมที่ลึกลับซึ่งพวกเราไม่อาจแสดงออกมาได้อย่างเปิดเผย และสามารถแยกแยะธรรมนั้นๆ ออกมาชี้แจงให้เราฟังได้อย่างถึงจริงโดยไม่มีปัญหาอะไรเลย
นับว่าท่านฉลาดแหลมคมมากในเชิงเทศนาวิธีซึ่งหาตัวจับได้ยาก
อาตมาแม้เป็นอาจารย์ท่านแต่ก็ยกให้ท่านสำหรับอุบายต่างๆ ที่เราไม่สามารถซึ่งมีอยู่เยอะแยะ เฉพาะท่านมั่นสามารถจริงๆ
อาตมาเองยังเคยถามปัญหาขัดข้องที่ตนไม่สามารถแก้ได้โดยลำพังกับท่าน แต่ท่านยังสามารถแก้ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวด้วยปัญญา เราพลอยได้คติจากท่านไม่มีประมาณ พระอย่างท่านมั่นเป็นพระที่หาได้ยาก
อาตมาแม้จะเป็นผู้ใหญ่กว่าท่านแต่ก็เคารพเลื่อมใสธรรมของท่านอยู่ภายใน
ท่านเองก็ยิ่งมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่ออาตมามากจนละอายท่านในบางคราว ท่านพักอยู่ที่นี่พอสมควรก็ออกแสวงหาที่วิเวกต่อไป อาตมาก็จำต้องปล่อยตามอัธยาศัยท่านไม่กล้าขัดใจท่าน
เพราะจะหาพระแบบท่านมั่นนี้รู้สึกจะหาได้ยากอย่างยิ่ง
ฐานที่มาแห่งคำชมว่าด้วย "มุตโตทัย" พิสดารและน่าสนใจอยู่แล้ว
ฐานที่มาแห่งการรวบรวมธรรมเทศนาของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นหนังสือชื่อ "มุตโตทัย" ยิ่งน่าสนใจเป็นทบเท่าทวีคูณ
เรื่องนี้ต้องย้อนไปยัง พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) อีกคำรบหนึ่ง
|