คุณครูคนใหม่สู้ชีวิต แม้ 'ไม่ครบห้า'
คุณครูคนใหม่กับลูกศิษย์
เอเอฟพี - แม้เกิดมาไม่มีแขนมีขา แต่ฮิโรทาดะ โอโตทาเกะ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนญี่ปุ่นและทั่วโลกเมื่อทศวรรษที่แล้ว ด้วยหนังสือติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ว่าด้วยความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้เพื่อเติมเต็มชีวิตที่ 'ไม่ครบห้า'
มาวันนี้เขาเริ่มต้นความท้าทายใหม่ในอาชีพครู เพื่ออบรมบ่มเพาะเยาวชนให้ยอมรับความแตกต่างในสังคม
"ความฝันของผมคือ สร้างโลกที่สงบสุข ถ้าความสามารถและบุคลิกลักษณะของผมสามารถนำผมเข้าใกล้จุดหมายนี้แม้เพียงก้าวเล็กๆ ผมคงมีความสุขมากและพบความหมายของการเกิดมาในโลก" เขาพูดพร้อมรอยยิ้มฉาบทอบนใบหน้า
โอโตทาเกะ วัย 31 ปี นักเขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกจากหนังสือ 'Nobody's Perfect' หรือ 'ไม่ครบห้า' ในภาคภาษาไทย ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อ 9 ปีก่อน เริ่มสอนหนังสือในโรงเรียนประถมซูกินามิ ไดยอน ในโตเกียว ประเดิมปีการศึกษาใหม่เมื่อต้นเดือนเมษายน
"นี่เป็นวันอันยิ่งใหญ่สำหรับครู" โอเตทาเกะประกาศต่อหน้านักเรียนที่ยืนเข้าแถวกันอยู่ในวันเปิดเทอมวันแรก "พวกเธอบางคนถามครูว่า จะสอนอย่างไร? ก็ทำไมจะไม่ได้ล่ะ พวกเธอต้องช่วยครู เช่น เขียนกระดานให้ หรือไม่ครูอาจใช้แก้มกับไหล่หนีบชอล์กเขียนเองก็ได้"
โอโตทาเกะ นักสู้ที่ไม่เคยยอมแพ้ต่อความพิการ
หลังเลิกแถว นักเรียนบางคนมารุมล้อมดูและลูบคลำไหล่และขาคุณครูคนใหม่ที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ล้อไฟฟ้า เพราะอยากรู้ว่าแขนขาพิกลพิการสองคู่นั้นเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ไหน
แทนที่จะขัดขืน โอโตทาเกะในชุดสูทสีเทาอ่อน ผูกไทสีชมพู กลับยิ้มละไมให้ลูกศิษย์
โอโตทาเกะเกิดมาพร้อมความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ไม่ค่อยพบบ่อยนักที่เรียกว่า tetra-amelia อาการของความผิดปกตินี้คือ ไม่มีแขนขา
คุณครูคนใหม่มาโรงเรียนพร้อมกับชินิชิ โอโนะ ผู้ช่วยที่คอยช่วยเหลือทุกอย่าง ตั้งแต่เปลี่ยนชุดกีฬาให้ ไปจนถึงขับรถรับส่ง
กระนั้น ความพิการไม่ได้ขัดขวางโอโตทาเกะจากการทำกิจกรรมหลายอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้ เช่น เล่นบาสเก็ตบอลและเบสบอล ภายหลังการฝึกฝนและอดทนเป็นปีๆ
ความมุ่งมาดปรารถนาผลักดันให้โอโตทาเกะประสบความสำเร็จในอาชีพผู้สื่อข่าวกีฬา ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเบนเข็มมาเรียนครูเมื่อสองปีที่แล้ว
โอโตทาเกะจะสอนวิชาสังคมให้เด็กเกรด 6, วิทยาศาสตร์สำหรับเกรด 5 และศีลธรรมสำหรับเกรด 1-6
"มีบางสิ่งที่มีเพียงผมเท่านั้นที่จะสอนเด็กๆ ได้ เช่น การเคารพและการยอมรับ ซึ่งไม่มีอยู่ในตำราเรียนเล่มไหนๆ"
เขาสำทับว่า การมีคนพิการอยู่ในห้องเรียน เหมือนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่ในสภาพนั้นเพราะพ่อแม่ตัดสินใจส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนปกติ จะช่วยสร้างบรรยากาศของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
"การเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ตามธรรมชาติผ่านประสบการณ์การอยู่ร่วมกับนักเรียนพิการ น่าจะดีกว่าการสอนปาวๆ ว่าการเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งไม่ดี"
หลักการชีวิตอื่นๆ ที่โอโตทาเกะตั้งใจถ่ายทอดให้เด็กๆ ยังรวมถึงการกำหนดเป้าหมายและไปให้ถึงโดยใช้ความมุมานะอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
"ถ้ามองสภาพผม คุณคงคิดว่าเป็นไปไม่ได้เด็ดขาดที่ผมจะเลี้ยงและส่งลูกบาส แต่ถ้าเด็กมองผมและคิดว่า 'ว้าว! เขาคงต้องพยายามสาหัสสากรรจ์ถึงทำแบบนั้นได้' พวกเขาจะรู้สึกว่าต้องท้าทายตัวเองในการทำอะไรสักอย่างโดยไม่ยอมแพ้กลางคัน หรือการเห็นโอโนะช่วยผม เด็กๆ อาจรู้สึกว่า การช่วยเหลือคนอื่นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ผมคงมีความสุขมาก"
อดีตนักข่าวที่ผันตัวเองมาเป็นครูหวังว่า จะสามารถกำราบเด็กเฮี้ยว ที่เป็นปัญหาหนักในโรงเรียนญี่ปุ่น และถูกโทษว่าเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายของนักเรียนหลายคน
"ผมหวังว่านักเรียนของผมจะยอมรับกันและกัน และรู้สึกว่าธรรมชาติสร้างให้แต่ละคนเกิดมาแตกต่างกัน"
อย่างไรก็ตาม คุณครูไม่ครบห้ารู้ดีว่าต้องต่อสู้กับความท้าทายใหญ่หลวง ในสายตาของเขา คนพิการในญี่ปุ่นได้รับการยอมรับน้อยกว่าในชาติตะวันตก
โอโตทาเกะมองว่า ญี่ปุ่นเป็นสังคมเอกเทศที่มีปัญหาในการยอมรับคนพิการ เพราะไม่ชินกับการสัมผัสกับคนพิการในชีวิตประจำวัน ซึ่งนี่คือสาเหตุและทางออกของปัญหานี้
"ปกติแล้ว คนส่วนใหญ่จะได้เจอคนพิการในโอกาสพิเศษเท่านั้น จึงมีปฏิกิริยาราวกับอยู่กันคนละโลก แต่ถ้าคุ้นเคยกับการต้องข้องเกี่ยวกับผู้พิการในชีวิตประจำวัน พวกเขาจะไม่มองคนพิการเป็นบุคคลพิเศษอีกต่อไป"
การต่อสู้กับปัญหาการเลือกปฏิบัติเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของโอโตทาเกะ
"ไม่ว่าคุณจะพิการหรือไม่ แต่ถ้าคุณเข้ากับคนอื่นได้ คุณก็จะได้รับการยอมรับจากคนๆ นั้น"
สำหรับตัวเอง เขามีจุดกึ่งกลางระหว่างการใช้สถานการณ์ของตัวเองเพื่อสร้างความแตกต่างในสังคม ควบคู่ไปกับต่อสู้เพื่อให้คนญี่ปุ่นยอมรับผู้พิการ
"ผมผ่านชีวิตมาไกลบนพื้นฐานความคิดง่ายๆ ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผมท้าทายตัวเองให้ทำในสิ่งที่อยากทำ และผมอยากให้สังคมเลิกมองแค่ความพิกลพิการของผม แต่อยากให้ยอมรับความพิการนั้น"
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|