อย่ามุ่งหวังแค่ตัวอักษรพุทธศาสนา-ประจำชาติ
พระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ นำทีมคณะสงฆ์ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ปธ.กมธ.ยกร่าง รธน.เมื่อ 17 เม.ย.
มีเรื่องให้ลุ้นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกคว่ำจากการลงประชามติหรือไม่ หลายประเด็นนะครับ
ตอนนี้มีประเด็น "ศาสนา" เพิ่มเข้ามาอีก แวดวงคนที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องและคนคัดค้านก็มีอย่างกว้างขวางแน่
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ซึ่งถูกยกเลิกไปนั้นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาระบุไว้ในมาตรา 9 ว่า
"พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครนูปถัมภก"
เป็นการยืนยันว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธศาสนิกชนและทรงอุปถัมภ์ศานาต่างๆ
แต่ที่มีกลุ่มชาวพุทธรวมทั้งพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเริ่มเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องให้มีการบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยข้อความว่า
"พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"
นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อธิบายเหตุผลในการเรียกร้องให้ระบุข้อความดังกล่าวว่า
"เป็นการรับรองความมั่นคงของพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระมหากษัตริย์และประชาชนในการประกอบกันเป็นประเทศไทยมาช้านาน โดยมิได้รังเกียจผู้นับถือศาสนาอื่นและยังมิได้เป็นการแสดงความคับแคบแต่อย่างใด"
เมื่อครั้งที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.ชุดที่แล้วมิได้ระบุเรื่อง "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"มีการอธิบายว่า
การที่ยืนยันด้วยการเป็นพุทธมามกะแต่ก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ก็เป็นสัญญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นศาสนาประจำชาติแต่ก็ส่งเสริมทุกศาสนา
การไม่ระบุเน้นพระพุทธศาสนาก็เพราะไม่อยากถูกมองว่าไปข่มศาสนาอื่น
แต่มีถึงตอนนี้ได้ถูกจุดให้เป็นประเด็นเรียกร้องและผมเชื่อว่าการชักชวนปลุกระดมให้ทั้งพระและฆราวาสสนับสนุนใช้เรียกร้องนั้นมีโอกาสคล้อยตามค่อนข้างมาก
เหตุผลง่ายๆก็คือในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาจึงน่าจะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
มีคนถามผมว่ามีความเห็นอย่างไร
ผมบอกว่าถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วมามิได้ระบุเช่นนั้นแต่ในความเป็นจริงก็เป็นที่ยอมรับว่าพระพุทธศาสนาเป็นศานาประจำชาติคนไทยส่วนใหญ่
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นวันหยุดราชการและมีพิธีกรรมและการบำเพ็ญกุศลตามประเพณีของวงการพระพุทธศาสนาเป็นหลักมีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญของรัฐบาลร่วมในพิธีเสมอ
ผมจึงเห็นว่าถ้า สสร.ชุดปัจจุบันจะหาเรื่องและแลกเปลี่ยนความเห็นจนได้ข้อยุติ
หากถูกดดันให้ต้องระบุข้อความว่า "พระพุทธศานาเป็นศาสนนาประจำชาติ"ผมก็ไม่ขัดข้องเพราะความจริงเป็นอยู่แล้ว
แต่ขออย่าให้เป็นเพียงความภูมิใจในตัว "อักษร"
พลังเครือข่ายที่เคลื่อนไหวน่าจะต้องรณรงค์ส่งเสริมให้สร้างกฎระเบียบและวัฒนธรรมทางความคิดและวิถีปฏิบัติให้สมกับที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธคือยึดมั่น "คุณธรรม"
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"
|