หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

“พุทธศาสนา” อยู่ที่ “ใจ” หรือต้องอยู่ใน “รธน.”?


พระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ นำทีมคณะสงฆ์ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ปธ.กมธ.ยกร่าง รธน.เมื่อ 17 เม.ย.

กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง กรณีคณะสงฆ์และองค์กรพุทธฯ ขู่ชุมนุมใหญ่ตั้งแต่ 25 เม.ย.เป็นต้นไป จนกว่า ส.ส.ร.(สมาชิกสภาร่าง รธน.) จะยอมบรรจุคำว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ลงในร่าง รธน.ฉบับใหม่ ทั้งที่แต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่มี รธน.มา 70 กว่าปี ก็ไม่เคยมีการบรรจุเช่นนี้ไว้ แถมยังมีตัวอย่างบางประเทศที่บรรจุแล้ว เกิดความแตกแยก รบราฆ่าฟันกัน แต่ดูเหมือนชาวพุทธและคณะสงฆ์บางส่วน ที่แปรสภาพมาเป็นผู้ชุมนุมในขณะนี้ จะมิได้ไยดีหรือตระหนักถึงความแตกแยกที่อาจรุนแรงขึ้น โดยคิดและหวังแต่ว่า เมื่อบรรจุแล้ว พุทธศาสนาจะเจริญขึ้น สูงส่งขึ้น ทั้งที่ความจริง เหตุแห่งความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนา อาจมิได้อยู่ที่...มีการบรรจุอยู่ใน รธน.หรือไม่?

ประเด็นเกี่ยวกับ “ศาสนา” ถูกจุดขึ้นมาโดยบางกลุ่มบางองค์กรด้วย คือ กรณีองค์กรเครือข่ายชาวพุทธและคณะสงฆ์ ชุมนุมที่หน้ารัฐสภา พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องให้ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.บรรจุคำว่า “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” ลงในร่าง รธน.ฉบับใหม่นี้ โดยให้เหตุผลว่า จะก่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการ ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เป็นการส่งเสริมอารยธรรมที่สูงส่งในพระพุทธศาสนา โดยที่ศาสนาอื่นก็ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชาติบ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกๆ ด้าน

ขณะที่ น.ต.ประสงค์ บอกว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นความหวังดีของชาวพุทธ แต่รัฐธรรมนูญของไทยตั้งแต่ปี 2475-2540 ไม่ได้มีการบรรจุเนื้อหาดังกล่าวไว้ ซึ่งก็ไม่เคยมีผลกระทบว่าเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทย ดังนั้น เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงไม่ได้มีการแก้ไขในหมวดเหล่านี้ คือ หมวดพระมหากษัตริย์และศาสนาแต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ปิดช่องในเรื่องดังกล่าวเสียทีเดียว โดยเปิดให้มีการแปรญัตติเพื่อแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ภายในวันที่ 26 พ.ค.นี้

น.ต.ประสงค์ ยังยืนยันด้วยว่า ตนก็เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่อยากเห็นพระพุทธศาสนารุ่งเรือง แต่คิดว่า การจะบัญญัติเรื่องนี้ไว้ใน รธน.หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ สิ่งสำคัญกว่าคือชาวพุทธต้องเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ว่า พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้น อยู่ที่พุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในการที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังนั้น ชาวพุทธต้องมีการประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามคำสอน ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องมีบทบัญญัติเอาไว้หรือไม่


ด้าน พระเทพวิสุทธิกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้แถลงเรียกร้องที่หน้ารัฐสภา (18 เม.ย.) ว่า จะชุมนุมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.เป็นต้นไป จนกว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะแปรญัตติเรื่องนี้เสร็จเรียบร้อย โดยคาดว่า จะมีชาวพุทธและพระสงฆ์ทั่วประเทศมาร่วมชุมนุม 2-3 แสนคน

ขณะที่องค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย นำโดย พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ก็ได้ขู่ชุมนุมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.เป็นต้นไปเช่นกัน พร้อมประกาศใช้มาตรการ “ลงพรหมทัณฑ์” (เลิกคบหา เลิกใช้งาน ประจานต่อสังคมให้เกิดความละอายจนกว่าจะกลับตัวกลับใจ) กับ น.ต.ประสงค์ เนื่องจากไม่พอใจท่าทีและคำแถลงของ น.ต.ประสงค์ พร้อมยืนยัน การแสดงจุดยืนของชาวพุทธครั้งนี้ ไม่มีการเมืองหนุนหลัง แม้จะมี นายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมปราศรัยเรียกร้องเรื่องนี้ด้วยก็ตาม

ด้าน นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ บอก ขณะนี้คณะกรรมาธิการ ได้จัดรายการ “คุยกับ ส.ส.ร.” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และอยากให้คณะสงฆ์ได้ส่งตัวแทนไปออกรายการในวันที่ 25 เม.ย. เพื่อแจ้งเหตุผลในการเรียกร้อง จะได้สะท้อนไปสู่ประชาชน ขณะที่ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย รีบรับลูก เตรียมส่งพระเทพวิสุทธิกวี ในฐานะเลขาธิการศูนย์ไปร่วมรายการดังกล่าว


ก่อนที่จะได้ข้อยุติว่า ที่สุดแล้ว จะมีการแปรญัตติแก้ไขให้มีการบรรจุคำว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในร่าง รธน.ฉบับใหม่นี้หรือไม่ ลองมาฟังมุมมองของหลายๆ ฝ่ายต่อเรื่องนี้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แม้จะไม่ฟันธงตรงๆ ว่า ควรบรรจุในรัฐธรรมนูญว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ แต่ก็ให้ข้อสังเกตว่า ศาสนาเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และศาสนาพุทธก็เป็นจารีตประเพณีที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน “มีความหนักแน่นมั่นคง มากกว่าการเป็นตัวหนังสือ” หากมีการเขียนเรื่องนี้ไว้ใน รธน. แล้ววันหนึ่ง รธน.ถูกฉีก เรื่องนี้ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน

“นักปราชญ์ทางการเมืองเขาถือว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่เรื่องทางศาสนาเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เรียกว่า ทางรัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงเรื่องของศาสนา และศาสนาก็ไม่ควรเข้ามามีบทบาทครอบงำรัฐ มีความเชื่ออย่างนี้มาในระบอบประชาธิปไตยยาวนานพอสมควรในหลายประเทศ และโดยปกติ เรื่องการกำหนดศาสนาไว้เป็นศาสนาของชาติ ประเทศอังกฤษ ในอดีต หลังจากที่ออกมาจากสำนักวาติกัน ที่เขาแยกตัวออกมา ก็ได้ตั้งนิกายศาสนาคริสต์ของตัวเองที่เรียกว่า Church of England โดยที่กษัตริย์ก็จะนับถือศาสนานี้ และถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติ แต่อังกฤษไม่มี รธน.ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ถือว่าเป็นจารีตประเพณี ไม่มีบทบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ...ประเทศไทยเราถือปฏิบัติกันเป็นประเพณี เป็นจารีตมายาวนาน และถือว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ และให้เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ก็ถือว่าเป็นจารีตประเพณีมายาวนานแล้ว มีความสำคัญมากกว่าตัวอักษรอีก เพราะตัวอักษรถ้าเขียนไว้ใน รธน.ถ้า รธน.ถูกฉีกทิ้ง ก็จะไม่มีนะ แต่ความเป็นจารีตประเพณีมันฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน และก็จะต่อไปในอนาคตอีกยาวนานมันเป็นจารีตประเพณีที่มีความมั่นคง หนักแน่นมากกว่าการเป็นตัวหนังสือ”

ด้าน อ.ปรีชา สุวรรณทัต นายกสภามหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล นครราชสีมา และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในร่าง รธน.เพราะศาสนาพุทธและพระธรรมวินัย เป็นของสูงส่ง จึงไม่ควรนำมาบัญญัติไว้ใน รธน.ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่มีความจีรังยั่งยืน นอกจากนี้ รธน.ยังเป็นเรื่องของปุถุชน จึงไม่ควรนำมารับรองสิ่งที่เป็นของพระพุทธองค์ และจะว่าไป พระพุทธเจ้าก็คงไม่ได้ตรัสรู้มา เพื่อจะให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติใดชาติหนึ่งโดยเฉพาะ


“เราจะเอารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องของปุถุชน เอามารับรองสิ่งที่เป็นของพระพุทธองค์ มันไม่ถูกตรงจุดนี้ เราจะมายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นประจำชาติของเราเนี่ย ผมคิดว่าผิดพระธรรมวินัย ท่านไม่ได้ตรัสรู้มาว่า ให้ประจำชาติใดชาติหนึ่ง ถ้าพูดว่าประจำ เป็นประจำโลกด้วยซ้ำไป ผมเคยถามคณะสงฆ์ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาจัดสัมมนาอบรมกฎหมายคณะสงฆ์ ผมบอก ผมกราบนมัสการถามท่านหน่อย ระหว่างรัฐธรรมนูญที่เราถือเป็นกฎหมายสูงสุดเนี่ย กับพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ อะไรสูงส่งกว่ากัน อะไรมีค่ามากกว่ากัน ท่านก็ตอบผมไม่ได้ว่า พระธรรมวินัยสูงส่งยิ่งกว่า รธน.ผมบอกว่า ถ้าเราเอา รธน.บัญญัติไว้ เอาละยอมตามที่ท่านเรียกร้อง เขียนไว้เลยว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย อีกไม่กี่วัน รธน.ฉบับนั้นถูกปฏิวัติไป ช่วงที่เป็นช่องว่างนั้น ก็แสดงว่าไม่ประจำชาติแล้วสิ ซึ่งกฎหมายมันไม่จีรังยั่งยืน ตอนนั้นจะทำยังไงล่ะ เช่นตอนนี้ สมมติปี 2540 บัญญัติไว้ในสมัยนั้น แล้วตอนนี้เป็นยังไง ไม่มี รธน.บัญญัติไว้แล้ว ในช่องว่างก็ไม่เป็น (ประจำชาติ) น่ะสิ ทั้งที่มันเป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ท่านก็ตอบประเด็นนี้ของผมไม่ได้”

ขณะที่ นายคณิน บุญสุวรรณ ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 บอกว่า เมื่อตอนร่าง รธน.ปี ’40 ก็มีการเรียกร้องให้มีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน.เช่นกัน แต่ไม่ได้บรรจุ เพราะเห็นว่าไม่ได้เกิดผลดีอะไรกับการพัฒนาการของบ้านเมือง และยังเป็นห่วงว่า หากบรรจุอาจก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้บรรจุตามที่มีการเรียกร้อง แต่ก็ได้บรรจุว่า “รัฐมีหน้าที่ต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำให้ผู้เรียกร้องพอใจ แต่ก็อยู่ในภาวะที่ยอมรับและเข้าใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของสภาร่าง รธน.ในขณะนั้น โดยเฉพาะ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นที่ยอมรับมากกว่าสภาร่างฯ ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม นายคณิน ประเมินว่า สถานการณ์ขณะนี้ คงถึงเวลาที่ต้องบรรจุคำว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติลงในร่าง รธน.ฉบับใหม่ เพราะนอกจากจะทำให้ คมช.มีแต้มต่อทางการเมืองแล้ว ยังจะช่วยให้ รธน.ฉบับนี้ผ่านประชามติด้วย

“ผมประเมินจากสถานการณ์ทั่วไป มาถึงวันนี้แล้ว ต้องตัดเรื่องของเหตุผลที่เราเคยอ้างไปแล้ว ว่า การบรรจุลงไปจะทำให้เกิดความแตกแยกอะไรต่างๆ เหล่านั้น ผมประเมินว่า มันคงจะถึงเวลาแล้ว ที่คณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.อาจจะต้องบรรจุคำว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเอาไว้ เพราะ
ข้อที่ 1.ผมเชื่อเลยว่า ถ้าบรรจุคำนี้เอาไว้ในร่าง รธน.ฉบับใหม่ แม้ประเด็นอื่นมันจะขี้เหร่ยังไง ร่าง รธน.ฉบับนี้ผ่านประชามติแน่นอน
2.ถ้าหากบรรจุเอาไว้ แล้วร่าง รธน.ฉบับนี้ผ่าน ในทางการเมืองถือว่า ฝ่ายตรงข้าม คมช.ก็จะต้องเสียรังวัดตรงนี้ไป เพราะ คมช.กับสภาร่าง รธน.เอาด้วยกับพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะสงฆ์ คณะสงฆ์นี่หมายถึงมหาเถรสมาคมนะ มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรใหญ่สุด เป็นองค์กรที่ถือว่าเป็นแกนของคณะสงฆ์ และเป็นแกนของพุทธศาสนิกชนด้วย

เพราะฉะนั้นการที่จะร่าง รธน.ทั้งฉบับ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อเป็นการตอบสนองความรู้สึกหรือความต้องการของคณะสงฆ์ รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ผมว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว มันอาจจะเป็นแต้มต่อทางการเมืองด้วยซ้ำไป มันจะทำให้ คมช.กับรัฐบาลปัจจุบันซึ่งเป็นฝ่ายต้องตั้งรับและดูจะเพลี่ยงพล้ำมาตลอด จะกลายเป็นฝ่ายรุกไป”

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ Online"


ไปข้างบน