'จตุคามฟีเวอร์'-'เทวพาณิชย์'เฟื่อง 400 รุ่นสะพัดทั่วนครศรีธรรมราช หมื่นล้าน
กำแพงวัดพระมหาธาตุฯ เต็มแน่นไปด้วยคัตเอาต์ โฆษณาจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ
แม้จะยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับรู้ที่มาที่ไปอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับการถือกำเนิดขึ้นในฐานะวัตถุมงคล แต่จนถึงขณะนี้คงมีเพียงน้อยคนที่ไม่เคยได้ยินคำว่า 'จตุคามรามเทพ' วัตถุมงคลสุดยอดความนิยมแห่งปี ที่เปล่งรัศมีขึ้นมายืนอยู่บนแถวหน้า ในวงการผู้นิยมวัตถุมงคลอย่างเหนือความคาดหมาย และเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้วงการวัตถุมงคล คึกคักมากขึ้นแบบคาดไม่ถึง
เมื่อความศรัทธาต่อ 'จตุคามรามเทพ' ในหมู่ประชาชนทั้งชาว จ.นครศรีธรรมราช และชาวพุทธทั่วประเทศที่กำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2528 - 2530 ผ่านการบ่มเพาะถึงเกือบ 20 ปี จึงค่อยๆ ยืนต้นชูกิ่งก้านสาขาขึ้น พร้อมๆ กับกาฝากที่ฉวยโอกาสเกาะเกี่ยวและเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยมีความศรัทธาอย่างบริสุทธิ์ ร่วมกับ 'ความศรัทธาอย่างงมงาย' ของประชาชนบางส่วน และอานุภาพแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นปุ๋ยชั้นดี ส่งผลให้ธุรกิจวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพมีเม็ดเงินสะพัดในวงการอย่างมหาศาล ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายปี
สิ้นปี 50 'จตุคามฯ' จ่อออกสู่ตลาดเกือบ 400 รุ่น
พระราชธรรมสุธี เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้มีสิทธิ์ในการอนุญาตให้ใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ วิหารหลวง ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สำหรับการประกอบพิธีพุทธาภิเษก - เทวาภิเษก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการจัดสร้าง 'จตุคามรามเทพ' ไม่ว่าจะเป็นคณะจัดสร้างจากภาคใดของประเทศจะต้องมาทำพิธีปลุกเสกที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ในฐานะศูนย์กลางแหล่งกำเนิดจตุคามรามเทพ จึงจะได้รับการยอมรับในอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของจตุคามฯรุ่นที่จัดสร้าง
เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2544 -2548 ขณะที่ชื่อ 'จตุคามรามเทพ' ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างปัจจุบัน มีการมาขออนุญาตใช้วิหารหลวง ประกอบพิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพ ตกปีละ 2-3 รุ่นเท่านั้น
พระราชธรรมสุธี กำลังตรวจคิวจองพื้นที่ปลุกเสก ให้กับคณะผู้จัดสร้างจตุคามรามเทพ
"ตั้งแต่ขุนพันธ์ฯ เสียชีวิต และประมาณเดือนพฤศจิกายนปี 2549 ที่พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จมาเททองชนวนในการจัดสร้างจตุคามรามเทพ รุ่นอุดมโภคทรัพย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เชื้อพระวงศ์มาประกอบพิธีเอง จากนั้นเป็นต้นมา การจัดสร้างจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในภาคกลาง อีสาน และเหนือ แต่ที่มากที่สุดคือ จ.นครศรีธรรมราช " พระราชธรรมสุธีกล่าว และว่า
วัดในจ.นครศรีธรรมราช มีประมาณ 560 วัด บางวัดไม่มีสมภาร ส่วนวัดที่มีสมภารก็พยายามจัดสร้างจตุคามรามเทพ จนถึงขณะนี้มีประมาณ 200 วัด ที่สร้างไปแล้วและกำลังจะสร้าง โดยคณะผู้จัดสร้างหวังว่าจะได้เงินทุนไปบูรณะวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เขาเห็นว่ากระแสตรงนี้เป็นที่ต้องการจึงพากันจัดสร้างกันถ้วนหน้า บางรุ่นก็ดังบางรุ่นก็ไม่ดัง ถึงตอนนี้มีการปลุกเสกรุ่นใหม่ๆ กันทุกวัน บางวันทำพร้อมกัน 2-3 รุ่นก็มี ทั้งที่วิหารหลวงและศาลหลักเมือง ตอนนี้มีคณะต่างๆ มาจองสถานที่เต็มแน่นไปจนถึงเดือนตุลาคมแล้ว ปี 2550 มี 365 วัน แต่มีคณะจัดสร้างจตุคามฯมาขอจองวิหารหลวงแล้ว 200 รุ่น
พิธีปลุกเสกที่ใช้สถานที่ด้านหน้า และภายในวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุฯ มีขึ้นทุกวัน
นั่นหมายถึงว่าจะมีวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ ออกมาสู่ท้องตลาดอีกอย่างต่ำ 200 รุ่น ในปี 2550
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลการจัดสร้างวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ ในแต่ละรุ่นอย่างเป็นระบบ แต่จากการประมาณการของผู้คร่ำหวอดในวงการวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ จ.นครศรีธรรมราช พบว่า ตั้งแต่กลางปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีการผลิตและปลุกเสกจตุคามรามเทพไปแล้วไม่ต่ำกว่า 150 รุ่น ไม่นับรุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 200 รุ่น คาดว่าจนถึงสิ้นปี 2550 จะมีวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพออกสู่ตลาดรวมเกือบ 400 รุ่น ส่วนจำนวนการพิมพ์ในแต่ละรุ่น ไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด กลายเป็นความเคลือบแคลงสงสัยต่อคณะผู้จัดสร้างในเวลาต่อมา และที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
"ปี 2550 ตั้งแต่เดือนมกราคม มีการปลุกเสกกันทุกวัน บางวัน 2-3 รุ่น ราคาค่าเช่ามีหลายระดับ ที่ต่ำสุดเห็นจะเป็นรุ่นเงินไหลมาเทมา ค่าเช่าจากวัดเริ่มแรกเพียงแว่นละ 39 บาทเท่านั้น เช่า 3 แว่น 100 บาท ที่สูงที่สุดระดับของราคาอยู่ที่ 2 หมื่นถึง 3 หมื่นบาท เป็นเนื้อทองคำ ส่วนชนิดลอยองค์ ราคาสูงต่ำตามขนาดของฐาน มีตั้งแต่ 1 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาด 9 นิ้ว ราคาเช่าจากหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน แต่ละรุ่นไม่มีการระบุจำนวนที่แน่ชัด แต่จะมีการพิมพ์เผื่อชำรุดประมาณ 500-600 แว่น ตามปกติของการจัดสร้างวัตถุมงคล ที่เป็นปัญหาคือมีการปั๊มกันไม่หยุด ไม่มีการทำลายบล็อก ทำให้เกิดข้อกังขาน่าสงสัยตามมา และไม่สามารถตรวจสอบได้เลย" แหล่งข่าวในวงการพระเครื่อง จ.นครศรีธรรมราช กล่าว
จตุคามรามเทพ รุ่น โคตรเศรษฐีมีกำไร
จตุคามฯ ฟีเวอร์ เมืองคอนสะพัดกว่าหมื่นล้าน
จากการประมาณการของผู้คร่ำหวอดในวงการวัตถุมงคล จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า กระแสความนิยมในวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ ได้ทำให้บรรยากาศ การประกอบธุรกิจและการท่องเที่ยวของ จ.นครศรีธรรมราช คึกคักขึ้นมาก เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างหลากหลาย ร้านค้า ร้านอาหาร จำนวนมากหันมาเพิ่มการให้บริการแก่ลูกค้า ด้วยการตั้งตู้โชว์พระให้เช่าบูชา และวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ สร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว และเกิดแผงเช่าพระขึ้นจำนวนมากใน จ.นครศรีธรรมราช ทั้งระดับสูง กลาง และล่าง
ฐปมณ บัวใหญ่ หรือ "สังข์" เจ้าของแผง "สังข์ 300" ตั้งอยู่ภายในศูนย์สินค้าโอทอป เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่มีแผงพระอยู่รวมกันนับสิบแผง บอกว่าการขยายตัวของธุรกิจแผงพระเครื่องในขณะนี้มีสูงมาก และมีศูนย์รวมใหญ่ๆ หลายที่ และด้วยอัตราการขยายตัวที่สูง ห้างฯขนาดใหญ่มีการเปิดแผงพระเครื่อง ขยายเวลาจนถึง 5 ทุ่มเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน
ปฏิทินจองสถานที่ปลุกเสกเต็มแน่นทั้งเดือนและยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม 2550
"เชื่อว่า จากความศรัทธาต่อจตุคามรามเทพ ทำให้เม็ดเงินไหลสะพัดสู่นครศรีธรรมราชนับพันล้านบาทต่อเดือน คิดง่ายๆ ต่อรุ่นมีรายได้นับร้อยล้านบาท 1-2 ปีทำกันนับร้อยรุ่นแล้ว และที่กำลังอยู่ในพิธีอีกมาก กำไรแผงเล็กแผงน้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ถ้าเป็นแผงใหญ่คิดดูว่าจะเท่าไหร่" สังข์ระบุ
ส่วนธนพงศ์ ศิริวงศ์สถาพร หรือ "โกพงศ์" นักธุรกิจค้าส่งรายใหญ่ที่พลิกผันชีวิตตัวเอง มาเปิดศูนย์พระเครื่อง มีแผงย่อยเข้ามาอยู่ในศูนย์นับร้อยแผง ระบุว่า ตลาดพระเครื่องนครศรีธรรมราชมีความโด่งดังไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะจตุคามรามเทพ มีประชาชนเช่าไปกราบไหว้บูชาด้วยแรงศรัทธา และยังโด่งดังข้ามไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ และปีนัง ที่มีความต้องการองค์จตุคามรามเทพเป็นจำนวนมาก ผู้สร้างย่อมสร้างมากขึ้น สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดจำนวนมาก
นอกจากนี้ พบว่าระหว่างที่มีการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ในช่วงวันที่ 11-25 พฤษภาคม 2550 ซึ่ง จ.นครศรีธรรมราช เป็นเจ้าภาพ ได้มีการเปิดให้เช่าพื้นที่แผงพระและวัตถุมงคล บริเวณสนามแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เช่าบูชาวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ ซึ่งราคาเช่าแผงอยู่ที่ 6,500 บาทต่อเดือน และคาดว่าช่วงงานประเพณีเดือนสิบ และเทศกาลสำคัญอื่นๆ ตลอดปี 2550 จะมีนักท่องเที่ยวและประชาชนจำนวนมากเดินทางเข้ามาใน จ.นครศรีธรรมราช
"ประมาณการกันว่า วงการวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ ทำรายได้เข้าจังหวัดอย่างมหาศาล เชื่อว่ามีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะคนจากทั่วสารทิศเดินทางมาที่นี่ คนหนึ่งใช้จ่ายต่อวันขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 500 บาท คนที่ได้มากที่สุดก็คือกลุ่มนายทุนที่ฉวยโอกาส" แหล่งข่าววงการวัตถุมงคล จ.นครศรีธรรมราช ระบุ
ในส่วนของจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วภาคใต้ ก็พบว่ามีแผงเช่าวัตถุมงคลผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ห้างฯค้าปลีกต่างชาติ ได้เปิดแผงให้เช่าพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยน ซื้อ - ขาย วัตถุมงคล โดยมีผู้ประกอบการทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นได้เข้าไปเช่าแผงเป็นจำนวนมาก
ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในภาวะซบเซา แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จากปัญหาราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรายได้เข้าจังหวัด จากธุรกิจการประมง เรือประมงจำนวนมากหยุดออกหาปลาเนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว ส่งผลให้ธุรกิจการประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าร่วมหมื่นล้านบาท
ประชาชนจากทุกสารทิศมาสั่งจองจตุคามรามเทพที่เพิ่งปลุกเสกเสร็จ
จนกระทั่งเกิดกระแสความนิยมในวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพขึ้นมา จึงทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของ จ.นครศรีธรรมราชกระเตื้องขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ดีอีกครั้ง เนื่องจากเม็ดเงินสะพัดจากกระแสจตุคามฯฟีเวอร์ มาชดเชยรายได้ที่เสียไปจากธุรกิจประมงได้อย่างพอดิบพอดี
"เศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้นในขณะนี้ พูดได้ว่ามาจากจตุคามฯ มีคนเดินทางเข้ามาที่นครฯ เพิ่มมากขึ้น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร รถโดยสาร ตลอดจนสายการบิน คึกคักมากขึ้น เพราะคนเดินทางมาที่วัดพระมหาธาตุฯเป็นจำนวนมาก แผงพระต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีรายได้ดี ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งพบว่าแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นจากจตุคามฯ แต่คนนครฯ เองก็ไม่มีเงินติดมือ เพราะเงินที่มีส่วนใหญ่นำไปเก็งกำไรในส่วนนี้หมด โดยเฉพาะใบจองจตุคามฯ บางคนถืออยู่หลายรุ่น ในขณะที่จตุคามฯเองก็ออกมาหลายรุ่นเช่นกัน เงินสะพัดจากจตุคามฯขณะนี้คงร่วมๆ หมื่นล้านแล้ว"
นายจามร เจริญอภิบาล ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุ
ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่เขต 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง คือ พัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช พบว่าในปี 2549 นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวประมาณ 2.5 ล้านคน แยกเป็น จ.นครศรีธรรมราช มีจำนวนสูงสุดถึง 1.3 ล้านคน รองลงมาคือ จ.ตรัง 800,000 คน และ จ.พัทลุง 300,000 คน มีเงินหมุนสะพัดกว่า 6,000 ล้านบาท
แผงพระหน้าวัดพระมหาธาตุฯ มีประชาชนให้ความสนใจแวะเวียนมาชมวัตถุมงคลไม่ขาดสาย
"ขณะนี้ปรากฏว่าในช่วงปิดเทอม นักท่องเที่ยวได้หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะมาจากภาคกลาง และส่วนใหญ่เข้ามาเที่ยว จ.นครศรีธรรมราชมากที่สุด โดยได้รับอานิสงส์จากองค์จาตุคามรามเทพ ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามามากเป็นพิเศษ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ห้องพักโรงแรมต่างๆ ในช่วงวันสุดสัปดาห์เต็มหมด มีทั้งคนไทย และชาวมาเลเซีย โดยชาวเฉพาะชาวมาเลเซียต่างนิยมองค์จาตุคามรามเทพมากเช่นกัน"นายวิโชค อ้างมณี ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคใต้ เขต 2 (ททท.)ระบุ
สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งจ.นครศรีธรรมราช มีการจัดงานมหาสงกรานต์แห่นางดาน ติดต่อกัน 5 วัน มีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 250,000 คน มีเงินสะพัดประมาณ 550 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าเช่าวัตถุมงคลองค์จตุคามรามเทพ ที่ทำให้มีเงินสะพัดรวมทั้งเดือนเมษายน กว่า 1,000 ล้านบาท และคาดว่าตลอดทั้งปี 2550 การท่องเที่ยวในพื้นที่จะขยายตัวเติบโตขึ้น โดย จ.นครศรีธรรมราช จะโตขึ้นอีกประมาณ 15 -20 เปอร์เซ็นต์ พัทลุง 10 เปอร์เซ็นต์ และตรัง 15 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าจากการประมาณการของ ททท.สำนักงานภาคใต้เขต 2 พบว่า เม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ จ.นครศรีธรรมราช ช่วงเดือนเมษายน เฉพาะจากการเช่าบูชาวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพเพียงด้านเดียว ก็มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 1 เท่าตัวของยอดประมาณการรายได้เข้าจังหวัดจากธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งระบบ
ลูกค้ามีทั้งพระภิกษุ สามเณร และชาวบ้านทั่วไป
จากรายได้และการขยายตัวของธุรกิจให้เช่าวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกรมสรรพากร ได้พยายามหาช่องทางเรียกเก็บภาษีจากการแลกเปลี่ยนวัตถุมงคลสายจตุคามรามเทพ ซึ่งความพยายามดังกล่าวได้ส่งผลให้เซียนพระ นักสร้างจตุคามรามเทพ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาบางส่วนมีความไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่าจตุคามรามเทพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ส่วนนายทุนผู้จัดสร้างก็ไม่อยากที่จะเสียรายได้ส่วนนี้ไป
"ขณะนี้กำลังมีการตรวจสอบและจัดทำข้อมูล ซึ่งการดำเนินการจะต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สรรพากรจะต้องทำอย่างมีเหตุมีผล เนื่องจากหากทำโดยขาดเหตุผล ประชาชนอาจต่อต้านได้ ทุกคนมีหน้าที่เสียภาษี แต่เราเองก็จะด่วนทำไม่ได้ ต้องค่อยๆ รวบรวมข้อมูล รายได้ รายรับต่างๆ และทำความเข้าใจแก่ประชาชน พยายามสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ทำอย่างเป็นกลางที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา" นางศิริพร บุญเจริญ สรรพากรเขตพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช กล่าว
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|