หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

เที่ยวเมืองคอน ตามรอยจตุคามรามเทพ


พระบรมมหาธาตุเจดีย์ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองนครฯ

ณ เวลานี้ หากพูดถึงปรากฏการณ์ฮอตฮิตสุดฟีเวอร์ คงจะไม่มีปรากฏการณ์ไหนโดดเด่นเทียบเท่ากับ “ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ” ที่โด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองไทย

สำหรับจังหวัดที่เป็นต้นกำเนิดจตุคามรามเทพอย่างนครศรีธรรมราช ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางสู่เมืองคอนกันไม่ขาดสาย ก่อให้เกิดเงินสะพัดหลายพันล้านบาท

วิโชค อ้างมณี ผอ.ททท.สำนักงานภาคใต้ เขต 4 บอกกับ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ว่า คนส่วนใหญ่ที่มาเมืองคอนในช่วงนี้ต่างก็มุ่งเน้นไปในเรื่องของ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ การเช่าจอง และการปลุกเสก โดยละเลยที่จะมององค์จตุคามรามเทพในมิติของประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และการประพฤติตนเป็นคนดีตามวิถีทางแห่งพุทธศาสนา ซึ่งจะว่าไปแล้วถือว่ามีอยู่พร้อมสรรพในเรื่องราวขององค์จตุคามรามเทพ

หลังคุณวิโชคให้ไอเดียผนวกกับกระแสความแรงขององค์จตุคามฯ ทริปนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จึงไม่รีรอเดินทางล่องใต้ มุ่งสู่เมืองคอน เพื่อไปตะลอนทัวร์ “ตามรอยท้าวจตุคามรามเทพ” ในทันที


รูปเคารพจตุคามรามเทพที่วัดนางพระยา



วัดนางพระยา

ณ วันนี้ ความเป็นมาของจตุคามรามเทพยังไม่แน่ชัด มีหลายที่มาที่ไปและแตกเป็นหลายตำนาน แต่หากประมวลแล้วแบ่งเป็น 3 กระแสหลักคือ

จตุคามรามเทพ คือ“พระเจ้าจันทรภาณุ” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ผู้สถาปนาอาณาจักรศรีวิชัย ที่ได้รับสมญาหลังเป็นกษัตริย์ว่า“ราชันดำแห่งทะเลใต้” และ “พญาพังพกาฬ”

จตุคามรามเทพ คือ“เจ้าชายรามเทพ” ผู้สำเร็จวิชาจตุคามศาสตร์ผู้เลื่อมใสในพุทธมหายาน พระโอรสของนางพญาจันทรา ราชินีผู้สูงศักดิ์ขององค์ราชันราตะหรือพระสุริยเทพ

จตุคามรามเทพ เป็นเทพ 2 องค์ คือ“ท้าวจตุคามกับท้าวรามเทพ” ซึ่งเป็นโอรส 2 พี่น้อง ของ พระเจ้าจันทรภาณุ นาม ขุนอินทรไศเลนทร์ และขุนอินทรเขาเขียว ที่ภายหลังสิ้นพระชนม์ ประชาราษฎร์ต่างยกย่องให้เป็นเสื้อเมืองและทรงเมือง มีฐานะเป็นเทวดาประจำเมือง

แม้ตำนานของจตุคามรามเทพในอดีตยังไม่ชัดเจนว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่ว่าต่างก็เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราชทั้งสิ้น โดยชื่อเมืองนครศรีธรรมราชนั้น สันนิษฐานว่านามนี้มาจากพระนามของ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” กษัตริย์ผู้ครองนครในอดีต ที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า“องค์จตุคามรามเทพ”เป็นหนึ่งในกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ปกครองนครในอดีตนั่นเอง

สำหรับตำนานการกำเนิด(อีกครั้ง)ของจตุคามรามเทพในปัจจุบันแทบทั้งหมดระบุตรงกันว่า เริ่มต้นขึ้นที่วัดนางพระยา ริมแม่น้ำปากนคร ต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช วัดแห่งนี้ เป็นวัดที่พระยานครน้อย เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในอดีตได้สร้างให้กับมารดาของตน(พระนางจันทรา)

ในปี พ.ศ. 2528 วัดนางพระยาที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมได้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เมื่อองค์จตุรามคามเทพได้มีการประทับทรงผ่านร่างของโกผ่อง (อะผ่อง สกุลอมร) เพื่อบอกผ่านไปยัง พ.ต.อ.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ที่เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งผู้กำกับเมืองนครว่า ให้ทำการก่อสร้างหลักเมืองนครฯใหม่ขึ้น เพราะนายตำรวจฝีมือดีผู้นี้เป็นผู้มีบุญบารมีต้องดวงชะตากับดวงเมืองนครฯ(ก่อนหน้าที่องค์จตุคามจะประทับร่างทรงโกผ่องได้เกิดเหตุการณ์เจ้าแม่นางพญาและพญาชิงชัยประทับร่างทรงก่อน)


รูปเคารพเจ้าแม่นางพระยาองค์ดั้งเดิม(องค์หน้า)และองค์สร้างใหม่(องค์หลัง)ที่วัดนางพระยา



พร้อมกันนั้นองค์จตุคามฯได้นำพ.ต.อ.สรรเพชญ ให้ไปพบกับ “ไอ้หนวดยาว” (ตามคำเรียกขานของร่างทรง) หรือ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เพื่อร่วมกันสร้างหลักเมืองใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2530 แต่ว่าก่อนที่จะไปตามรอยจตุคามฯ ณ จุดต่อไปที่ศาลหลักเมืองนครฯ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ขอใช้เวลาเดินซอกแซกชมสิ่งที่น่าสนใจในวัดนางพระยาแห่งนี้เสียหน่อย

จุดแรกเราขอเริ่มที่ศาลนางพระยา อันเป็นที่ประดิษฐานของ(รูปเคารพ)เจ้าแม่นางพระยา ในนั้นมีรูปเคารพอยู่ 2 องค์ คือองค์ใหญ่เป็นองค์ที่สร้างขึ้นใหม่ และองค์เล็กที่มีคนปิดทองทั่วทั้งองค์นั้นเป็นองค์ดั้งเดิมอายุหลายร้อยปี

เจ้าอาวาสวัดนางพระยาเล่าให้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ฟังว่า เจ้าแม่นางพระยา เป็นเทพชั้นสูงเปี่ยมด้วยมีคุณธรรมและความเมตตา ชาวบ้านเมื่อสัญจรไป-มาผ่านวัดนางพญาต่างก็จะยกมือไหว้ทุกครั้งไป ส่วนใครที่อยากลองของลบหลู่ก็จะปรากฏจระเข้ตัวใหญ่โผล่มาจากน้ำเป็นที่น่าหวาดหวั่นพรั่นพรึง

นอกจากเจ้าแม่นางพระยาแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีรูปเคารพของท้าวจตุคามฯองค์โตและเสาหลักเมืองนครฯจำลองเอาไว้ให้ผู้คนสักการะบูชา และที่ขาดไม่ได้ก็คือวัตถุมงคลจตุคามฯหลากหลายรุ่นที่ทางวัดจัดทำไว้ให้ผู้ศรัทธาเช่าไปสักการะบูชา ส่งผลให้วัดนางพระยาจากเดิมที่ค่อนข้างทรุดโทรม พลิกฟื้นกลับมาเป็นวัดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีอีกวัดหนึ่ง โดยเราสังเกตจากสิ่งก่อสร้างใหม่ๆทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ จนหลายๆคนบอกว่านี่คือหนึ่งในปาฏิหาริย์ของจตุคามรามเทพ


ศาลหลักเมืองแต่ละวันแทบไม่เคยเว้นว่างจากการทำพิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพ

ศาลหลักเมือง

หลังจากประเดิมทริปไปดูจุดกำเนิดขององค์จตุคามกันแล้ว ทีนี้เราก็ตามรอยองค์จตุคามฯต่อมายังศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช บริเวณสนามหน้าเมือง เพื่อสักการะองค์หลักเมืองอันเป็นที่อันเชิญองค์จตุคามฯให้มาสถิตเป็นเทพรักษาเมืองนครฯเพื่อความเป็นสิริมงคล

ศาลหลักเมืองนครฯ ถือเป็น 1 ใน 2 สถานที่สำคัญที่บรรดาเกจิเชื่อกันว่าถ้าองค์จตุคามฯได้ผ่านพิธีกรรมที่นี่ก็จะสร้างความเข้มแข็งศักดิ์สิทธิ์ให้กับวัตถุมงคลมากขึ้น ส่วนอีกหนึ่งสถานที่จะเป็นที่ใดนั้นเราขออุบไว้ก่อน

ศาลหลักเมืองนครฯแห่งนี้ดูสวยงามทั้งข้างนอกและข้างใน ด้านนอกประกอบไปด้วยอาคาร 5 หลัง มีอาคารประธานเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมือง ออกแบบเป็นทรงเหมราชลีลาในศิลปะศรีวิชัย มีอาคารเล็กทั้งสี่หลัง เป็นบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วยศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระพรหมเมือง และศาลพรบันดาลเมือง

ด้านในอาคารประธานเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองทำจากไม้ตะเคียนทอง มีการแกะสลักลวดลายต่างๆอย่างสวยงามไล่ตั้งแต่ส่วนฐานขึ้นไปเป็นวงรอบเก้าชั้น จำนวน 9 ลาย ส่วนยอดหลักเมือง แกะสลักเป็นรูปพรหมสี่หน้าใหญ่และเล็ก


พรหมสี่หน้า 2 ชั้นที่ยอดเสาหลักเมือง



ชาวนครต่างเชื่อกันว่าพรหมสี่หน้านี้ก็คือ องค์จตุคามรามเทพผู้ปกปักรักษาเมืองนครศรีธรรมราชนั่นเอง และไม่ว่าชาวนครจะอยู่ทิศไหนก็ต้องเกรงกลัวต่อการทำบาป เพราะเทวดาท่านมองเราอยู่ ส่วนเหนือสุดของเสาหลักเมืองเป็นเปลวเพลิงยอดพระเกตุที่เปรียบยอดหลักชัยของเมืองนคร

ในวันที่ 3 ส.ค. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมยอดหลักชัยเมืองนครฯ(พร้อมด้วยหลักเมืองชัยนาทและศรีสะเกษ) อันถือเป็นมหามงคลสูงสุดที่ยังความปลื้มปิติให้กับชาวนครเป็นอย่างมาก

เดิมนั้นศาลหลักเมืองนครฯก็เป็นดังวัดนางพระยาที่ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่ แต่พอเกิดปรากฏการณ์จตุคามฯขึ้นเท่านั้นแหละ ศาลหลักเมืองมีคนมาประกอบพิธีปลุกเสกองค์จตุคามฯกันเนืองแน่นแทบทุกวัน

ในวันที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ไปเยือนศาลหลักเมือง ก็เป็นช่วงที่กำลังมีพิธีบวงสรวงองค์จตุคามฯอยู่พอดี โดยคนเมืองคอนที่ไปร่วมพิธีบอกกับเราว่า ถ้าองค์จตุคามฯรุ่นไหนศักดิ์สิทธิ์มากๆ ตอนทำพิธีปลุกเสกมักจะมีปรากฏการณ์ประหลาดๆเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นพระอาทิตย์ทรงกลดหรือฝนตกลงมาทั้งที่แดดแผดจ้า ซึ่งวันที่เราไปดูเขาทำพิธีนั้น แม้ท้องฟ้าจะเป็นปกติแต่เท่าที่รู้มาจตุคามฯรุ่นนี้คนสั่งจองกันหมดแล้ว


วัดมหาธาตุ 1 ใน 2 สถานที่ที่วัตถุมงคลจตุคามฯหากได้มาปลุกเสกที่นี่ก็จะยิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

วัดมหาธาตุ

จากศาลหลักเมือง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ตามรอยองค์จตุคามฯต่อไปยังสถานที่สำคัญแห่งสุดท้าย นั่นก็คือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดมหาธาตุ ริมถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง ที่อยู่ไม่ไกลจากศาลหลักเมือง วัดแห่งนี้ถือเป็น 1 ใน 2 สถานที่สำคัญเช่นเดียวกับศาลหลักเมืองที่หากว่าวัตถุมงคลจตุคามได้มาผ่านพิธีปลุกเสกที่นี่ก็จะสร้างความขลังและศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

วัดมหาธาตุ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะแบบศรีวิชัย วัดแห่งนี้ดูโดดเด่นเปี่ยมศรัทธาไปด้วย พระบรมมหาธาตุเจดีย์ พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครฯอันยิ่งใหญ่ในแบบทรงลังกาหรือระฆังคว่ำ สูง 55.78 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง ยอดของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา 1 ศอก ส่วนรอบพระบรมมหาธาตุเจดีย์มีเจดีย์รายรอบถึง 158 องค์ทีเดียว


ท้าวจตุคาม-ท้าวรามเทพหน้าปากประตูทางขึ้นองค์พระธาตุ ผู้คอยปกปักรักษาพระธาตุเมืองนคร

สำหรับความสำคัญของวัดมหาธาตุที่เกี่ยวข้องกับองค์จตุคามฯก็คือ นี่คือสถานที่ที่มีรูปปั้นขององค์จตุคามรามเทพประดิษฐานอยู่ในวิหารทรงม้า บริเวณหน้าประตูบันไดทางขึ้นสู่องค์พระมหาธาตุเจดีย์ ที่แบ่งเป็น 2 องค์ด้วยกันคือ องค์ซ้าย(มองจากทางขึ้น)คือท้าวจตุคามที่หินจารึกเขียนว่า“เท้าขัตตุคาม”ส่วนองค์ขวาคือท้าวรามเทพหรือที่หินจารึกเขียนว่า“เท้ารามเทพ” ทั้ง 2 องค์ถือเป็นเทพผู้คอยปกปักรักษาองค์พระมหาธาตุเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเดิมนั้นดูเหมือนว่าเวลาคนไปสักการะองค์พระมหาธาตุเจดีย์จะไม่ค่อยสนใจเทพทั้งคู่เท่าไหร่ แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์จตุคามขึ้น เทพทั้ง 2 องค์ ก็มีผู้คนเดินทางไปสักการะบูชา ขอพร กันไม่ได้ขาด

นอกจากองค์จตุคามรามเทพในวิหารทรงม้าและพระมหาธาตุเจดีย์แล้ว วัดมหาธาตุยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ พระวิหารหลวง วิหารสามจอม พระระเบียงตีนธาตุ วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา และสิ่งน่าสนใจอื่นที่ต่างก็มากไปด้วยคุณค่าทางศิลปกรรมและทางประวัติศาสตร์ หากใครที่เดินทางไปสักการะองค์จตุคามรามเทพที่วัดมหาธาตุ ก็ไม่ควรผ่านเลยด้วยประการทั้งปวง


หลังเกิดปรากฏการณ์จตุคามฯผู้คนต่างก็หลั่งไหลมาสักการะรูปปั้นท้าวจตุคาม-ท้าวรามเทพกันไม่ได้ขาด

หลังเที่ยวในวัดมหาธาตุจนเพลินใจแล้ว ก่อนลาจากทริปตามรอยจตุคามรามเทพ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เข้าไปกราบลา พระราชธรรมสุธี ท่านเจ้าอาวาส และ เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งท่านก็ได้ให้คติเตือนใจฝากมาผู้บูชาองค์จตุคามรามเทพทั้งหลายว่า

“ใครที่มุ่งแต่ขอ มุ่งแต่บูชาองค์จตุคามฯอย่างขาดสติ โดยไม่หมั่นทำคุณงามความดี ไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ถือเป็นพวกที่ศรัทธาแต่ว่าไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะบูชาแค่ไหนแต่หากมีจิตมืดบอด ต่อให้แขวนจตุคามฯเต็มคอท่านก็คงช่วยอะไรไม่ได้”

สาธุ...

**************

ผู้สนใจท่องเที่ยวตามรอยจตุคามรามเทพ สามารถสอบถามรายละเอียดสถานที่ต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานภาคใต้เขต 2 โทร. 0-7534-6515-6

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"


ไปข้างบน