เสียงประชาชนตัวจริง "พุทธ" เป็นศาสนาประจำชาติ?
"พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก" คือข้อความที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
ขณะที่ "ศาสนาพุทธ" ตามความประสงค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องการให้ชาวโลกได้ศึกษาเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
ประเทศไทยได้รับการเผยแผ่ศาสนาจากประเทศอินเดียในสมัยหลังจากพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว โดยศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงส่งทูตไปเผยแผ่ศาสนา โดยแบ่งเป็น 9 สาย
สายที่ 8 เดินทางเข้ามาเผยแผ่ที่ดินแดนสุวรรณภูมิ คือในพม่า-ไทย หรือเอเชียอาคเนย์ โดย "พระโสณะ" และ "พระอุตระ" เป็นสมณทูต
จากนั้น ศาสนาพุทธก็เจริญมาโดยลำดับในดินแดนสุวรรณภูมิ รวมทั้งประเทศไทย คนไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาพุทธ
มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่นับถือศาสนาอื่น เช่น อิสลาม คริสต์
พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหว
ขณะนี้กระแสสังคมกำลังวุ่นวายอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะมาแทนฉบับปี 2540 ที่ถูกคณะนายทหารทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549
โดยประเด็นที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งและพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหว นำโดยองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย ก็คือต้องการให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ คือให้ระบุว่า "ศาสนาพุทธ" เป็นศาสนาประจำชาติไทย
กระทั่งนำไปสู่การเรียกร้องและชุมนุมกันขึ้น ทั้งฆราวาสและพระสงฆ์กลุ่มที่เรียกร้อง ประท้วงด้วยการเดินเท้าจากพุทธมณฑล จ.นครปฐม ไปรวมตัวกัน ที่หน้ารัฐสภา เกือบๆ จะเกิดเป็นการจลาจลกลางเมือง หรือสงครามศาสนา--ทำนองนั้น
แต่เป็นเพราะว่า หลังจากที่ทางกลุ่มได้พูดคุยกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และได้ขอร้องให้ ส.ส.ร.แปรญัตติให้ ซึ่งทาง ส.ส.ร.ได้รับเรื่องไว้พิจารณา ทำให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัวไปในที่สุด
ประกอบกับ ขณะนี้คณะร่างรัฐธรรมนูญได้นำร่างไปให้ 12 องค์กร เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ทำวิจารณ์กันอยู่ จึงทำให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมพักการชุมนุมไว้ก่อน แต่ก็ได้ประกาศต่อสาธารณชน ว่าจะมีการชุมนุมกันอีกครั้งวันที่ 25 พฤษภาคม เป็นต้นไป
และก่อนการชุมนุมในวันดังกล่าว จะมีการแถลงข่าวก่อนในวันนี้ (7 พฤษภาคม) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน แล้วจึงเริ่มเคลื่อนไหวใหม่อีกครั้ง
สำหรับฝ่ายที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ได้อ้างว่าเป็นความต้องการของ "ประชาชน"
ขณะที่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเอาตัวเลขแค่ 50 ล้านคน ไม่ต้องถึง 66 ล้าน คน อาจจะไม่รู้เรื่องกับคำกล่าวอ้างของกลุ่มนี้เลย
แล้ว "ประชาชน" ที่แท้จริง ซึ่งเป็นกลาง ไม่ได้สังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นของ "ประชาชน" ตัวจริง!!
นายจักรพงษ์ เรืองอภิศิริ อายุ 40 ปี เป็นพนักงานบริษัทหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเมื่อถูกถามเรื่องให้ระบุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย ว่าถ้าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการระบุมาก่อน ก็คงไม่จำเป็นจะต้องมีระบุ
"ผมว่าไม่มีความจำเป็นต้องมาระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเหมือนเดิมก็ดีแล้ว การจะให้ระบุว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ระบุนั้น คงมีความหมายเท่ากัน และทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม ไม่มีดีมากขึ้นไม่มีดีน้อยลง คงเหมือนเดิม ส่วนการชุมนุมที่มีพระสงฆ์ออกมานั้น
ผมมองดูว่า มันอาจจะไม่ใช่กิจของสงฆ์ และเวลาที่คนอื่นเขามาเห็นเข้าจะดูไม่ค่อยดี ถ้าพระสงฆ์จะเรียกร้องสิทธิก็ควรจะเป็นการลงรายชื่อมากกว่าการออกมาทำแบบนี้.."
ประชาชนตัวจริงอีกคน นายธงชัย ดวงทิพเนตร เจ้าของร้านขายเครื่องสังฆทาน "รุ่งทิพย์" พูดถึงประเด็นเดียวกันว่า มีการระบุก็คงดี แต่ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าระหว่างมีการระบุกับการไม่ระบุ มันมีความแตกต่างกันอย่างไร
"เพราะทางผู้ที่ออกมาเรียกร้องไม่ได้บอกรายละเอียดอะไร นอกจากว่าจะให้ใส่พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ถ้าให้ตัดสินใจสำหรับผมก็เห็นว่า ควรมีการระบุไว้ก่อนก็แล้วกันเพื่อเป็นการลองดูว่าเมื่อระบุแล้วจะดีหรือไม่"
ส่วนกรณีที่มีพระออกมาเดินชุมนุมด้วยนั้น นายธงชัยกล่าวว่า ไม่เห็นว่า ผิดปกติ เพราะเป็นสิทธิของพระที่สามารถทำได้
ด้าน นายศักดา เตรียมเพชร อาชีพมัคคุเทศก์นำเที่ยว อายุ 54 ปี บอก ถึงเรื่องนี้ ว่าตามความเห็นส่วนตัวแล้วไม่เห็นว่าต้องระบุในรัฐธรรมนูญ เพราะว่ากันตามจริงแล้วคนไทยไม่ค่อยเข้าวัดกันเท่าไหร่ และถึงแม้จะนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็เป็นคนไทยเหมือนกัน อยู่ในแผ่นดินเดียวกัน เรื่องที่สำคัญและควรจะเรียกร้องมากกว่านี้ คือให้อยู่ร่วมกันในแผ่นดินนี้อย่างสันติสุข อย่าทะเลาะหรือทำให้เกิดความแตกแยก น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญในเวลานี้
"ต่างศาสนาแต่ก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด เราต้องให้ความสำคัญกับศาสนาอื่นเขาด้วย ถ้าใส่คำว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติลงไปในรัฐธรรมนูญ แล้วจะยังไงต่อ คนจะเข้าวัดมากขึ้นหรือเปล่า ใส่แล้วจะมีกฎหมายอะไรมาบังคับหรือเปล่า ใส่เข้าไปแล้วมันจะดีขึ้น วัดจะมีคนเข้ามากขึ้นก็คงไม่ใช่.."
นางวรรณา คงสามสี ประชาชนที่มีอาชีพแม่ค้าขายเสื้อผ้าที่ประตูน้ำ อายุ 45 ปี พูดเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ว่า เห็นว่าปกติศาสนาพุทธก็เป็นศาสนาประจำชาติของเราอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการนำเข้าไปใส่ในรัฐธรรมนูญก็คงดี เพราะคงจะทำให้คนเราเข้าวัดกันมากขึ้น
"ดิฉันเองเป็นคนเข้าวัดเป็นประจำอยู่แล้วและบ้านก็อยู่บริเวณวัดด้วย เลยอยากให้คนเข้าวัดไปทำบุญกันเยอะๆ ถ้ามีการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอาจทำให้มีกฎออกมาควบคุมพระสงฆ์มากขึ้นเพราะพระสมัยนี้ไม่ค่อยจะเคร่ง และใช้ผ้าเหลืองบังหน้าอยู่มาก ถ้ามีการนำไปใส่ในรัฐธรรมนูญคงจะทำให้พระสงฆ์เคร่งครัดในวินัยมากขึ้น"
นายวิสุทธิ์ เกิดน้อย เป็นอีกคนที่แสดงความเห็น ปัจจุบันอายุ 41 ปี มีอาชีพเป็นทนายความ กล่าวว่า
คนไทยส่วนใหญ่นั้นนับถือศาสนาพุทธอยู่แล้ว และจะเห็นว่าในโรงเรียนส่วนใหญ่ของไทยก็มีการสวดมนต์ตอนเช้า ตอนเย็นอยู่แล้ว การที่จะให้ระบุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เข้าในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร
"การที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธตามหลักนิยมหรือประชาธิปไตย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ อันนี้จะเป็นตัวหลักให้คนไทยยึดว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"
เรื่องของศาสนานั้นเป็นเรื่องของจิตใจ ตอนนี้คนไทยเข้าวัดกันน้อยเลยต้องระบุในรัฐธรรมนูญให้
"ศาสนาพุทธ" เป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อจะให้คนไทยหันเข้าหาวัดมากขึ้นและมีความรู้ความเข้าใจในศาสนาพุทธกันมากขึ้น กระนั้นหรือ?
เป็นคำถามที่ค้างคาใจหลายๆ คน
พระเทพวิสุทธิกวี รองประธานองค์กรชาวพุทธแห่ง ปทท.
ที่เราออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เราต้องการให้สถาบันทั้ง 3 นั้นเท่ากัน ในเมื่อมีการรับรองสถาบันชาติได้ รับรองสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ก็ต้องรับรองสถาบันของศาสนาได้ เพื่อให้สถาบันศาสนามีความมั่นคง เวลามีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับศาสนา หรือปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระสงฆ์จะได้มีกฎหมายรองรับ
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ในรัฐธรรมนูญมีการกำหนดเอาไว้เเล้ว ว่าให้พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ ซึ่งก็เท่ากับบอกว่า ประเทศไทยมีการโน้มเอียงไปในศาสนาพุทธอยู่แล้ว เมื่อประมุขของชาติเป็นพุทธมามกะ มันก็ชัดอยู่แล้วไม่จำเป็นที่จะต้องพูดออกมา
การที่มีการเรียกร้องเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วยังไงต่อไปมันยังดูคลุมเครือและไม่มีคำตอบจากตัวมันเองแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง เช่น คนที่ทำผิดศีล 5 จะมีความผิดทางอาญาหรือไม่ หรือเราจะจัดประเทศของเราให้มีลักษณะสอดคล้องกับพุทธศาสนาหรือไม่ เช่น รัฐจะมีสัมปทานเหล้าไม่ได้ ขายสลากกินแบ่งไม่ได้
เพราะฉะนั้น การที่จะนำพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เข้าไปในรัฐธรรมนูญนั้นจะมีผลอย่างไร ให้แจกแจงรายละเอียด ซึ่งหลายอย่างหากพูดมาให้หมดแล้วคนคงจะไม่เอา รัฐบาลและชาวบ้านคงจะรับไม่ได้แน่
ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะนำเข้าไปในรัฐธรรมนูญ
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "มติชน"
|