หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

สวยแปลกหนึ่งเดียวในไทยที่ “วัดบางกะพ้อม” เมืองแม่กลอง


รูปเคารพหลวงพ่อคง



“สิ้นแสงดาวดุเหว่าเร่าร้อง จากสุมทุมลุ่มน้ำแม่กลอง พี่จำจากน้องคนงาม
แว่วหวูดรถไฟพี่แสนอาลัยสมุทรสงคราม คงละเมอเพ้อพร่ำคิดถึงคนงามที่อยู่แม่กลอง...”

ลาสาวแม่กลอง : พนม นพพร

ทุกครั้งที่ผมได้ยินเสียงเพลง “ลาสาวแม่กลอง” คราใด จิตใจที่อินกับบทเพลงมันออกจะหดหู่ต่อการจากลาของหนุ่มทหารเรือกับสาวงามคนรักแห่งเมืองแม่กลองไม่ได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันช่างเป็นอารมณ์ที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงกับเวลาที่ผมไปเที่ยวเมืองแม่กลองเหลือเกิน

เพราะเมืองแม่กลองหรือจังหวัดสมุทรสงครามนั้นแม้ว่าจะเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่ก็เป็นเมืองที่อบอวลไปด้วยทรัพยากรท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยังไม่ถูกกลืนกินไปกับโลกยุคโลกาภิวัตน์


2 นายทหารทวารบาล



สำหรับการมาเยือนเมืองแม่กลองหนนี้แม้ไม่ใช่หนแรก แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสแวะเวียนเข้าไปเที่ยวที่ “วัดบางกะพ้อม” แห่ง ต.อัมพวา อ.อัมพวา ที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าวัดแห่งนี้จะมีของดีที่น่าสนใจในระดับชาติที่ทางวัดระบุว่ามี “หนึ่งเดียวในเมืองไทย” แอบแฝงซ่อนตัวอยู่ในวิหารหลังเก่าแก่ของวัดอย่างเงียบๆ มาช้านานแล้ว

เล่าขานตำนานวัด

พูดถึงวัดในเมืองไทยส่วนใหญ่ชื่อของวัดมักจะเกี่ยวพันกับตำนานการสร้างวัดอยู่ไม่มากก็น้อย สำหรับวัดบางกะพ้อมก็เช่นกัน

วัดบางกะพ้อมเป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยไม่ปรากฏนามผู้สร้าง แต่กลับปรากฏตำนานเล่าขานที่มาของชื่อวัดว่า

สามีภรรยาคู่หนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ และมีอาชีพด้วยการสานกระพ้อมใส่ข้าวเปลือกขาย วันหนึ่งกองทหารพม่าได้ยกพลมาปล้นบ้านเรือนราษฎรในเมืองแม่กลองและกำลังสู้รบกันอยู่ที่ค่ายบางกุ้งที่อยู่ไม่ไกลกัน สามีภรรยาคู่นี้ด้วยความจวนตัวและไม่รู้ว่าจะหนีไปไหนจึงได้เข้าไปหลบอยู่ในกะพ้อมที่ตัวเองสาน พร้อมอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายว่า ถ้ารอดชีวิตออกไปจะจัดการสร้างวัดและวิหารขึ้นในบริเวณนี้

และก็เป็นจริงดังนั้นเมื่อผ่านทั้งคู่ไปโดยมิได้พบเห็น เมื่อทั้งคู่ปลอดภัยและทรัพย์สินก็ไม่เสียหายจึงได้ทำตามสัญญาด้วยการบริจาคที่บ้านและดินบ้านเรือนสร้างวัดขึ้น ณ บริเวณนั้น โดยชาวบ้านต่างเรียกขานกันว่า “วัดบังกะพ้อม” หรือไม่ก็ “วัดบังกับพ้อม” ก่อนที่จะเพี้ยนมาเป็น “วัดบางกะพ้อม” ในปัจจุบัน


รอยพระพุทธบาท 4 รอย



หนึ่งเดียวในเมืองไทย

วัดบางกะพ้อมแม้ไม่ใช่วัดใหญ่โต แต่วัดนี้ก็มี “หลวงพ่อคง” อดีตเจ้าอาวาสผู้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดเป็นเกจิชื่อดัง ที่พอไปถึงผมก็เข้าไปสักการะปิดทองรูปหล่อเหมือนจริงของหลวงพ่อคงเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อน ว่ากันว่าเหรียญหลวงพ่อคงนี้มีพุทธคุณทางด้านอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะหลวงพ่อคงรุ่นหนึ่งที่ราคาเช่าสูงถึง 4-5 แสนบาททีเดียว

แต่ในวันนั้นวัตถุมงคลที่สะดุดตาผมมากที่สุดกับไม่ใช่เหรียญหลวงพ่อคง หากแต่เป็นวัตถุมงคลทรงกลมแบบจตุคามรามเทพที่ทางวัดเปิดให้ผู้สนใจเช่าจอง ซึ่งต้องยอมรับว่ายุคนี้กระแสจตุคามรามเทพนั้นแรงสุดๆแบบฉุดไม่อยู่ ไม่ว่าวัดไหนหรือสำนักไหนหากจะทำวัตถุมงคลให้เช่าบูชา ต่างก็เลือกที่จะทำออกมาในรูปแบบของจตุคามรามเทพกันทั้งนั้น


จิตรกรรมฝาผนังปูนปั้นนูน



หลังสักการะปิดทององค์หลวงพ่อคงเอาฤกษ์เอาชัยแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาเดินเข้าไปดูของดีที่แอบซ่อนอยู่ในวิหารวัดบางกะพ้อมกันเสียที

วิหารหลังนี้สร้างขึ้นมาพร้อมๆกับการสร้างวัดโดย 2 สามีภรรยาผู้สร้างวัดนั่นเอง แต่ว่ายุคนั้นยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย กระทั่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มีเชื้อพระวงศ์ท่านหนึ่งในราชวงศ์จักรีได้ออกผนวชและได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม ท่านจึงได้สร้างวิหารต่อให้เสร็จสมบูรณ์ รูปแบบที่ออกมาจึงได้รับอิทธิพลของงานศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 2 มาไม่น้อย นั่นก็คือ เป็นวิหารออกแนวสถาปัตยกรรมจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าปั้นเป็นลายปูนปั้นแบบจีน มีทางเข้าเป็นช่องกลมพร้อมด้วยทวารบาลทหารปูนปั้น 2 นาย ซ้าย-ขวา ยืนเฝ้าปากประตูอยู่


ภาพแสดงรอยพระพุทธบาทตามที่ต่างๆ



เมื่อโค้งกายคารวะลอดช่องประตูเดินเข้าสู่ภายในวิหาร สิ่งที่ผมพบเบื้องหน้าก็คือรอยพระพุทธบาท 4 รอย ขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ โดยรอยพระพุทธบาทที่เล็กและลึกที่สุดนั้นเป็นไม้ประดับมุกที่มีลวดลายสวยงามนัก ส่วนที่ถือเป็นดังของดีซุกซ่อนอยู่ตามผนังของวิหารก็คือ“ภาพจิตกรรมฝาผนังปูนปั้นนูน” ที่ทางวัดระบุว่ามีที่เดียวในเมืองไทยนั่นเอง

แว่บแรกที่ผมเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ บอกได้คำเดียวว่าสะดุดตาและชอบแบบไม่มีเหตุผลขึ้นมาในทันที เพราะเพิ่งเคยเจอจิตรกรรมฝาผนังแบบนี้ครั้งแรกเหมือนกัน ว่ากันกันผู้มีส่วนสำคัญในการทำจิตกรรมแบบนี้ก็คือ ท่านเจ้าอาวาสเชื้อพระวงศ์ที่ทำการสร้างวิหารวัดบางกะพ้อมให้เสร็จเรียบร้อยนั่นเอง

ภาพจิตกรรมฝาผนังปูนปั้นที่นี่ แบ่งเป็นเรื่องราว 4 ตอนจาก 4 ด้านฝาผนัง ด้านแรก (เดินเข้าไปอยู่ซ้ายมือ) กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทตามที่ต่างๆ 5 แห่ง คือที่ สุวัณณมาลิก, ภูเขาสุวรรณบรรพต, ภูเขาสุมนกูฏ, เมืองโยนก และที่แม่น้ำนัมมทานที

รอยพระพุทธบาทแต่ละแห่งต่างก็มีองค์ประกอบแวดล้อมไปทั้ง แม่น้ำ ทะเล ภูเขา ต้นไม้ หรือที่มณฑปพระพุทธบาทอันสวยงามวิจิตร ณ ภูเขาสุวรรณบรรพตซึ่งทางวัดระบุว่าคือที่รอยพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีนั่นเอง


ภาพรอยพระพุทธบาทในมณฑปกับทิวทัศน์ประกอบ



ส่วนด้านถัดมาเป็นภาพพระพุทธประวัติ วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน แล้วต่อเนื่องด้วยด้านที่ 3 กับ ภาพพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานได้ 7 วันแล้วแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการยื่นพระบาททั้ง 2 ข้างออกมาจากหีบพระบรมศพ เพื่อให้บรรดาพระสาวกได้ถวายสักการะก่อนที่หีบพระบรมศพจะลุกไหม้เป็นไฟ ภาพที่ 3 นี้ถือเป็นปางหนึ่งของพระพุทธรูปชื่อ“ปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน” ที่ในเมืองไทยผมเคยเห็นพระพุทธรูปปางนี้ที่“วิหารแกลบ” ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ“วัดใหญ่”เมืองพิษณุโลก อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชอันลือลั่นนั่นเอง

2 ภาพนี้หากใครมองให้ลึกๆแล้วจะเห็นว่าแม้แต่พระพุทธเจ้ายังมีวันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน แล้วปุถุชนคนทั่วไปอย่างเราๆท่านๆจะยึดติดกับตัวกูของกูไปไย ส่วนภาพสุดท้ายบนผนังด้านที่ 4 เป็นภาพพุทธประวัติรวมๆ คือ ภาพตอนตรัสรู้และภาพตอนได้อัครสาวกซ้ายขวา


จิตรกรรมฝาผนังปูนปั้นนูนภาพพระพุทธเจ้าปรินิพพานในวิหารวัดบางกะพ้อม



สำหรับภาพจิตกรรมฝาผนังปูนปั้นที่นี่มีทั้งเป็นภาพนูนสูง นูนต่ำ และภาพเขียนสีแซมในบางส่วน ฝีมืองานศิลปะพื้นบ้านที่แม้จะไม่ดูอ่อนช้อยพลิ้วไหวถึงขนาดปูนปั้นเต้นได้อย่างงานปูนปั้นเมืองเพชร แต่งานฝีมือที่นี่ก็ดูเรียบง่ายซื่อตรงและแฝงไว้ด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจและรายละเอียดต่างๆที่แอบซุกซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่ออกแนวจีนนิดๆ หรือต้นไม้ที่มีต้นทุเรียนขึ้นอยู่ในรูปด้วย หรือลักษณะท่าทางของเทพเทวดานางฟ้า ภูเขา ทะเล ฯลฯ

และนี่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งของดีในระดับชาติแห่งเมืองแม่กลองที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลังกลับออกมาจากวัดผมก็ได้แต่บ่นเสียดายกลับตัวเองว่า...เที่ยวเมืองแม่กลองมาก็ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ทำไมกลับเลยผ่านวัดนี้ไปได้อย่างไร...

********************

วัดบางกะพ้อม ตั้งอยู่ที่ ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โทร.0-3475-1334

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" งานเขียนโดย ปิ่น บุตรี


ไปข้างบน