ปรากฏการณ์คลั่งเทพเมินธรรม
โพสต์ทูเดย์ — สิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์คลั่งเทพจนลืมธรรม” ที่กำลังระบาดครึกโครมในสังคมปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งในความ อ่อนแอภายในของพุทธศาสนิกชนบ้านเราเอง
ท้าวจตุคามรามเทพคือใคร? เคยมีตัวตนอยู่ในยุคสมัยไหน? ก็แล้วแต่จะหาหลักฐาน และเหตุผลขึ้นมากล่าวอ้างกัน ในที่นี้ไม่ขอพูดถึงประเด็นนี้ เพียงแต่คิดเล่นๆ ว่า ถ้าวิญญาณดาราฮอลลีวูดเข้าสิงท่านแล้ว ท่านคงจะฟ้องเรียกค่าเสียหายกันวันละหลายรอบ เพราะทั้งพระภิกษุ ผู้ว่าราชการจังหวัด สมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชน ฯลฯ ใช้ท่านเป็นเครื่องมือเพื่อการพาณิชย์ ทำท่านขายเสมือนหนึ่งสินค้า ผลิตออกมาขาย (ในนามของการบูชา) นับจำนวนรุ่นไม่ถ้วน
ผู้สร้างบางรายโฆษณาสรรพคุณทางหน้าหนังสือพิมพ์ “ดวงชะตาไม่ดี หน้าที่การงานไม่ก้าวหน้า ทำการค้าไม่ก้าวไกล ทำอะไรก็ขาดทุน สมควรอย่างยิ่งที่จะมีไว้บูชา” (วัดแห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี) “มหาโชค มหาลาภ มหาเสน่ห์ โคตรเศรษฐี แคล้วคลาด ค้าขาย ร่ำรวย” (วัดแห่งหนึ่งในเขตบางกอกใหญ่) ฯลฯ ได้แต่ตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ผู้บริโภคสินค้าและบริการที่ซื้อสินค้า และบริการไม่ได้ตามมาตรฐานที่โฆษณาไว้ มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ไว้เป็นที่รองรับเรื่องร้องเรียน แต่สิ่งที่เรียกกันว่า “วัตถุมงคล” เพื่อการพาณิชย์ละ...มีใครคอยควบคุมดูแลบ้าง ว่าผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอกลวงด้วยคุณสมบัติที่ป่าวประกาศไว้ร้อยแปดพันประการ? หรือมีใครคอยดูแลไม่ให้โฆษณาชวนเชื่อจนเกินไป?
ตามธรรมชาติแล้ว ผมเชื่อว่ากระแสท้าวจตุคามรามเทพมาแล้วก็ไป แล้วก็มีค่ายอื่นๆ สำนักอื่นๆ มาทดแทนอีก เหมือนคลื่นที่ซัดสาดชายฝั่งลูกแล้ว ลูกเล่า แต่พวกเราก็ยังวิ่งไล่ตามกันต่อไป ทั้งที่ลัทธิหวังลาภลอยคอยผล ดลบันดาลมีมาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ก่อนยุคพุทธกาลเสียอีก
สาเหตุแห่ง “ปรากฏการณ์คลั่งเทพจนลืมธรรม” ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากอะไรยังไม่น่าช้ำใจเท่ากับความอ่อนแอภายในของพุทธบริษัทเอง เมื่อผู้คนขาดที่พึ่งทางใจ ไร้ที่เกาะยึด หรือไร้แสงสว่างส่องทาง แต่พระสงฆ์ (บางรูป) ทำให้เขาเขวออกห่างจากแนวทาง “ที่พึ่งอันเกษม” ที่พระบรมศาสดาทรงชี้แนะไว้ในพุทธพจน์ที่ว่า
“มนุษย์มากมายแท้ ถูกภัยคุกคามเข้าแล้ว พากันยึดเอา ภูเขาบ้าง ป่าบ้าง สวนและต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์บ้าง เป็นที่พึ่ง สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นที่พึ่งอันเกษมได้เลย นั่นไม่ใช่สรณะอันอุดม คนยึดเอาสรณะอย่างนั้น จะพ้นไปจากทุกข์หาได้ไม่ ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มองเห็นด้วยปัญญาโดยถ่องแท้ซึ่งทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ความก้าวล่วงทุกข์ และอริมรรคามีองค์ 8 อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ นี่แหละคือสรณะอันเกษม นี้คือสรณะอันอุดม คนถึงสรณะอย่างนี้แล้ว ย่อมปลอดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”
วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ
เกี่ยวกับเรื่องเทพ และอิทธิปาฏิหาริย์นี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในซีดีธรรมบรรยายหลายๆ เรื่อง ในชุด “จะถือพุทธและรักษาธรรมได้ เรื่องอย่างนี้ต้องเข้าใจ อย่าให้เพี้ยน” รวมถึงในหนังสือพุทธธรรม (บทที่ 13 พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2529) ว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ปฏิเสธอิทธิปาฏิหาริย์ ความมีอยู่ของเทพ หรือเทวดา รวมถึงพระพุทธศาสนาไม่สนใจกับคำถามว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่พระพุทธศาสนาสนใจก็คือ มนุษย์ควรวางท่าทีและมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร
การมัวหวังพึ่งผลสำเร็จ หรือโชคลาภจากการอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากอำนาจดลบันดาลขัดกับหลักความไม่ประมาท และไม่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา ที่สอนให้มนุษย์หวังผลสำเร็จจากการลงมือทำด้วยความ เพียรพยายามตามเหตุและผล เพราะการหวังผลดลบันดาลจากอำนาจภายนอกที่มองไม่เห็น อาจทำให้กลายเป็นคนเฉื่อยชา งอมืองอเท้า ขาดความเพียรพยายาม ไม่เร่งรีบสิ่งที่ควรทำ ไม่เร่งงดเว้นสิ่งที่ควรงดเว้น ปล่อยให้ศักยภาพของตนสูญเปล่า
ส่วนท่าทีต่อเทพนั้น ท่านกล่าวว่า คนเราพึงกระทำกิจหน้าที่ด้วยความเพียรพยายามเต็มความสามารถไปตามเหตุผล ถ้ายังห่วงการช่วยเหลือของเทพก็พึงวางจิตไว้ว่า ถ้าความดีของเราเพียงพอ และเทพที่ดีงามมีน้ำใจสุจริตมีอยู่ ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของเทพเหล่านั้น ท่านจะพิจารณาตัดสินใจเอง ส่วนตัวเราเองต้องตั้งจิตมั่นเพียรพยายามทำกิจของตนไปจนสุดกำลังสติปัญญาและความสามารถ
พระพรหมคุณาภรณ์สรุปไว้ตอนท้ายบทว่า “การมัวเพลินหวังผลจาก ฤทธานุภาพและเทวานุภาพดลบันดาลก็คือ การตกอยู่ในความประมาท ละเลยปล่อยให้ศักยภาพของตนสูญไปเสียเปล่า และจะไม่รู้จักเติบโตในอริยมรรค ส่วนผู้ใดไม่ประมาท ไม่รีรอ เร่งฝึกตนไม่หยุดยั้ง ผู้นั้นแหละจะได้ทั้งอิทธิฤทธิ์และเทวฤทธิ์ และจะบรรลุสิ่งเลิศล้ำที่ทั้งฤทธานุภาพและเทวานุภาพไม่อาจอำนวยให้ได้”
ใช่หรือไม่ว่า “ปรากฏการณ์คลั่งเทพจนเมินธรรม” คือสัญญาณเตือนภัย ถึงสถานการณ์ภายในบางอย่างของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย??
จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์" งานเขียนโดย....คุณเชาวลิต บุณยภูษิต
|