วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์มั่น วิถี แห่ง ธรรมเทศนา
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
หากผู้ใดมีหนังสือ "ชีวประวัติ ธรรมเทศนา และ ธรรมบรรยาย ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร" ซึ่งคณะเจ้าภาพพิมพ์แจกในฌาปนกิจศพ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2493 ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อยู่ในมือ
ก็จะแจ้งไม่เพียงแต่ ชีวประวัติ ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อันเรียบเรียงโดย พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องราวความเป็นมาของพระอาจารย์ฉบับแรกอย่างค่อนข้างเป็นทางการ
เท่านั้น-หากยังแจ้งในรากที่มาของหนังสือ "มุตโตทัย" อีกด้วย
แน่นอน คำชี้แจงว่าด้วยเรื่องราวความเป็นมาของหนังสือ "มุตโตทัย" ก็มาจากข้อเขียนของ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) จากเสนาสนะป่าเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น อย่างเป็นด้านหลัก
เพราะว่ารากความเป็นมาของหนังสือ "มุตโตทัย" สำคัญและสัมพันธ์กับเรื่องราวของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นอย่างมาก
จึงจำเป็นต้องนำมาบันทึกไว้อย่างกิจจะลักษณะอีกวาระหนึ่ง
ประการ 1 เพื่อให้เกียรติแก่ พระอริยคุณาธาร ประการ 1 เพื่อให้เกียรติแก่ พระวิริยัง ประการ 1 เพื่อให้เกียรติแก่ พระทองคำ ซึ่งทั้ง 3 ท่านนี้ถือว่ามีบทบาทเป็นอย่างสูงต่อธรรมเทศนาของพระอาจารย์
โปรดอ่าน
การที่ใช้ชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่รวบรวมพิมพ์ชุดแรกว่า มุตโตทัย นั้น อาศัยคำชมของเจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทรเถร จันทร์) เมื่อคราวท่านอาจารย์แสดงธรรมว่าด้วย มูลกรรมฐาน ณ วิหารหลวงเชียงใหม่ ว่า
ท่านอาจารย์แสดงธรรมด้วย มุตโตทัย เป็น มุตโตทัย
คำนี้ท่านอาจารย์นำมาเป็นปัญหาถามในที่ประชุมพระภิกษุเปรียญหลายรูปซึ่งมีข้าพเจ้าร่วมอยู่ด้วย ในคราวที่ท่านมาพักกับข้าพเจ้าที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
ข้าพเจ้าทราบความหมายของคำนั้นแล้ว แต่เห็นว่าเป็นอสาธารณนัย จึงกล่าวแก่ทางใจ
ทันใดนั้นท่านก็พูดขึ้นว่า ข้าพเจ้าแก้ถูก
ซึ่งทำความปลาดใจแก่ภิกษุทั้งหลายมิใช่น้อย ต่างก็มารุมถามข้าพเจ้าว่า หมายความอย่างไร
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ข้าพเจ้าบอกให้ทราบแก่บางองค์เฉพาะที่น่าไว้ใจ
คำว่า มุตโตทัย มีความหมายเป็นอสาธารณนัยก็จริง แต่อาจเป็นความหมายมาเป็นสาธารณนัยก็ได้
จึงได้นำมาใช้เป็นชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ โดยมุ่งให้มีความหมายว่า เป็นธรรมเทศนาชี้บอกแนวทางปฏิบัติให้บังเกิดความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ ซึ่งถ้าจะแปลสั้นๆ ก็ว่า แดนเกิดแห่งความหลุดพ้นนั้นเอง
ธรรมเทศนาชุดแรกนี้ พระภิกษุวิริยัง กับ พระภิกษุทองคำ เป็นผู้บันทึกในสมัยท่านอาจารย์อยู่จำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านโคกนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร
และตอนแรกไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
ข้าพเจ้ารับเอาบันทึกนั้นพร้อมกับขออนุญาตท่านอาจารย์พิมพ์เผยแผ่ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงเสียใหม่ให้เรียบร้อย ตัดส่วนที่ไม่ควรเผยแผ่ออกเสียงบ้าง ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามนั้นทุกประการ
ถึงอย่างนั้นก็ยังมีที่กระเทือนใจผู้อ่านอยู่บ้าง จึงขอชี้แจงไว้ในที่นี้
คือ ข้อที่ว่า พระสัทธรรม เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้วย่อมกลายเป็นของปลอมไปนั้น หมายความว่า ไปปนเข้ากับอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ เมื่อแสดงออกแก่ผู้อื่นก็มักมีอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ปนออกมาด้วย
เพื่อรักษา พระสัทธรรม ให้บริสุทธิ์สะอาด คงความหมายเดิมอยู่ได้ควรมีการปฏิบัติกำจัดของปลอม คืออุปกิเลสอันแทรกซึมอยู่ในอัธยาศัยนั้นให้หมดไป ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของท่านผู้แสดงที่จะชักจูงจิตใจของผู้ฟังให้นิยมในสัมมาปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป
ถ้าผู้ฟังมีใจสะอาดและเป็นธรรมแล้ว ย่อมจะให้สาธุการแก่ท่านผู้แสดงแน่แท้
ต่อมา พระวิริยัง ก็คือ พระญาณวิริยาจารย์ ผู้เรียบเรียงประวัติพระอาจารย์
เช่นเดียวกับ ต่อมา พระภิกษุทองคำ ก็คือ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ เจ้าของบันทึกสำคัญชื่อ "รำลึกวันวาน"
รำลึกวันวานอันให้ภาพและความคิด พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ล่าสุด
|