ผ่าอาณาจักรพุทธพาณิชย์แสนล้าน ยุค “จตุคามรามเทพ” ครองเมือง!
วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ รุ่นรวยทันใจ
เจาะลึกเบื้องหลังกระแสจตุคามฯ ฟีเวอร์สะท้อนภาพ “พุทธพาณิชย์” ฉ้อฉลกันตั้งแต่ทีมสร้าง แอบอ้างวัด-โรงเรียน สร้างแรงจูงใจหวังคว้าเงินเป็นกอบเป็นกำโดยไม่สนใจนรก-สวรรค์ ใช้หลักการตลาดนำศรัทธา เน้นมวลสารเด่น-พิธีดี-วัตถุประสงค์ชัด เลือกทำพิธีเป็นแพกเก็จสำเร็จรูป สรุปใน 200 รุ่นทุ่มทุนสร้างไม่กี่ล้านบาทแต่สร้างมูลค่าเพิ่มนับหมื่นล้านบาท ผนวกวงจรปลอม-ปั่นผ่านงบพีอาร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมแล้วเม็ดเงินสะพัดในกระแสนับแสนล้านบาท
ด้วยผลประโยชน์มหาศาลจึงเกิดขบวนการผูกขาดสร้างและ 'สกัดดาวรุ่ง' ด้วยกลเม็ดล้ำลึกพิสดาร ขณะอีกด้านคือการเฟื่องฟูของคนระดับรากหญ้าคล้ายยุคอสังหาฯ บูม ต่าง 'เก็งกำไร' วัตถุมงคลที่ราคาวิ่งขึ้นลงเช้าเย็นเช่นวอแรนต์หุ้น จนเกิดอาชีพ 'คนเดินพระ' กินกำไรกันเป็นทอดๆ ศูนย์เช่าพระเบ่งบาน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเริงร่าจนเรียกได้ว่า 'มหกรรมสมประโยชน์' กันทุกฝ่าย
นับตั้งแต่เกิด 'ศึกสวรรค์' ฟ้องร้องกันชั้นศาลเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์รูปแบบของวัตถุมงคล 'จตุคามรามเทพ' โดยอ้างหลักฐานทาง 'จิตวิญญาณ' มาหักล้างกัน จนเรื่องราวยุติลงไป จากนั้นมากลุ่มผู้สร้างจตุคามฯ มีการแตกกันเป็นหลายขั้วหลากค่าย ต่างทะยอยสร้างวัตถุมงคลรุ่นใหม่ๆ ป้อนสู่ 'ตลาด' กระทั่งกอบโกยรายได้กันเป็นกอบเป็นกำทั้งผู้สร้าง-ผู้เช่า เพราะวัตถุมงคลที่สร้างหมดลงอย่างรวดเร็ว และราคาในตลาดพระพุ่งทะยานลิ่วเป็นสิบ เป็นร้อย หรือเป็นพันเท่า
กระแสการสร้างจตุคามฯ จึงเบ่งบานยิ่งภายใต้ความงงงวยของสังคม !!
มีสถิติที่แน่ชัดจากศูนย์เช่าพระ พบว่า เฉพาะปี 2549 ปีเดียว มีการสร้างวัตถุมงคงองค์จตุคามรามเทพออกมา 100 กว่ารุ่น
หลวงหนุ่ย กำลังประกอบพิธีกรรมปลุกเสกจตุคามฯ รุ่นสมบัติจักรพรรดิ
ปี 2550 ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน มีจำนวนประมาณ 50 รุ่น และถึงสิ้นปี 2550 คาดว่าจะมีวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ไหลหลั่งเข้าสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 200 รุ่นเป็นแน่แท้
“นครศรีธรรมราช” กลายเป็นเมืองแห่งมหกรรมจตุคามรามเทพ ทุกๆ 10 นาทีจะมีรถแห่โฆษณาการจัดสร้างจตุคามรามเทพของแต่ละค่าย ทุกถนนซอกซอยล้วนมีแผ่นป้ายโฆษณาจตุคามรามเทพ บรรดาร้านรวงแปลงตัวเองมาเป็นศูนย์หรือแผงเช่าพระรวมแล้วนับพันแห่ง ผู้คนในหลากหลายสาขาอาชีพต่างมุ่งตนมาเป็นพ่อค้าจตุคามฯ
ที่ร้านน้ำชากาแฟ ร้านอาหาร หัวข้อการพูดคุยล้วนแล้วแต่วนเวียนอยู่แต่เรื่องจตุคามฯ ราคาเช่าจตุคามรามเทพพุ่งทะยาน ศูนย์พระใหญ่ๆ เปิดใหม่มีมากมาย ขณะที่สถานที่เกี่ยวข้องกับองค์จตุคามรามเทพ ไม่ว่าจะเป็นวัดพระบรมธาตุ ศาลหลักเมือง หรือวัดนางพระยา มีผู้คนไปเยี่ยมสักการะอย่างล้นหลาม ทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องคึกคักไปด้วย ทั้งสายการบิน รถทัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ
ไม่เพียงเท่านั้น ปริมณฑลของความนิยมในองค์จตุคามฯ ยังไหล่บ่าจากนครฯ สู่จังหวัดรอบข้างและห่างไกลออกไป กระทั่งไปไกลถึงต่างประเทศ ถึงวันนี้วัดไหนไม่สร้างจตุคามฯ อาจนับว่า 'เชย' ก้าวไม่ทันยุค เพราะถือว่าเป็นช่องทางที่จะหาเงิน 'เข้าวัด' ได้ดีที่สุดและเร็วที่สุด
เกิดอะไรขึ้นกับวงการพระเครื่อง ใครเป็นคนจุดประเด็นกระแสจตุคามฟีเวอร์กันแน่ และมูลค่าที่แท้จริงของยอดเงินที่สะพัดอยู่ในตลาดอยู่ในมือใคร??
ชำแหละเส้นทาง 'มหาเศรษฐี'
กล่าวกันว่ากระแสจตุคามฟีเวอร์ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน
ประการแรก เกิดกรณีราหูอมจันทร์ในปี 2538 รวมถึงดาวหางฮัลเลย์ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นลางไม่ดี ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งพากันหาของไปเซ่นไหว้ราหู ดวงตราพญาราหูในวัตถุมงคลจตุคามรามเทพจึงมีค่าขึ้นโดยพลัน เมื่อมีผู้ไปเช่าบูชามาเก็บไว้และพูดกันปากต่อปากถึงพุทธคุณที่เกิดขึ้น
ประการที่สอง ว่ากันว่าเกิดกรณีปั่นราคาเนื่องจากมีเซียนพระบางคนอุ้มพระไว้จำนวนมาก จึงปั่นราคาผ่านนิตยสารพระเครื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าพระ
ประการที่สาม มีผู้พานพบประสบการณ์ในปาฏิหาริย์อันเหลือเชื่อ ทำให้รอดชีวิตหรือพลิกฐานะจนร่ำรวย โดยเฉพาะจากเซียนพระต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งทุ่มทุนมาเช่าซื้อเป็นว่าเล่น
หรือทั้งหลายทั้งปวงคือการสะท้อนความ 'เปราะบาง' ในอารมณ์ของผู้คนในสังคมที่ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยว ค้ำยัน และสร้างเส้นทางร่ำรวย 'ทางลัด' ในสังคมที่ต่างคนต่างดิ้นรนเอาตัวรอด
เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้ผู้สร้างเห็นช่องทางในการ 'สร้างบุญ' หรือ 'สร้างเงิน' ในกรอบมาตรฐานที่หมิ่นเหม่เชิงจริยธรรม ประเภทไม่สนใจนรกหรือสวรรค์ ขอเพียงประการเดียวคือ 'ขอรุ่นกู- รวย'
ขบวนการสร้างวัตถุมงคลสบช่องจึงเริ่มก่อการ!!
วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ รุ่นรวยทันใจ
ก่อการด้วยลักษณ์ที่เหล่าศาสนิกชนรับทราบแล้วต้องตะลึงในความเพียรพยายามของเซียนพระหรือนายทุน “เริ่มแรกจะมีการชักชวนพระวัดต่างๆ หรือสถาบันการศึกษาบางแห่ง สร้างวัตถุมงคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่ใช่คนนครฯ โดยให้เหตุผลว่าจะนำเงินไปช่วยการกุศล หรือบริจาคให้วัด โรงเรียน หรือองค์กรกุศลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ผู้ที่ถูกชักชวนพาซื่อมองเห็นเงินก้อนโตที่จะได้โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลยก็รีบตอบรับด้วยความดีใจ ที่แท้ไม่รู้หรอกว่าโดนหลอก เพราะตัวเองได้รับเงินบริจาคเพียงไม่กี่ล้าน แต่คนแอบอ้างชื่อไปสร้างรวยกันเป็นสิบเป็นร้อยล้านบาท” ผู้เฝ้าติดตามกระแสจตุคามฯ อย่างใกล้ชิดในเมืองนครให้ความเห็น
ต่อมาเมื่อกระแสจตุคามฯ เป็นที่นิยมกันมาก คนนครฯ เองเริ่มหันกลับมามองว่า ในวงการนักสร้างมีแต่คนนอกพื้นที่เข้ามาอาศัยชื่อเสียงของจตุคามฯ แล้วกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง โดยเป็นคนหน้าเดิมๆ แต่ไปอาศัยสถานที่ใหม่ๆ เป็นจุดขาย หรือสร้างวัตถุประสงค์ใหม่ๆ แปลกๆ ในการจัดสร้างเพื่อดึงให้คนสนใจ จึงเริ่มมีคนในพื้นที่ทำตัวเป็น 'เจ้ามือ' ในการจัดสร้างวัตถุมงคลเอง ครอบคลุมทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น พระสงฆ์ เจ้าของศูนย์พระ ฯลฯ
สำหรับในขั้นตอนของการจัดสร้าง เมื่อมีการเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์กันเสร็จสรรพในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องเป็นที่ลงตัวแล้ว ทีมสร้างก็จัดการดำเนินการในขั้นตอนการออกแบบ หามวลสาร หาโรงงานปั๊มพระ วางแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์ กำหนดวันด้านพิธีกรรม ฯลฯ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุนต่อรายแตกต่างกันไปมากน้อยแล้วแต่ 'ความยิ่งใหญ่' หรือการทุ่มทุนในการจัดสร้าง
ตัวเลขที่ประมาณการไว้คร่าวๆ เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิตหาคนออกแบบและแกะบล็อกแม่พิมพ์ทั้งเนื้อผง และเนื้อโลหะสำหรับปั๊มวัตถุมงคล มีตั้งแต่ไม่กี่พันบาทจนถึงหลักหมื่น แล้วแต่ฝีมือของช่างว่าจะประณีตเพียงใด ค่าเนื้อพระทุกขนาดรวมค่าแรงไม่กี่บาท หรือไม่เกิน 10 บาท โดยโรงงานจะจัดหาเตรียมพร้อมไว้ให้ ทางผู้สร้างเพียงนำมวลสารบางส่วนที่โฆษณาไว้มาผสมเพื่อให้เป็นไปตามสัญญากับมหาชนตามใบโฆษณา ค่ากล่องใส่พระ 10-20 บาท
สำหรับกระบวนการจัดพิธีปลุกเสกซึ่งเป็น 'หัวใจ' ของการสร้างพระ จะมีรายจ่ายประมาณ 200,000-500,000บาท โดยแบ่งเป็นค่าพิธีพราหมณ์ครั้งละ 15,000-50,000 บาท ถวายพระเกจิอาจารย์ที่ทำพิธีปลุกเสกองค์ละ 5,000-10,000 บาท ถวายพระสวดเจริญพระพุทธมนต์องค์ละ 2,500-5,000 บาท ค่าบำรุงสถานที่วัดพระบรมธาตุ ครั้งละ 20,000-50,000 บาท ศาลหลักเมือง 20,000-50,000 บาท รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่น ค่าเครื่องเสียง เต็นท์ การแสดง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสการสร้างที่มีอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน จึงได้เกิดขบวนการจัดการแบบลัดขั้นตอนยุ่งยากขึ้น โดยมีการจัดเป็นแพกเกจในเรื่องพิธีการ มี 'ผู้รับเหมา' บริหารจัดการให้ในแทบทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการนิมนต์เกจิ หรือการเตรียมการเรื่องเครื่องบวงสรวง ริ้วธงในพิธี ฯลฯ
ด้วยมูลค่าการลงทุนที่สูงสำหรับนักลงทุนรายใหม่ๆ ที่หวังรวยทางลัด บางรายเพื่อการประหยัดถึงกับแอบอ้างภาพพิธีปลุกเสกของรุ่นอื่นมาตีพิมพ์ในโบรชัวร์ หรือไม่ก็แอบเอาพระ 'พ่วง' เข้าไปในระหว่างพิธีของรุ่นอื่น หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือการตั้งแก๊งปั๊ม 'พระปลอม' โดยอิงกับกระแสความนิยมของมวลมหาชนว่าสนใจรุ่นใดบ้าง
“พิจารณาจากต้นทุนแล้วจึงจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนในการลงทุนมีค่ามากเป็นทบเท่าทวีคูณ เพราะลงทุนสร้างแต่ละรุ่นอยู่ในหลักแสนบาท หรืออย่างมากก็ล้านต้นๆ แต่ผลตอบแทนกลับมาเป็นสิบเป็นร้อยล้านบาท เมื่อหักลบกลบหนี้ค่าบริจาค ค่าลงทุนปั๊มพระ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำให้เหลือเงินอยู่ในมือบานเบอะ ส่วนแก๊งปลอมพระนั้นไม่ต้องพูดถึง เพียงเอาปูนมาผสมๆ กันแล้วปั๊มเป็นพระนำเข้าสู่ตลาดพระก็กลายเป็นดินที่มีมูลค่าแพงที่สุดในโลกไปได้”
นี่ยังไม่รวมถึง 'จำนวนการสร้าง' ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจน หรือแม้นจะเปิดเผยแต่ก็มีการซ่อนตัวเลขไว้อีกมากมาย รอจน 'มูลค่าเพิ่ม' ในวัตถุมงคลพุ่งกระฉูดพระล็อตใหม่จึงจะถูกลำเลียงเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง หรือหากมีการ 'อุ้มพระ' ที่สร้างไว้เองส่วนหนึ่ง เช่นที่ศูนย์เช่าพระมักกระทำกันเพื่อเล็งเห็นว่ารุ่นไหนราคามีแนวโน้มว่าจะ 'เดิน' ก็มีอีกหลายๆ กระบวนการที่ต้องอีดฉีดให้เกิดกระแสนิยม
วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ รุ่นรวยทันใจ
ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล
ว่ากันว่าสูตรสำเร็จในการทำพระจตุคามรามเทพเพื่อให้ดีและดังเป็นพลุแตก จะต้องมีวัตุถุประสงค์ในการจัดสร้างชัดเจน วัตถุมงคลที่สร้างต้องมีหมายเลขกำกับป้องกันการทำเพิ่มหรือกันพระปลอม ส่วนพิธีต้องปลุกเสกในวัดพระธาตุ และศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช และต้องบวงสรวงโดยพราหมณ์ ณ วิหารม้า อันเป็นที่ประดิษฐานจตุคามรามเทพองค์ต้นแบบ
แต่ยังมีเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง นั่นก็คือเรื่องของการ 'ประชาสัมพันธ์' ซึ่งมีตั้งแต่รถแห่ในเมืองนคร คิดอัตราวันละ 700 บาท ซึ่งทุกวันนี้มีรถแห่รวมกันแล้วเป็นร้อยคน มีการทำสปอร์ตโฆษณาทางวิทยุ ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแถมด้วยการ 'พูดเชียร์' ของนักจัดรายการ
ส่วนการโฆษณาส่วนกลาง โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บางฉบับ หรือวงการนิตยสารพระเครื่องต่างเสนอราคาโฆษณาในลักษณะลด แลก แจก แถม และยังมี 'ข้อเสนอพิเศษ' เช่น เขียนข่าวเชียร์ ลงสกู๊ปข่าว ตีพิมพ์ภาพปาฏิหาริย์ ฯลฯ ทำให้เรียกได้ว่าเงินส่วนนี้สะพัดมากกว่าการสร้างพระเสียอีก
เพราะการสร้างพระรุ่นหนึ่งต้องมีการวางงบโฆษณาไว้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินรายได้ทั้งหมดจากการให้เช่าพระ ซึ่งหากวงเงินที่ได้ถึง 100 ล้านบาท ย่อมหมายถึงมีงบโฆษณา 20-30 ล้านบาทที่ถูกโปรยปรายสู่ตลาด จึงไม่แปลกอันใดที่จะเห็น Ad
โฆษณาให้เช่าจตุคามฯ ลงโฆษณาเต็มหน้าสี่สี เต็มหน้าคู่ ครึ่งหน้าสี่สี หรือเป็นกรอบเล็กๆ อย่างต่อเนื่อง
เซียนพระรายหนึ่งให้ความเห็นว่า เป็นที่รู้กันว่าพวกนายทุนหรือเซียนพระบางรายจ้างนักข่าวบางสำนักกระพือข่าวลงในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ทั้งในรูปข่าว สกู๊ปข่าว หรือภาพกิจกรรม
“บางรายถึงขั้นออกหนังสือโฆษณารุ่นที่ตัวเองสร้าง หรือบางคนเมื่อโฆษณาไปแล้ว พบว่ามีคู่แข่ง ก็ต้องใช้เกมวางยา สกัดดาวรุ่ง เช่นเกิดกรณีของการปล่อยข่าวพระไม่ผ่านพิธีปลุกเสก พระไม่ได้มาตรฐาน พระเปียก หรือถึงขั้นมีการบล็อกโรงงานผลิต ใช้เงินฟาดหัวแซงร้านทำกรอบ เพื่อให้คู่แข่งสะดุดไม่สามารถปล่อยพระออกได้ตามสัญญา รวมถึงการอาศัยศูนย์พระเดินเกมเชียร์รุ่นตัวเอง ทำลายคู่แข่ง”
ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว 'คนเดินพระ' รายใหญ่ที่ตัดล็อตจำนวนการเช่ามาจากผู้สร้าง จะได้เปอร์เซ็นต์จากยอดจองประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ คนเดินพระนำไปให้ศูนย์พระ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ตัวเองได้เพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์
ศูนย์พระเหล่านี้จะมีผลอย่างยิ่งต่อตลาดพระ เพราะเพียงแต่เอ่ยปากเชียร์รุ่นใด รุ่นนั้นดังแน่ และโดยเฉพาะถ้าวัตถุมงคลรุ่นนั้นมีส่วนผสมครบสูตรในเรื่องมวลสาร รูปแบบ เกจิ เจ้าของศูนย์พระจะ 'อุ้ม' พระไว้เอง ยอมจองพระเก็บเป็นสต๊อกไว้ ถึงเวลาพระเสร็จก็ย่อมเชียร์กันสุดใจขาดดิ้น
วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ
เปิดแผนลงทุนสุดพิสดาร!!
ทุกวันนี้แม้จะมีการวัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องทุกวัน แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของประชาชน จนต้องมีการสั่งจองกันล่วงหน้าและมีการปลอมใบจองกันเกิดขึ้น ดังเช่นกรณีรุ่นสรงน้ำพระบรมธาตุ 50 ของวัดพระนคร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ที่มีคนพิมพ์ใบจองแอบอ้างชื่อว่าวัดเป็นผู้รับจอง พร้อมกับเก็บเงินค่าจองไปได้เป็นจำนวนมาก โดยทางวัดไม่ทราบเรื่องมาก่อน หรือกรณีการแห่จองรุ่นเงินไหลมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิต
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้ศรัทธาต้องการหาเช่ามาบูชาจริง ส่วนหนึ่งเช่าเก็บไว้เพื่อไม่ให้ตกกระแส แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นพวก 'นักเก็งกำไร' ที่กระโดดเข้าสู่วงการเหมือนเช่นที่เคยกับวงการอสังหาฯ ในยุคก่อนฟองสบู่แตก
เซียนพระอาวุโสให้ข้อคิดเตือนสติไว้ว่า ถ้าริจะเล่นวัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นที่ออกมาใหม่ๆ ต้องฉลาดและทันต่อสถานการณ์ เหมือนคน 'เล่นหุ้น' พอได้จังหวะต้องรีบปล่อยออกเอากำไรไว้ก่อน อย่าโลภมากกักไว้นานเพื่อหวังกำไรมากๆ เพราะเมื่อหมดความนิยมราคาอาจจะร่วงได้โดยทันที เพราะของใหม่มักดังได้การวางหมาก 'โฆษณา'
พอของหมด เสียงโฆษณาอ่อนลง และหยุดนิ่ง ราคาก็พลอยตกเป็นเงาตามตัว !
มหกรรมการทุ่มงบประชาสัมพันธ์ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจังหวะและเวลา โดยเฉพาะในช่วงใกล้กำหนดทำพิธีพุทธาภิเษก-เทวาภิเษกจึงต้องจับตาให้ดี เพราะอาจแฝงนัยสำคัญอะไรไว้มากมาย
เมื่อใบจองซึ่งต้องจ่ายกันด้วยเงินสดกัน 100 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่าพุ่งกว่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการซื้อขายทำกำไรยิ่งกว่าหุ้นดังตอนเข้าตลาดใหม่ๆ กลายเป็นธุรกิจเก็งกำไรกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์
“พิเคราะห์ในเชิงการลงทุนแล้ว นี่คือช่องทางทำกำไรที่ดีที่สุดของยุค ลองคิดดูก็ได้ว่า จะไปเก็งกำไรทอง หุ้น หรือซื้อสินทรัพย์อะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงและต้องใช้เวลา แต่สำหรับการเก็งกำไรจตุคามรามเทพ เพียงคุณวางเงินตามใบจองแล้วก้าวออกจากร้าน ราคาก็พุ่งขึ้นเท่าตัวแล้ว” เซียนในวงการให้ความเห็น
ดังนั้นแล้วสำหรับผู้เช่าจึงต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม ดังเช่นสูตรสำเร็จที่รู้กันในวงการคือ การแบ่งจำนวนจตุคามฯ ที่เช่าเก็บไว้เป็น 3ส่วน
ส่วนแรกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เอาไว้ปล่อยตอนวัตถุมงคลเสร็จแล้ว ซึ่งปกติราคาจะพุ่งขึ้นประมาณ 2-3 เท่าจากราคาจองในประมาณสัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สอง ทำให้สามารถคืนทุนและมีกำไรบ้าง ล็อตที่ 2 อีกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ คือระยะที่วัตถุมงคลพุ่งขึ้นสูงสุด นี่คือกำไรล้วนๆ ที่สามารถจะนำไปต่อทุนในการเช่าวัตถุมงคลรุ่นอื่นๆ ได้ต่อไป
ส่วนล็อตที่ 3 ซึ่งเป็นล็อตสุดท้าย ให้เก็บไว้แบบลืมเลย เพื่อเก็งกำไรในอนาคต ดังเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในรุ่นแรกปี 30 ที่ราคาพุ่งทะยานอย่างยั้งไม่อยู่
ส่วนผู้สร้างเอง มีส่วนหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้วก็เก็บพระที่ตัวเองสร้างเอาไว้เพื่อรออนาคต แต่มีบ้างที่ใช้วิธีสร้างพระเพื่อแจกโดยประโคมข่าวกันใหญ่โต แต่ตัวเองตัดล็อตเก็บไว้ส่วนหนึ่งแล้ว พอกระแสขึ้นเมื่อไรก็รีบปล่อยเช่าแปลงเป็นเงินสดตุงกระเป๋าสบายใจ
ถึงเวลา ขาลง??
ด้วยกระแสนิยมในองค์จตุคามรามเทพ ทำให้ทุกวันนี้ผู้คนต่าง 'ตื่นกระแส' แย่งกันจองโดยไม่สนว่าจะเป็นใครสร้าง ทำให้ดีมานด์กับซัพพลายส์ยังแตกต่างกันมาก ขณะที่ราคาเช่าก็พุ่งไม่หยุด
ปัญหาต่างๆ จึงเริ่มเกิดตามมา ไม่ว่าจะเป็นการปล้น ฆ่า ขโมย ชิงจตุคามฯ ส่วนการสร้างหรือแจกวัตถุมงคลก็เกิดปัญหาอย่างหนัก หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องหาวิธีการควบคุมมิให้เกิดปัญหา ถึงขั้นจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการตั้งกฏระเบียบในการควบคุมดูแลการจัดสร้างในรูปของคำสั่งจังหวัด โดยกำหนดกฎเหล็กไว้ 6 ข้อ ครอบคลุมทั้งขั้นตอนจัดตั้งคณะกรรมการ จัดสร้าง การใช้สถานที่ ฯลฯ หรือถึงขั้นมีการออกมาให้ข่าวว่าต่อไปจะมีการจำกัดจำนวนการสร้าง ซึ่งก็ไม่แน่นักว่าจะหยุดกระแสจตุคามฯ ฟีเวอร์ได้หรือไม่
เพราะทุกวันนี้ เมื่อความต้องการของคนเช่ายังมีมาก ความโลภของผู้คนยังมีอยู่ ทุกธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังเฟื่องฟู
ไม่แน่นักว่า กระแสจตุคามฯ ฟีเวอร์ จะหยุดลงได้เมื่อไร??
**************
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"
|