ธรรมะยุคใหม่ ขายดังสนั่นแผง
หนังสือธรรมะ
กระแสศรัทธา สามารถมองผ่านความนิยมของตลาดผู้อ่านหนังสือธรรมะได้เป็นอย่างดี ดูเหมือนว่าอันดับหนังสือขายดีวันนี้ ต้องมีหนังสือประเภทนี้ติดชาร์ต ผู้ผลิตหนังสือหลายแห่งเรียกว่า “ยุคทองของกระแสธรรมะ” และกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของการผลิตหนังสือประเภทนี้ ที่เน้นตอบโจทย์ผู้อ่านว่า “ไม่ต้องปีนบันไดอ่าน” อีกต่อไปแล้ว
จุดเปลี่ยนแปลง
“เกือบสองปีแล้วที่ตลาดหนังสือธรรมะเติบโตอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยของสถานการณ์บ้านเมือง และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้คนจำนวนมากหาที่พึ่ง และต้องการกำลังใจในการดำเนินชีวิต หนังสือธรรมะจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของคนไทยในวันนี้” วิไลลักษณ์ ฐิติพลธำรง ผู้จัดการฝ่าย การตลาดและประชาสัมพันธ์หนังสือเล่ม บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง อธิบายปัจจัยที่ก่อให้เกิดความนิยม
วิไลลักษณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา หนังสือหรือพ็อกเกตบุ๊กประเภทธรรมะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนออย่างมาก เพื่อรองรับกลุ่มผู้อ่านให้เข้าถึงได้เร็วขึ้น ตั้งแต่รูปเล่ม ดีไซน์สะดุดตา ซึ่งไม่ใช่รูปพระพุทธรูปวางไว้หน้าเล่ม แต่มีการใช้สัญลักษณ์อื่นๆ มาสื่อถึง และรูปแบบการจัดหน้าภายในเล่ม เน้นให้อ่านง่ายขึ้น สบายตาขึ้น
ขณะเดียวกัน เนื้อหาที่หยิบยกนำมาเสนอจะเป็นคอนเทนต์แบบใหม่ที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนไม่มีภาษาบาลี สันสกฤตอยู่ในเนื้อหามากนัก เนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นภาษาง่ายๆ ผู้อ่านย่อยง่าย และมีเนื้อหาที่ให้กำลังใจแก่ผู้อ่านเป็นหลักสำคัญ
กระแสความนิยมของตลาดผู้อ่านธรรมะสูงมาก หากวัดยอดขายช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 2550 กับช่วงเดียวกันในปีที่แล้วของค่ายอมรินทร์ พบว่า เติบโตขึ้นถึง 123% ขณะนี้เป็น 1 ใน 5 หมวดหนังสือสำคัญของอมรินทร์ในการบุกตลาดหนังสือ
“ตลาดหนังสือธรรมะ น่าจะเป็นตลาดที่เติบโตมากขึ้น มีมูลค่าน่าจะเกิน 100 ล้านบาทแล้ว เชื่อว่าน่าจะอยู่กระแสไปอีกหลายปี เพราะเป็นคอนเทนต์ที่ไม่มีวันตกกระแส อ่านได้เรื่อยๆ”
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย
ธรรมะไม่ตกกระแส
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักพิมพ์ DMG บอกกับ POSITIONING ว่า คนในสังคมให้ความสนใจธรรมะมากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะสภาพเศรษฐกิจ การทำมาหากินยากลำบากขึ้น คนแสวงหาแก่นแท้ของชีวิต พยายามที่จะเข้าใจและเรียนรู้ DMG เองก็ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องของพ็อกเกตบุ๊กเกี่ยวกับ “วัดกับวัง” โดยมีฐานลูกค้ามาจากกลุ่มที่นิยมหนังสือ How to และธุรกิจของเรา และเมื่อมาจับตลาดหนังสือธรรมะ ออกพ็อกเกตบุ๊กอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักเขียนเด่นๆ ที่ได้รับการตอบรับดีอย่าง ดังตฤน เลยติดลมบน”
จากกระแสนิยมดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนของหนังสือธรรมะของ DMG อยู่ที่ 60% ขณะที่หนังสือแนวการจัดการอยู่ที่ 40% ทั้งนี้ยอดขายหนังสือธรรมะของ DMG มีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 50%
เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน และชุดหนังสือเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว ผลงานของดังตฤณ เป็น 2 เล่มที่ทำรายได้งามให้กับ DMG เล่มแรกพิมพ์ครั้งที่ 45 แล้ว ขณะที่เล่มหลังมียอดพิมพ์แล้วเกือบ 1 ล้านเล่ม เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ยากแม้แต่กับหนังสือแนวยอดนิยมอย่างนวนิยาย เรื่องสั้นแนวรัก แฟนตาซี หรือเรื่องแฉๆ ก็ตาม
แต่กระนั้น ลำพังเนื้อหาอย่างเดียวไม่สามารถขายได้ถล่มทลายเช่นนี้ หนังสือธรรมะก็เหมือนโปรดักส์อื่นที่ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนทางการตลาดไม่น้อย ทั้งการออกแบบปกต้องสวยงาม ดูน่ารัก รูปเล่ม นักเขียนต้องรู้กลวิธีในการถ่ายทอด เนื้อหาไม่ซีเรียส เป็นความแตกต่างจากมาตรฐานเดิมๆ เราจึงเห็นหน้าปกธรรมะสีสันสดใส นักเขียนยุคใหม่อย่างดังตฤณ ที่มีผลงานพิมพ์ธรรมะแนวสบายๆ กับ DMG เกือบ 10 เรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่ขายดี
หลังได้โปรดักส์ที่คาดว่ากลุ่มเป้าหมายจะตอบรับ เขาก็ใส่แรงดันการตลาดเข้าไป “พยายามทำให้เกิด Discussion จึงทำ Buzz Word ในทุกๆ ที่ ทั้งเว็บไซต์ ชุมชนคนธรรมะต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการพูดคุยวิพากษ์และปากต่อปาก พร้อมกับมีกิจกรรมเสวนาธรรมเป็นระยะ ทำให้เกิดความนิยมกัน และแพร่หลายในที่สุด”
หนังสือธรรมะ
“เราทำให้หนังสือธรรมะมีมูลค่า ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะแจกฟรี คนรับก็ไม่รู้อ่านหรือเปล่า แต่อยากได้ไว้ก่อน พอเราสร้าง Category ของหนังสือธรรมะ ทำให้เราได้กลุ่มคนที่ไม่เคยสนใจธรรมะ กลุ่มวัยรุ่นเยอะเหมือนกัน”
ในส่วนของดังตฤณเองก็เช่นกัน เขาสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเผยแพร่งานเขียนของเขาโดยใช้มัลติมีเดีย ผ่านทาง http://duntrin.com มีเสียงอ่านงานเขียนของเขาในรูปแบบ MP3 หรือ WMA ที่มีขนาดเล็กเพื่อให้เหมาะกับการดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ต และสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ดนัยให้ความเห็นว่า ระดับความนิยมในหนังสือธรรมะปรากฏชัดเจนในงานหนังสือระดับชาติ 2 งาน เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา “สำนักพิมพ์หลายแห่งที่ไม่เคยออกหนังสือแนวนี้เลยก็หันมาโปรโมตและจัดพื้นที่โชว์แบบเด่นชัด ตอนนั้นคนอาจเป็นกระแสที่มาแล้วก็ไป แต่มาถึงตอนนี้ผมมองว่า หนังสือธรรมะไม่ตกกระแส ขายแล้วขายอีกได้”
“งานหนังสือปีที่แล้ว ผมเชิญดังตฤณไปแจกลายเซ็น ตอนแรกบอกเขาแค่ชั่วโมงเดียว แต่เอาเข้าจริงๆ เขาต้องเซ็นตั้งแต่บ่ายโมงถึงสามทุ่ม ไม่ได้ลุกไปไหนเลย แม้แต่เข้าห้องน้ำ จากดังตฤณเลยกลายเป็นดังตูมไปเลย (หัวเราะ)”
ตลาดฟีเวอร์
สำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ไม่เคยจัดพิมพ์หนังสือธรรมะมาก่อน หรืออดีตให้ความสำคัญในสัดส่วนที่น้อย ต่างก็ร่วมกระแสธรรมที่รุ่งโรจน์นี้ด้วย เช่น สำนักพิมพ์ใยไหมที่ครองพื้นที่พ็อกเกตบุ๊กวัยใส มีเรื่อง จะยากอะไรถ้าอยากให้ใจมีสุข และ เกิดมาทั้งที ตายฟรีได้ไง เขียนโดย ชุติปัญโญ
ด้านสำนักพิมพ์มติชน มีจุดขายหนังสือแนวนี้กับผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุเช่นเดียวกัน อาทิ ต่อนี้ไปเราจะทำจริงแน่วแน่จริงทุกๆ อย่าง และพุทธทาสลิขิตคำกลอน ส่วนสำนักพิมพ์คอมม่า มาในแนวเครื่องรางของขลัง เช่น ปี่เซียะ สัตว์เทพสวรรค์ บันดาลโชค และเครื่องรางมหาเศรษฐีบูชาแล้วรวย เขียนโดย ทศพล จังพานิชย์กุล
ในส่วนของร้านบีทูเอส เด่นชัดมากในเรื่องของการจัดชั้นวางหนังสือ พ็อกเกตบุ๊กแนวธรรมะและเครื่องรางของขลัง ถูกจัดอยู่ในพื้นที่เดียวกันและติดป้าย Best Seller เร้าความสนใจนักอ่าน และมีตู้โชว์หนังสือธรรมะและวัตถุมงคลโดยเฉพาะตั้งอยู่อย่างโดดเด่น
ฟากร้านซีเอ็ดบุ๊คเซนเตอร์ หนังสือเกี่ยวกับจตุคามรามเทพติดอันดับ TOP 5 หนังสือขายดีของร้านถึง 3 เล่ม โดยเล่มที่ขายดีที่สุดในรอบระหว่างวันที่ 19 - 25 มี.ค. 2550 ที่ผ่านมา คือ องค์พ่อจตุคามรามเทพ มึงมีกูไว้ไม่จน + ผ้ายันต์
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “เครื่องมือ” หรือ “วิถีทาง” สู่ธรรม ต้องได้รับการปรุงแต่งให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เพิกเฉยและไม่ยี่หระต่อหนังสือธรรมะแจกฟรี ทั้งๆ ที่เนื้อในนั้นทรงคุณค่าทางจิตใจและปัญญามหาศาล
ชื่อร้านหนังสือ จำนวนหนังสือแนวศาสนาที่วางจำหน่ายโดยประมาณ (เรื่อง)
ร้านนายอินทร์ 340
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ 140
ร้านหนังสือดอกหญ้า 70
|