"จตุคามฯ" มุมสมานฉันท์
วัตถุมงคล จตุคามรามเทพ
มีการถกกันอีกครั้งเรื่อง "จตุคาม-รามเทพ"
ในด้านของฝ่ายให้ความเชื่อถือศรัทธา บอกเล่าเรื่องปาฏิหาริย์ที่เคยพบเห็น เรื่องการถ่ายภาพบุคคลที่คล้อง "จตุคาม-รามเทพ" ไว้บนคอ ในภาพปรากฏดวงกลมอยู่เหนือศีรษะ เมื่อนำขยายภาพออกดูพบว่าลดลายเหมือน หรือคล้ายรูป "จตุคาม-รามเทพ"อยู่ในวงกลมนั้น และเมื่อเป็นรูปถ่ายที่ยังอยู่ในกล้องดิจิตอลย่อมก่อความเชื่อถือว่าไม่มีการตกแต่งหลอกลวง จากนั้นเป็นเรื่องเล่าของการถูกหวย ถูกลอตเตอรี่ หรือได้รับโชคลาภอื่นๆ ตามที่บนบานศาลกล่าวต่อองค์จตุคาม-รามเทพ
แน่นอนว่าตอกย้ำความเชื่อถือศรัทธาให้มั่นคงจนยากจะเปลี่ยนแปลง
ฝ่ายที่ไม่ให้ความเชื่อถือ ดูเหมือนไม่มีคำอธิบายใหม่ นอกจากยกปรากฏการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เรื่องแสงสะท้อนมาอธิบายรูปภาพ และให้เหตุผลว่าเมื่อมีคนจำนวนมากบนบานศาลกล่าว ย่อมต้องมีคนที่ได้รับผล เหมือนเช่นคนที่ซื้อลอตเตอรี่มีมากมาย ย่อมต้องมีคนถูกรางวัล ไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดาร เพราะในความเป็นจริงแม้แต่ในจำนวนคนบนบานศาลกล่าวเหมือนกัน ย่อมมีคนไม่ถูกมากกว่าคนถูก คนที่ถูกรางวัลที่แท้มีเพียงน้อยนิดหากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์สัดส่วน
ความขัดแย้งทางความคิดเกิดขึ้นแล้ว หากปล่อยให้เกิดการแสดงความคิดเห็นตามความเชื่อของตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย ที่สุดความขัดแย้งจะก่อเป็นความแตกแยก เป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง การแตกแยกนี้ถูกผลักดันด้วยปัจจัยอื่น ยกตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งเช่าจตุคาม-รามเทพมาด้วยราคาเป็นล้าน เป็นแสน หรือเป็นหมื่น ซึ่งแสดงว่ามีศรัทธาอย่างลึกซึ้ง แต่มีคนมาแสดงท่าเหมือนหมิ่นแคลนซึ่งที่ตัวเองเชื่อถือศรัทธา ย่อมกระทบต่อการควบคุมอารมณ์ โกรธขึ้นมาเมื่อไรย่อมเสี่ยงต่อการใช้กำลังเข้าตอบโต้ นั่นหมายถึงเรื่องราวจะบานปลายออกไป
อีกตัวอย่างหนึ่ง คนคนหนึ่งกำลังจะให้เช่าจตุคาม-รามเทพให้แก่อีกบุคคลหนึ่งได้แล้วในราคาดี แต่มีอีกคนหนึ่งยกเอาคานเข้ามาสอด แสดงถึงความไม่เชื่อถือออกมาให้แก่ผู้ต้องการเช่าเกิดความลังเล ย่อมเป็นการขัดผลประโยชน์ของฝ่ายที่ต้องการให้เช่า ปัจจัยแทรกซ้อนเช่นนี้อาจจะทำให้ฆ่ากันตายได้
ความเห็นทั้งสองฝากนี้ หากจะยุติไม่ให้ความขัดแย้ง บานปลายเป็นความแตกแยก ขยายวงออกไปเป็นการปะทะหักล้าง
วัตถุมงคล จตุคามรามเทพ
ย่อมต้องเจริญสติ และใช้ปัญญา เป็นปัญญาที่ต้องเหนือกว่าฝ่ายที่เชื่อ และไม่เชื่อ เป็นปัญญาที่ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ ซึ่งที่สุดแล้วสรุปรวมอยู่ที่ "มันเป็นเช่นนั้นเอง"
การเคารพในรูป ไม่ว่าจะเป็น "พระพุทธรูป" หรือ "เทพต่างๆ" ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น
ในสังคมมนุษย์ แม้จะเป็นพุทธศาสนิกชน นอกจากจะให้ความเคารพศรัทธาต่อ "พระพุทธรูป" หรือ "รูปเหมือนเกจิอาจารย์" ต่างๆ แล้วยังให้ความเคารพต่อ "รูปของเทพเจ้าต่างๆ มากมาย" ไม่ว่าจะเป็น "พระพิฆเณศ-พระพรหม-พระศิวะ หรืออื่นๆ" ยังมี "ฮก ลก ซิ่ว" มี "เทพเจ้ากวนอู-เจ้าแม่กวนอิม" อีกสารพัด เลยไปถึงเทพเจ้ากรีก อย่าง "กามเทพ" และอีกนับไม่ถ้วน
มนุษย์ก็เป็นเช่นนี้เอง มีการสะสมภูมิปัญญาที่ต่างกัน ประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มองเห็นในสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน
วัตถุมงคล จตุคามรามเทพ
ศรัทธาที่ต่างกัน หาใช่สิ่งที่วัดความดีความเลวของใครสูงต่ำกว่ากันไม่ เพราะแท้จริงแล้วความดีความเลววัดกันที่พฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่น และตัวเองเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหนต่างหาก
การตีความฝ่ายหนึ่งโง่ ฝ่ายหนึ่งฉลาด เป็นเพียงการเย้ยหยันให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจต่อกันและกัน หาใช่ความดีงามที่จะประคับประคองสังคมให้สงบสุขไม่
เรานับถือ ศรัทธา ต่อเทพเจ้าของชนชาติต่างๆ มามากมาย
หรือกระทั่ง "นางกวัก" เราก็ให้ความเชื่อถือศรัทธาตลอดมา
"จตุคาม-รามเทพ"ถือเป็นเทพเจ้าไทย ซึ่งขณะนี้ขยายความเชื่อถือศรัทธาไปยังเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน
เรานับถือเทพเจ้าของชนชาติอื่นๆ มาอย่างยาวนานได้ ทำไมจะเชื่อถือศรัทธา องค์จตุคาม-รามเทพ ที่เป็นมีตำนานว่าเป็นเทพเจ้าของเราเองไม่ได้
การมองอย่างสมานฉันท์เช่นนี้กลับเป็นการอยู่รวมกันอย่างอบอุ่นมากกว่า
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "มติชน" งานเขียนโดย ครรลอง โลกาภิรมย์
|